2พ.ย.นี้องค์กรชาวนานัดถกมาตรการรัฐ-โรงสีจี้รัฐหาตลาดรองรับข้าวพร้อมมาตรการจำนำยุ้งฉาง

นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า พอใจระดับหนึ่งกับมาตรการจำนำยุ้งฉางที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมา ที่ได้ขยับราคากลางในการจำนำขึ้นมาเป็นตันละ 11,000 บาทต่อตัน ทำให้ ธกส.จะรับจำนำอยู่ที่ราคาตันละ 9,500 บาท ซึ่งดีกว่าราคาจำนำมติ นบข. ที่ตันละ 8,730 บาท อย่างไรก็ตามช่วงเช้าในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ตัวแทนกลุ่มชาวนา 3-4 องค์กร เช่น สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาพันธ์สมาคมชาวนาไทย และเครือข่ายชาวนาไทย เป็นต้น จะประชุมหารือร่วมกัน ที่กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ข้าว ปัญหาที่ชาวนาเผชิญและข้อเสนอแนะรวมถึงพูดคุยถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ภาครัฐได้ประกาศออกมา

นายพิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปโรงสีข้าว บริษัท ธรรมธุรกิจ ข้าวเหนียวสันป่าตอง จำกัด กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติให้กำหนดราคากลางข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 11,000 บาท และราคาจำนำอยู่ที่ 90% ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำอยู่ที่ราคาตันละ 9,500 บาท มีค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท และค่าขึ้นยุ้งฉาง และค่ารักษาอีก 1,500 บาท รวมทั้งสิ้นเกษตรกรรับเงินทั้งหมด 13,000 บาท จากเดิมมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 จะรับรับจำนำอยู่ที่ราคาตันละ 8,730 บาท มีค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 1,295 บาท ว่า เป็นมาตรการระยะสั้นที่รัฐต้องดำเนินการ หากไม่ทำอาจจะมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของชาวนาได้ อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ต่างกับโครงการรับจำนำข้าวเพียงแค่การใช้ราคาตลาดในการรับจำนำ และราคาจำนำอยู่ที่ 90% ส่วนรับจำนำข้าวใช้ราคาสูงกว่าตลาด และรับซื้อทุกเมล็ด หาก ธ.ก.ส.ดำเนินการโครงการจำนำยุ้งฉางในราคานี้ และหากในอนาคตราคาข้าวไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคานี้ เชื่อว่าอาจจะไม่มีคนมาไถ่ถอนข้าวคืน ธ.ก.ส.ก็ต้องหาทางระบายข้าวสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็ขายในราคาขาดทุนและข้าวที่ระบายก็วนอยู่ในประเทศ ซึ่งรัฐก็ไม่ได้หาคำสั่งซื้อหรือตลาดต่างประเทศรองรับไว้ ดังนั้นนอกจากออกมาตรการระยะสั้นช่วยชาวนา สิ่งที่ภาครัฐควรทำควบคู่กัน คือ หาตลาดต่างประเทศรองรับผลิตด้วย ไม่ใช่เพียงมาตรการเก็บข้าวเข้าสต็อก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image