ค่าตอบแทน สำหรับงานที่รับไปทำที่บ้าน : คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

บทความวันนี้มาจากงานวิจัยที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะ ผู้เขียนจึงขอแรงท่านให้ช่วยกันเขียนสั้นๆ เพื่อเผยแพร่ต่อ

ผู้รับงานไปทำที่บ้านอาจได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้รับงานด้วยตนเอง, ผู้ช่วยผู้รับงาน และผู้รับช่วงงานหรือรับเหมาช่วงการผลิต (Sub-contractors) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2550 พบว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนที่รับงานไปทำที่บ้าน 2.5 แสนครัวเรือน (จากจำนวนครัวเรือน 18.2 ล้านในปีนั้น) มีแรงงานที่มีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านประมาณ 4 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นหญิง (ร้อยละ 77) และส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86) เป็นผู้รับงานด้วยตนเองและเป็นผู้รับช่วงงานไม่ถึงร้อยละ 1

งานที่รับไปทำที่บ้านเป็นงานนอกระบบซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็วเพราะจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ไม่ต้องมีโรงงานหรือเวลาปฏิบัติงานแน่นอน นายจ้างผลักภาระต้นทุนและความเสี่ยงในการผลิตไปให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเก็บสินค้าคงคลัง งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงและมีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน และยังตอบสนองเงื่อนไขทางสังคม เช่น การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ได้ด้วย แต่ขาดการคุ้มครอง ขาดอำนาจต่อรอง

ปัญหาที่สำคัญของการจ้างงานระบบนี้คือ ประการแรก ค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำ ในปี 2550 รายได้เฉลี่ยต่อปีของผู้รับงานไปทำที่บ้านอยู่ที่ 40,555 บาท (ขณะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 191 บาท) กล่าวได้ว่าแรงงานรับงานไปทำที่บ้านเป็นแรงงานที่ถูกขูดรีดมากกลุ่มหนึ่ง ประการต่อมา การทำงานที่บ้านทำให้แรงงานมีโอกาสจำกัดในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการคุ้มครองเกี่ยวกับอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน

Advertisement

ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แม้จะมีกฎหมายระบุแนวทางกำหนดค่าตอบแทนสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ แต่ก็มีปัญหาในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

ในปี 2539 องค์การแรงงานระหว่างประเทศประกาศใช้อนุสัญญา ฉบับที่ 177 ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน และข้อแนะฉบับที่ 184 ว่าด้วยการคุ้มครองขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประเทศที่ให้สัตยาบันมีเพียง 10 ประเทศ จากสมาชิก 176 ประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

ประเทศไทยตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 เพื่อคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านค่าตอบแทน โดยระบุว่าผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายและไม่เลือกปฏิบัติ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีการปรับเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนจากค่าตอบแทนรายวันมาเป็นค่าตอบแทนรายชิ้นโดยอ้างอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

Advertisement

ข้อมูลและแนวคิด

ในปี 2558 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษาการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการกำหนดค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 โดยได้สำรวจสถานการณ์รับงานไปทำที่บ้าน 26 ลักษณะงาน ใน อุตสาหกรรม 7 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สิ่งทอ แปรรูปไม้และเครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์กระดาษและดอกไม้ประดิษฐ์ อโลหะ โลหะ และอุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ด โดยใช้ตัวอย่างผู้รับงาน 3,105 คน และผู้จ้างงาน 226 คน ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด

การศึกษาพบว่าระบบเหมาช่วงการผลิตได้แพร่กระจายเข้าไปในการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่ำ และมีทั้งการผลิตทั้งกระบวนการและการผลิตบางขั้นตอนซึ่งมีมูลค่าสินค้าต่อหน่วยต่ำ ผู้จ้างงานที่พบในการศึกษาครั้งนี้มีทั้งอุตสาหกรรมการผลิตในระบบ สถานประกอบการส่วนบุคคลซึ่งดำเนินการในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป (OTOP) ผู้จ้างงานระบุว่าเหตุผลสำคัญของการส่งงานให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านคือมีเครือข่ายการผลิตในพื้นที่และเพื่อลดต้นทุนการผลิต

การศึกษาพบว่าผู้รับงานเกือบร้อยละ 70 มีการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา ร้อยละ 50 มีอายุในช่วง 40-59 ปี ร้อยละ 80 มีรายได้เสริมจากการรับจ้างทั่วไปและการทำเกษตรกรรม ผู้รับงานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65 ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใดๆ ในประเด็นค่าตอบแทนพบว่ามีงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 10 งาน จาก 26 งาน งานเหล่านี้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความชำนาญสูง เช่น งานเย็บเสื้อสำเร็จรูปที่ต้องใช้ความชำนาญ งานประดิษฐ์ดอกไม้ งานเจียระไนอัญมณี เป็นต้น

งานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐานส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

ในงานเกือบทุกประเภทผู้จ้างงานมีบทบาทหลักในการกำหนดค่าตอบแทน ข้อมูลจากการวิจัยยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องมีแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดค่าตอบแทนสำหรับงานที่รับไปทำที่บ้าน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการให้มีประกาศกำหนดค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อคุ้มครองให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับค่าตอบแทนตามที่กฎหมายกำหนด

ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมในงานวิจัยนี้ หมายถึง ค่าตอบแทนที่จ่ายตามจำนวนผลผลิต (เป็นรายชิ้น) ที่แรงงานที่ทำงานในความเร็วปานกลางสามารถผลิตได้โดยอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำ

กล่าวง่ายๆ คือ ดูว่าในวันหนึ่งแรงงานทำได้กี่ชิ้น และถือจำนวนที่ผลิตได้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าจ้างต่อวัน เช่นโดยเฉลี่ยแรงงานทำงานได้ 10 ชิ้นต่อวัน ก็ให้ถือว่า ค่าจ้างของการทำงาน 10 ชิ้นต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้การกำหนดค่าตอบแทนสำหรับงานที่รับไปทำที่บ้านจะมีหลักการที่ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ ค่าตอบแทนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมแต่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง คือสภาพเศรษฐกิจ จำนวนช่วงชั้นในห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขัน และประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่มีอิทธิพลต่อค่าตอบแทน ได้แก่ ผู้บริโภค ซึ่งต้องการสินค้าราคาย่อมเยา บริษัทค้าปลีกซึ่งมีอำนาจต่อรองสูงในห่วงโซ่อุปทานและมีบทบาทกำหนดราคาสินค้า ผู้จ้างงาน ซึ่งหมายถึงผู้สั่งผลิต และคนกลาง ซึ่งอาจเป็นผู้รับเหมาช่วง ตัวแทนหรือหัวหน้ากลุ่มการผลิต

ด้วยเหตุนี้ นอกจากการกำหนดให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าตอบแทนตามหลักการที่ควรจะเป็นแล้ว ผู้วิจัยเห็นว่าควรสนับสนุนให้มีการระบุชัดเจนในตัวสินค้าว่าผลิตโดยผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักและเข้าใจถึงที่มาของสินค้าและการกำหนดราคาเพื่อให้ผู้รับงานได้รับค่าตอบแทนตามที่ควรจะได้รับ นอกจากนั้น การหารือร่วมระหว่างผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อกำหนดค่าตอบแทนก็มีความสำคัญ และหากเกิดกรณีที่ผู้จ้างงานไม่ยอมรับอัตราค่าตอบแทนตามกฎหมาย ก็คงต้องอาศัยอำนาจต่อรองของผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ตนได้รับค่าตอบแทนตามที่ควรจะได้รับ

ดังนั้น ผู้รับงานไปทำที่บ้านคงต้อง “ออกแรง” หรือมีส่วนร่วมในการสร้างอำนาจต่อรองให้ตนเอง มิฉะนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับให้มีการจ่ายค่าตอบแทนตามกฎหมาย คือ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้จ้างงาน หรือตัวแทน รวมทั้งค่าตอบแทนที่กำหนด และวิธีการคำนวณค่าตอบแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการอ้างอิงทั้งสำหรับผู้จ้างงาน ผู้รับงาน และหน่วยงานของรัฐเอง นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะฝีมือในการทำงาน เพื่อให้ผู้รับงานสามารถทำงานที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดหาอ่านได้ในรายงานชื่อยาวๆ ว่า “ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สำหรับงานที่รับไปทำที่บ้าน : แนวคิดและกรณีศึกษา” โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image