ฟอสซิล ‘สมองไดโนเสาร์’ ชิ้นแรกของโลก

ภาพ-JAMIE HISCOCKS

เมื่อราวกว่า 130 ล้านปีก่อน บริเวณเมืองซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของ “เบ็กซ์ฮิลล์ ไอกัวโดน็อนเชียน” ไดโนเสาร์กินพืช หนึ่งในไอกัวโดน็อนเชียน เหล่านั้นเกิดร่วงลงไปติดอยู่ในหล่มโคลนมหึมาในสภาพหงายท้องจนเสียชีวิตลงในที่สุด

ก่อนที่จะกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในตอนนี้ เมื่อมีผู้พบซากฟอสซิลส่วน “สมอง” ของไดโนเสาร์ตัวดังกล่าว ซึ่งแทบจะถูกมองผ่าน เพราะเหมือนกับหินสีน้ำตาลที่พบเห็นทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเลของอังกฤษ แต่กลับได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาว่าเป็น “สมองไดโนเสาร์” ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ชิ้นแรกเท่าที่เคยพบมาในประวัติศาสตร์

เดวิด นอร์แมน นักบรรพชีวินวิทยา จากคณะปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยนานาชาติซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ซากฟอสซิลสมองไดโนเสาร์ชิ้นดังกล่าวที่ “เจมี ฮิสคอกส์” นักล่าฟอสซิลมือใหม่ เป็นผู้พบเมื่อปี ค.ศ.2004 ที่เมืองเซอร์เรย์ซึ่งมีพื้นที่ติดกับซัสเซกซ์

นอร์แมนพยายามทำความเข้าใจว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้ตายได้อย่างไร เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าสมองไดโนเสาร์ชิ้นนี้ยังคงสภาพอยู่ดีเช่นนี้ได้อย่างไร นอร์แมนบอกกับซีเอ็นเอ็นว่าแน่นอนว่าไดโนเสาร์มีสมอง แต่การค้นพบครั้งนี้ถือว่าน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะยากที่เนื้อเยื่ออ่อนนุ่มเหล่านี้สามารถคงอยู่ได้ เพราะปกติแล้วมันเน่าเปื่อยเร็วมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าสมองไดโนเสาร์ชิ้นนี้อยู่รอดมาได้อย่างไร

Advertisement

ทีมวิจัยเชื่อว่าซากฟอสซิลสมองที่พบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมองของจระเข้หรือสมองของนกในปัจจุบัน อยู่รอดมาได้ในสภาพสมบูรณ์ได้เนื่องจากตายอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบบึงโคลนซึ่งสภาพแวดล้อมมีออกซิเจนต่ำทำให้การเน่าเปื่อยเกิดขึ้นช้าลง นอกจากนั้นสภาพความเป็นกรดของบึงก็ช่วยรักษาเนื้อเยื่ออ่อนเหล่านี้ให้อยู่ได้นานมากขึ้น

ขนาดของสมองที่พบได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากเป็นขนาดสมองที่เล็กเกินกว่าที่จะเป็นสมองของไดโนเสาร์กินพืชทั่วไป แต่นอร์แมนระบุว่าขนาดของสมองน่าจะเกิดขึ้นจากสภาพการตายของไดโนเสาร์ตัวนี้ ที่ทำให้ฟอสซิลสมองที่พบมีขนาดเกือบๆ เท่ากับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเล็กกว่ามาก นอร์แมนชี้ว่าเมื่อสมองหยุดทำงานตอนไดโนเสาร์ตัวนี้ตายลง เยื่อหุ้มสมองก็จะหดตัวบีบเนื้อเยื่อสมองให้หดเล็กลงเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก เนื้อสมองมีความหนาแน่นมากขึ้น แต่สมองโดยรวมจะมีขนาดเล็กลงนั่นเอง

ศาสตราจารย์นอร์แมนกล่าวว่า ยังจำได้ถึงความตื่นเต้นเมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์มาร์ติน เบรเซียร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นำฟอสซิลสมองชิ้นนี้มาให้ดูเมื่อปี 2006 โดยระบุว่า ศาสตราจารย์เบรเซียร์เป็นผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผิวของฟอสซิลเป็นมัน เมื่อตนตรวจดูยังพบรอยย่นของผิวฟอสซิล เหมือนลักษณะของเนื้อหุ้มสมอง สร้างความรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก จนต้องเดินหน้าศึกษาวิจัยจนสามารถยืนยันได้ในที่สุดว่าเป็นสมองของไดโนเสาร์

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับนักบรรพชีวินวิทยาแล้วความมันวาวบนซากฟอสซิลมักถูกละเลยได้โดยง่าย เนื่องจากส่วนใหญ่บนพื้นผิวของฟอสซิลมักมีสภาพหยาบ ขรุขระและมีแต่ฝุ่นผงต่างๆ เท่านั้น

นอร์แมนบอกว่า นับจากนี้ บรรดานักวิจัยคงต้องกลับไปดูซากฟอสซิลอื่นๆ และให้ความสนใจกับพื้นผิวที่มันวาวต่างๆ มากขึ้น เพราะมันอาจจะเป็นเพียงแค่ผงฝุ่นที่สามารถปัดออกไปได้ หรืออาจจะเป็น “เนื้อเยื่ออ่อน” ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image