ทีดีอาร์ไอแพร่บทความ ชี้ ราคาข้าวหอมมะลิลดฮวบ เกิดจากฝีมือพ่อค้าเก็งกำไร

รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่เผยบทความ“ทำไมราคาข้าวหอมมะลิลดฮวบ : ใครคือแพะ ???” ของนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีรอาร์ไอว่า ตั้งแต่กลางตุลาคมเป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรุดฮวบแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเก่าลดลงจาก 12,090 บาทต่อตันในเดือนกันยายนเหลือ 10,500 บาทต่อตันในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 หรือลดลง 13% เทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนปีนี้ที่ลดลงเพียง 2% ซึ่งนับเป็นราคาข้าวที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปี โดยสาเหตุสำคัญที่ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาข้าวสารหอมมะลิส่งออกที่เป็น ราคา ล่วงหน้าในเดือนธันวาคม 2559 ลดฮวบมาเหลือเพียง 548 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ต่ำกว่าราคาตลาด 720 เหรียญสหรัฐ ผลคือ ราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิใหม่เดือนแรกของการเก็บเกี่ยว(เดือนพฤศจิกายน 2559) เฉลี่ยหาบละ 1,330 บาท เทียบกับราคาของปี 2558 จะอยู่ที่หาบละ 1,750 บาท ลดลงไป 420 บาท เป็นการลดลงแบบผิดปรกติ

ซึ่งตอบคำถามว่าทำไมราคาล่วงหน้าของข้าวหอมมะลิจึงทรุดฮวบ คำตอบง่ายๆคือ พ่อค้า ส่วนใหญ่ คิดว่าหลังเก็บเกี่ยว เราจะมีอุปทานจำนวนมหาศาล ขณะที่ความต้องการซื้อมีเท่าเดิม หรืออาจลดน้อยลงกว่าปีก่อน นี่คือ ผลของการเก็งกำไรของพ่อค้า ใครเก็งถูก (คือ เก็งว่าราคาตลาดเดือนธันวาคมจะต่ำกว่าราคาขายล่วงหน้าในเดือนตุลาคม) ก็รวย ใครเก็งผิดก็ขาดทุน เป็นเรื่องปกติของพ่อค้า เพราะกำไรของพ่อค้าข้าวส่วนใหญ่เกิดจากความสามารถในการเก็งกำไร อย่างไรก็ตามปีนี้ซัพพลายข้าวหอมมะลิน่าจะมีมากผิดปรติจาก 3 แหล่ง แหล่งแรก คือ ปริมาณผลผลิตที่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวในขณะนี้จนถึงเดือนธันวาคม จะมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะปีฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)ดีมาก ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเราจะมีผลผลิตจำนวนเท่าไร แม้จะมีตัวเลขการพยากรณ์ผลผลิตของกระทรวงเกษตรฯ แต่พ่อค้าส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือตัวเลขเหล่านั้น ฉะนั้นพอถึงช่วงข้าวออกรวงก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน พ่อค้าส่งออกก็จะออกสำรวจพื้นที่ โดยการสอบถามจากโรงสีและพ่อค้าในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละคนย่อมประมาณการผลผลิตไม่เท่ากัน และจะไม่ถูกต้องแม่นยำ

แหล่งที่สอง คือ ข้าวเปลือกที่ค้างอยู่ในสต๊อคของโรงสี พ่อค้าส่งออก และพ่อค้าบางรายที่ได้เงินอุดหนุนดอกเบี้ยในการซื้อข้าวเปลือกเข้าเก็บในสต๊อคตั้งแต่ต้นปี 2559 คงจำได้ว่าตอนต้นปี 2559 ประเทศไทยมีปัญหาฝนแล้งจากภาวะเอลนินโญ่ พ่อค้าและโรงสีต่างก็คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิจะต้องถีบตัวขึ้นสูง จึงพากันกักตุนข้าวไว้ในสต๊อค รวมทั้งยังร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยอุดหนุนภาระดอกเบี้ย 3% โดยสัญญาจะซื้อข้าวเปลือกในราคา 14,000 บาท ปริมาณการสต็อคข้าวเปลือกในโครงการสูงถึง 3.35 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นราคาข้าวหอมมะลิก็ลดลงตลอด เพราะเอลนินโญ่คลี่คลายในกลางกรกฏาคม ฝนในอีสานค่อนข้างดี การคาดคะเนปริมาณผลผลิตก็เปลี่ยนไป คนที่สต็อคข้าวไว้จึงขาดทุน ฉะนั้นพ่อค้าจำนวนมากจึงยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกจำนวนนี้ออกไป คาดว่าขณะนี้น่าจะยังมีข้าวเปลือกค้างในสต๊อค ทั้งข้าวหอมและข้าวขาว อีกประมาณ 2 ล้านตัน โรงสีที่ยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกดังกล่าวจึงไม่ได้ชำระหนี้ธนาคาร จึงไม่ค่อยมีสภาพคล่องที่จะนำมาซื้อข้าวเปลือกในฤดูใหม่ ดังนั้นปีนี้พ่อค้าที่จะมาแย่งซื้อข้าวตอนเก็บเกี่ยวก็คงจะมีจำนวนน้อยลง

แหล่งที่สาม คือ ข้าวหอมของเวียดนาม ที่คงมีมากขึ้น แต่จะเก็บเกี่ยวต้นปีหน้าแต่ปัจจัยนี้ไม่น่าสำคัญเท่าปัจจัยในประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ นับเป็นต้นตอของการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกดิ่งลงเหมือนกับเวลาราคาหุ้นลดฮวบช่วงขาลงเพราะนักลงทุนตื่นตกใจ สาเหตุที่พ่อค้าข้าวตื่นตกใจเกิดจากการที่พ่อค้าบางคนที่ออกสำรวจตลาด และพบว่าปีนี้ผลผลิตจะมีมากกว่าปกติ บวกกับอาจมีข้อมูลว่ายังมีข้าวเปลือกเก่าในสต๊อคของโรงสีจำนวนมาก พ่อค้าเหล่านี้เริ่มคาดคะเนว่าตอนเก็บเกี่ยวข้าว ราคาน่าจะตกต่ำมาก เช่น คิดว่าราคาจะลดลงเหลือ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน ก็เลยรีบไปเสนอขายต่างประเทศล่วงหน้าในราคา 610 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นราคาสมมุติ เพราะถ้าราคาตอนเก็บเกี่ยวลดลงต่ำกว่า $610 เขาก็จะมีกำไร

Advertisement

แต่ราคาล่วงหน้าไม่ใช่ความลับ พ่อค้าบางคนที่รู้ว่ามีใครบางคนไปขายราคา 610 เหรียญสหรัฐต่อตัน เริ่มตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเริ่มตรวจสอบข้อมูล ถ้าได้ข้อมูลว่าผลผลิตจะเพิ่มมากจริงๆ ก็เลยเสนอหั่นราคาขายลง สมมุติว่าเหลือ 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข่าวเรื่องการขายราคาต่ำเริ่มแพร่สะพัดในปลายตุลาคม พ่อค้าส่วนใหญ่เริ่มตื่นตะหนกมากขึ้น บางคนก็เลยไปขายส่งออกล่วงหน้าในราคา 548 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมลดลงเหลือแค่ 9,500-10,000 บาทต่อตัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม แม้การเก็งกำไรจะเป็นเรื่องปกติในตลาดค้าข้าว คนที่เก็งผิดก็จะขาดทุน แต่ผลการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจกลับส่งผลเสียหายต่อเกษตรกรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน ราคาข้าวที่เขาจะได้รับตกต่ำมาก รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงเป็นใยชาวนา แต่ก็ควรเข้าใจว่าราคาที่ลดลงนี้เกิดจากผลพวงของการเก็งกำไรของพ่อค้าในตลาด ลำพังแพะเพียงไม่กี่ตัว ไม่สามารถสร้างสถานการณ์นี้ได้

การที่พ่อค้าตื่นตกใจจนคิดว่าราคาจะต่ำมาก เกิดจากการที่ไม่มีใครมีข้อมูลที่แน่นอน ต่างคนต่างคาดคะเน พอเกิดภาวะตกใจ การเก็งกำไรกลายเป็นแบบไม่มีเหตุผล ในหลายกรณีราคามักตกต่ำกว่าที่ควร สถานการณ์ราคาจะเริ่มทรงตัวหรือขยับขึ้นนิดหน่อยหลังจากที่พ่อค้าเริ่มใช้สติพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นหากประเทศไทยมีระบบพยากรณ์ผลผลิตและรายงานสต็อคข้าวทั้งในมือรัฐบาลและเอกชนที่น่าเชื่อถือ พ่อค้าทุกคนในตลาดก็จะมีข้อมูลชุดเดียวกันตั้งแต่ต้นฤดู แน่นอนตัวเลขการพยากรณ์จะเปลี่ยนไปทุกเดือนตามสภาวะการณ์ แต่ถ้าภาวะดินฟ้าอากาศไม่ผิดปรกติ ตัวเลขพยากรณ์ในเดือนหลังๆก็จะไม่ต่างจากเดือนแรกๆมากนัก เมื่อตัวเลขด้านอุปทานและอุปสงค์ค่อนข้างนิ่งและน่าเชื่อถือ ราคาก็จะไม่ผันผวนมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image