อ.จุฬาฯชี้ โจทย์ใหญ่เมืองไทย คือชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย

วันนี้ (5 พ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก ในงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2559 มีการอภิปราย เรื่อง เดินหน้าประชาธิปไตย โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำนิยามประชาธิปไตยในประเทศไทย คงต้องมองให้ขาดว่าเราอยู่ในระยะไหน มีคนมองว่าไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ตนมองว่าในทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐประหารไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างประชาธิปไตย แต่รัฐประหารคือรัฐประหาร ในหลายปีที่ผ่านมา โลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลายประเทศประสบความสำเร็จ หลายประเทศไม่ประสบความสำเร็จ และหลายประเทศอยู่ระหว่างการครึ่งๆ กลางๆ ไทยกำลังอยู่ระหว่างครึ่งๆ กลางๆ มีการเลือกตั้ง มีการยึดอำนาจ ในลักษณะเดินหน้าถอยหลังแบบเพลงสาละวันเตี้ยลง

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า การเมืองไทยยังก้าวไม่พ้นพื้นที่สีเทา หรือเกรย์โซน หมายความว่าการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยกำลังการสร้างระบอบการปกครองแบบพันทาง หรือไฮบริด มีนัยยะเพราะการเปลี่ยนผ่านไม่ได้ก้าวไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และไม่ได้ถอยไปสู่การปกครองแบบเก่า ในอนาคตการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น ระบบไฮบริดหรือพันทางแบบไทยนั้นจะค่อนไปยังประชาธิปไตย หรือไปทางอำนาจนิยม ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่การเมืองไทย และเป็นคำถามหลังการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเรายังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไหร่ รัฐบาลใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า การเดินหน้าประชาธิปไตยทำอย่างไรให้ยอมรับจากต่างประเทศ เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยจะตัดเรื่องต่างประเทศไม่ได้ เพราะบรรทัดฐานระหว่างประเทศ มีการนำเอาประชาธิปไตยมาชี้วัด ถ้าถอยจากประชาธิปไตย เคพีไอหรือดัชนีชี้วัดหล่นทันที ในรอบ 10 ปี พบว่าไทยเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศในโลกที่มีรัฐประหารซ้ำ

Advertisement

“ผมไม่เชื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ว่าจะไม่มีปัญหา แต่ประชาธิปไตยทำให้เราได้เลือกตั้ง และตัดสินใจเลือกผู้บริหารประเทศเอง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นหลักประกัน ถ้าหลักประกันไม่มี อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง ถามจริงๆ ระบบการเมืองไหนสร้างสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ แม้ระบบการเมืองไทยจะชำรุดไปบ้าง สามารถช่วยการซ่อมได้ ถ้าร่วมมือกัน” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า เกณฑ์ที่ประชาธิปไตยควรมี ขอใช้สูตร 7+7 คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน 7 ประการต้องมี คือ สิทธิการออกเสียง, สิทธิในการตั้งพรรคการเมือง, สิทธิการแข่งขันเลือกตั้ง, สิทธิในการควบคุมตัวแทนของประชาชน, สิทธิในการพูดในที่สาธารณะ, สิทธิในการประท้วงอย่างสันติ, สิทธิของชนกลุ่มน้อย แม้สิทธิไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นการค้ำประกันสิทธิเหล่านี้ อีกส่วนคือ หลักการพื้นฐานใน 7 ประการ คือ หลักนิติธรรมนิติรัฐต้องเกิด, ระบบตุลาการต้องเป็นอิสระ, ธรรมาภิบาลต้องมี, การควบคุมโดยพลเรือนหรือการควบคุมทหารโดยพลเรือน, การตรวจสอบและถ่วงดุล, การกระจายอำนาจ, การสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม

“วันนี้โจทย์ใหญ่คือทำไมชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย วันนี้อย่าฝันเกินจริง ด้วยอุดมคติที่สุดโต่งว่าจะสามารถสร้างประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบได้ ผมเรียกร้องให้เป็นช่างซ่อม ถ้าซ่อมได้จะช่วยสร้างอนาคตให้ประเทศไทย” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า การต่อต้านประชาธิปไตย คือประกาศจุดยืนต่อต้านประเทศในตะวันตก ประเทศที่มีประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้จะเห็นว่าการรัฐประหารล่าสุด ประเทศบางประเทศไม่วิจารณ์รัฐประหารที่กรุงเทพฯเลย หลังจากนั้นเริ่มเห็นการเมืองไทยใกล้ชิดกับประเทศที่ไม่วิจารณ์รัฐประหารในไทย ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะเปลี่ยนค่ายการเมืองระหว่างประเทศ และเปลี่ยนพันธมิตรด้านการเมืองและความมั่นคงทั้งหมด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image