‘สปท.’ชงปฏิรูปการเมือง เข้มคุณสมบัติ ดันขึ้นเงินเดือน 3 แสนป้องทุจริต ให้มีผลหลัง 5 ปี

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายสมพงษ์ สระกวี กรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สปท.กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาแนวทางปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ขณะนี้คณะอนุกมธ.ได้สรุปแนวทางการปฏิรูปเรื่องดังกล่าวเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีสาระสำคัญคือ 1.การปฏิรูปมาตรการคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีประสิทธิภาพ โดยทั้งผู้สมัครส.ส. และผู้เป็นรัฐมนตรีต้องผ่านการคัดกรองอย่างเป็นประชาธิปไตยจากพรรคการเมือง เช่น ถ้าเป็นส.ส.เขตก็ผ่านการคัดกรองด้วยวิธีไพรมารีโหวตก่อน และจะต้องแสดงตัวให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 6 เดือน ถึง 1 ปี ว่าจะลงสมัครส.ส.ในพื้นที่ใด ขณะที่ผู้จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องผ่านมติกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ มีกระบวนการเปิดเผยประวัติ ชื่อเสียงให้คนในพรรคและประชาชนได้รับรู้ เพื่อช่วยกันตรวจสอบ ไม่ใช่มาจากวิธีการคัดเลือกของนายทุนพรรค หรือหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา 2.การให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องผ่านการอบรมหลักสูตรความรู้การเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดีจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือสถาบันพระปกเกล้าที่กำหนดขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พึงประสงค์ของประชาชน โดยจะมีการอบรมหลักสูตรพัฒนาการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดีทั้งก่อนการรับสมัครเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างไรก็ตามไม่มีการกำหนดบทลงโทษว่า หากไม่เข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวจะมีโทษอย่างไร เพราะเป็นเพียงการวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างมีเกียรติยศ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า 3.การพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และส.ว. โดยเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารองค์การมหาชน ที่ได้รับเงินเดือน 2-3 แสนบาท เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยว โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เนื่องจากองค์การเหล่านี้มีโครงสร้างอยู่ในตำแหน่งตามวาระ และดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร เมื่อเราคาดหวังอยากได้นักการเมืองมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงพอให้ เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ จะมีการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองอย่างเข้มข้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งจากมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง กฎหมาย 3 ชั่วโคตร การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นใดได้ นอกจากนักการเมือง หากนักการเมืองมีรายได้ทางเดียว จึงควรพิจารณาค่าตอบแทนให้เหมาะสม หากมีการตรวจสอบเข้มข้น แต่ไม่เพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม นักการเมืองก็ต้องหลบๆซ่อนๆ ใช้วิธีอื่นทุจริต ปัจจุบันเงินเดือนส.ส.อยู่แค่ 100,000 กว่าบาท ใช้มาหลายปีแล้ว มีการเพิ่มค่าตอบแทนขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอการเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อนุกมธ.ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ต้องเพิ่มเป็น 2-3 แสนบาทเท่ากับผู้บริหารองค์การมหาชน เพียงแต่นำโครงสร้างขององค์การมหาชนมาเปรียบเทียบให้ดู จะเพิ่มเติมเท่าใดต้องให้สังคมและทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณา เราห่วงเช่นกันว่า ข้อเสนอนี้จะถูกต่อต้านจากสังคม ดังนั้นในการประชุมอนุกมธ.จึงมีข้อเสนอว่า ควรให้ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 5 ปี เพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่า เสนอเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งนี้คณะอนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะสรุปแนวทางการปฏิรูปเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสปท.การเมืองในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อขอความเห็นชอบ และส่งให้ที่ประชุมสปท.พิจารณาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image