ภารกิจพิชิตดาวเคราะห์น้อย ปกป้องโลกจากอันตราย

AFP PHOTO / NASA

เพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง ที่อาจจะพุ่งมาชนโลก และอาจทำให้โลกดับสูญไป องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ “เนียร์ เอิร์ธ แอสเทอรอยด์ สเกาต์” หรือ นีสเกาต์ ที่จะทำหน้าที่ในการค้นหาภัยคุกคามใดๆ จากบรรดาก้อนหินอวกาศที่จะมาถึงโลก

เอ็นพีอาร์รายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงคืนวันที่ 30 ตุลาคม มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่เฉียดเข้ามาใกล้โลก ซึ่งระบบสเกาต์ ก็ได้ทำการคำนวนว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะผ่านเฉียดโลก ด้วยระยะห่างจากโลกกว่า 300,000 ไมล์ โดยที่โลกไม่เสี่ยงอันตรายใดๆ และไม่พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็มีดาวเคราะห์น้อยเฉียดเข้ามาใกล้โลกอีก ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนักดาราศาสตร์ตรวจพบเป็นครั้งแรก โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกตั้งชื่อว่า “2016 วีเอ” มีขนาดกว้างราว 23-72 ฟุต และวิ่งด้วยความเร็ว 48,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ก่อนที่จะเฉียดโลกด้วยระยะห่างจากพื้นผิวโลกราว 50,000 ไมล์

อย่างไรก็ตาม การที่มีดาวเคราะห์น้อยเข้ามาเฉียดโลกนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรมากนัก ถ้าไม่ได้เฉียดเข้าใกล้โลกจนน่าหวาดเสียว โดยแถลงการณ์จากห้องปฏิบัติการเจ็ต โพรพัลชั่น ของนาซา ที่เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า จำนวนดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่พบในตอนนี้สูงถึง 15,000 ดวงแล้ว โดยพบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 30 ดวง ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

Advertisement

ขณะที่นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่พบ มีอยู่ราว 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีขนาด 460 ฟุตขึ้นไป

พอล โชดาส นักดาราศาสตร์จากเจ็ต โพรพัลชั่น เปิดเผยกับเอ็นพีอาร์ว่า ผลการสำรวจของนาซา พบว่ามีดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านโลกไปมาอย่างน้อย 5 ดวงทุกคืน โดยเมื่อกล้องโทรทรรศน์จับภาพการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ สิ่งแรกที่เห็นคือ “จุด” เพียง 1 จุดที่เคลื่อนอยู่บนท้องฟ้า และไม่มีข้อมูลเลยว่ามันอยู่ไกลออกไปเท่าไหร่ จึงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์อื่นๆ ในการช่วยตรวจสอบวัตถุดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน และจะมุ่งหน้าไปทางไหน แต่บางครั้ง ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม

และด้วยความที่มีดาวเคราะห์น้อยอยู่มากมายบนอวกาศ ระยะเวลาในการที่มันจะวิ่งเข้าหาโลก เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

Advertisement

เดวิเด ฟาร์นอคเชีย วิศวกรนำร่องจาก เจ็ต โพรพัลชั่น บอกเปิดเผยกับเอ็นพีอาร์ว่า วัตถุที่พบบางครั้งก็อาจจะถูกพบตอนที่เข้าใกล้โลกมากแล้ว บางครั้งก็พบก่อน 1 วัน 2 วัน หรือบางครั้งก็ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเป้าหมายหลักของสเกาต์คือ เร่งกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ให้เร็วขึ้น

และด้วยความที่ในกาแล็กซีแห่งนี้ มีดาวเคราะห์น้อยที่พบอยู่ถึง 15,000 ดวง ดาวโลกจึงดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่จะถูกพุ่งชน ด้วยความเสี่ยงที่มากมายเหล่านี้ ทำให้เรื่องราวของอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง ที่โด่งดังก็เช่น ดีพ อิมแพคต์ และอาร์มาเก็ดดอน

นาซา ตระหนักดีว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไม่สามารถนิ่งเฉย แล้วนั่งมองดูว่าเราจะโชคดีหรือไม่ หรือจะคิดเอาเองไว้ว่า โลกคงไม่เจออะไรร้ายแรงเหมือนกับนิยายวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย

และแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า เราจะสามารถรอดพ้นจากภัยอันตรายอันเกิดจากดาวเคราะห์น้อยที่อาจจะมาพุ่งชนโลกเมื่อไหร่ก็ได้

หรือถ้าหากว่า สเกาต์ สามารถตรวจจับได้ว่า มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่กำลังมุ่งหน้ามายังโลก และใหญ่มากพอกับที่เคยคิดกันว่าเคยพุ่งชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์มาแล้ว สิ่งที่มนุษย์จะทำต่อไปคืออะไร? และต้องเตรียมการอย่างไรสำหรับเรื่องนี้? เราสามารถเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ได้จริงหรือ? หรือมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการวางแผนหรือวางกลยุทธ์รับมือกับการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกอย่างรุนแรงได้ และถ้าหากเกิดขึ้นจริง มนุษย์อาจจะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกเหมือนกับไดโนเสาร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะยังไม่มีคำตอบ แต่นาซาเองก็มีแผนที่จะลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดมหันภัยขึ้นกับโลกได้ เรียกว่า แอสเทอรอยด์ อิมแพคต์ แอนด์ ดีเฟลคชั่น แอสเซสเมนต์ มิชชั่น หรือ “ไอด้า”

ตามแถลงการณ์ของนาซา เกี่ยวกับไอด้า ระบุไว้ว่า ไอด้า คือเทคนิคในการเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยบนอวกาศ โดยใช้ยานอวกาศที่เป็นอิสระจากกัน 2 ลำ คือ ดับเบิล แอสเทอรอยด์ รีไดเรคชั่น เทสต์ ของนาซา และ แอสเทอรอยด์ อิมแพคต์ มิชชั่น ของสำนักงานอวกาศยุโรป

ที่ตอนนี้ยังเป็นเพียงโครงการและจะเริ่มการทดสอบในช่วงปลายปี 2020 และจะมีการทดสอบกับเป้าหมายอีกครั้งในปี 2022

ก็หวังว่า ก่อนหน้านั้น คงจะยังไม่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ พุ่งตรงมาทางโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image