‘รศ.ดร.สิริพรรณ’ วิเคราะห์เลือกตั้งศึกช็อกโลก ทำไมคนสหรัฐฯเลือก’ทรัมป์’?

ภาพประกอบจาก MAP-G, MA in Politics and Governance.

หลังทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ได้รับชัยชนะเหนือนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ เรื่องหนึ่งที่ทำให้คนไทยสงสัยไม่น้อย คือเหตุใดบุลคลผู้มีบุคลิคแปลกประหลาด ใช้คำพูดบางครั้งส่อไปในทางเหยียดหยาม ดูหมิ่นดูแคลน ผิดกับแก่นคุณค่าความเป็นสหรัฐอเมริกาที่เคยยึดถือ ขนาดที่ว่าแกนนำพรรครีพับลิกันด้วยกันเอง ยังประกาศเลิกสนับสนุน เพราะรับไม่ได้ ชัยชนะของทรัมป์ฺสร้างความเซอร์ไพรส์กับโลกพอสมควร ไม่เว้นแม้แต่คนไทย

“มติชนออนไลน์” พูดคุยเรื่องนี้กับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ หลังทราบผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯถึง ด้วยคำถามง่ายๆว่า ทำไมคนสหรัฐฯเลือกทรัมป์?

รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์ประเด็นนี้ โดยระบุว่า เชื่อว่า เกิดจากสามเรื่องหลักๆ คือเพราะความกลัว ความเบื่อ และการเปลี่ยนแปลงในคุณค่าของความเป็นสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รศ.ดร.สิริพรรณ ชี้แจงเป็นข้อๆ คือ

1. กลัวภัยก่อการร้ายและความมั่นคง ทั้งสิ่งที่สร้างขึ้นมาตามมโนคติ และภัยจากการก่อการร้ายที่สัมผัสได้ โดยความกลัวที่เกิดขึ้นเป็นความกลัวสะสม ทั้งไอซิส และจุดยืนของฮิลลารีที่ค่อนข้างเป็นสายเหยี่ยว ทั้งเรื่องการโหวตต่อสู้ในสงครามอิรัก และการประกาศสนับสนุนการใช้งบประมาณทหารไปสู้กับไอซิส ซึ่งคนสหรัฐฯจำนวนมากไม่ชอบการทำสงครามและกลัวภัยสงครามระหว่างประเทศ

Advertisement
AFP
AFP

รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์อีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกลัวจากการเมืองภายใน ซึ่งเป็นภาพสะท้อน 8 ปี ที่โอบาม่ามีอำนาจ จะเห็นว่าความขัดแย้งผิวสีที่เกิดขึ้นอย่างมาก หากเดโมแครตขึ้นมา นโยบายการเอาใจคนผิวสีจะสูงขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดการเหยียดมากขึ้นไปด้วยเช่นกันเพราะเหมือนกับการสร้างเกราะป้องกันตัว ทั้งนี้แม้การเปลี่ยนแปลงในด้านประชาชนของสหรัฐฯจะเกิดขึ้นมาก มีคนผิวสีและเอเชียมากขึ้น แต่พลเมืองที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนผิวขาวกว่า 70% จึงมองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการตอบโต้ทางการเมืองจากความกลัวของกลุ่มผิวขาวกลุ่มใหญ่ที่สนับสนุนนโยบายแบบรีพับลิกัน ซึ่งหากมองปรากฎการณ์แบบนี้ด้วยข้อเท็จจริง โดยปราศจากการกรอบการนำเสนอจากสื่อต่างประเทศบางสำนัก ก็จะเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ และจะไม่ประหลาดใจกับผลเลือกตั้งของสหรัฐเท่าใด รวมถึงหากนำแผนที่มาดู ก็จะเห็นว่ามลรัฐตรงกลางเลือกรีพับลิกันชัดเจน โดยเฉพาะคนที่เป็นคนชนชั้นแรงงานผิวขาวที่กลัวการถูกแย่งงาน กลัวภัยก่อการร้าย ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นหลัก การกลัวการเติบโตของคนผิวสีอันเป็นผลพวงนโยบายของเดโมแครต เหล่านี้คือความกลัวอันเป็นสาเหตุให้คนเลือกทรัมป์

2.คือความเบื่อ รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่า “ซึ่งที่จริงอาจจะเบาไปด้วยซ้ำ หากฮิลลารีขึ้นมา ก็จะเป็นเหมือนโอบาม่าใน 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงยุคสมัยของบิล คลินตัน โดยที่บอกว่าความเบื่อเบาไป เพราะฮิลลารีเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง รวมกับชนชั้นนำทางธุรกิจ เราจะเห็นว่าฮิลลารี ใช้งบในการโฆษณาเลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าทรัมป์เป็นสิบเท่า ถามว่าเงินที่ให้ฮิลลารีมาจากไหน ก็มาจากกลุ่มทุนและวอลสตรีต รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกที่ครอบงำการเมืองสหรัฐฯมาโดยตลอด คนสหรัฐฯที่เลือกทรัมป์เห็นว่า หากอิลลารีขึ้นมามันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหมือนกับการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำเดิมซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่หนุนการหาเสียงของฮิลลารีมาตลอด”

“นอกจากนี้ คนที่เลือกทรัมป์ ส่วนหนึ่งคือคนที่เลือกทรัมป์อยู่แล้ว แต่ก็อยากเลือก เบอร์นี แซนเดอร์ส แต่ก็แพ้ไปในขั้นไพรมารี่ ซึ่งคนส่วนนี้ไม่เลือกฮิลลารี อีกส่วนคือคนเดโมแครตที่เลือกอยากเลือก เบอร์นี แซนเดอร์ส แต่อกหัก จนหันมาเลือกทรัมป์ เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรู้ว่าจะไม่ได้จากฮิลลารี โดยกลุ่มสำนักโพลต่างๆก็ไม่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้” รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ

17

3.คือเรื่อง Core Value หรือ คุณค่าของความเป็นสหรัฐอเมริกา หรือแก่นแกนความเป็นสหรัฐฯ รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่า คิดว่าเป็นสำคัญที่สุด ซึ่งเดิมเราจะเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนแบบอเมริกาคือการเคารพความหลากหลาย ความแตกต่างทางชนชาติ สีผิว หรือการพูดเรื่อง Political correctness เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมของผู้หญิง อยู่ตลอด ซึ่งทรัมป์เป็นทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับ Core Value เดิมของคนอเมริกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เซอร์ไพซ์คนทั้งโลกว่า ทำไมคนอเมริกันถึงหันหลังให้คุณค่าที่ตัวเองสั่งสอนคนอื่นมาตลอด รวมทั้งคนไทยด้วย

“เรื่องนี้คือการจืดจางลงของ Core Value แบบอเมริกัน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลุ่มประชากร ผลกระทบที่อเมริกันได้รับทั้งจากการเมืองและเศรษฐกิจ การที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้นำทางอำนาจมานานหลังสงครามเย็น เรื่องนี้บั่นทอนคุณค่าประชาธิปไตยที่ตนเองพร่ำสอน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมอเมริกันต้องตั้งคำถามว่า Core Value เดิมนั้นจะรักษาไว้หรือเปล่า เพราะส่วนหนึ่งของความจืดจางในปัญหานี้ก็เกิดจากการที่รีพับลิกันเลือกใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการโจมตีเดโมแครต และก็ถูกใช้อย่างสุดขั้่ว จนเหมือนกับว่าชนชั้นนำของพรรคบางคนทนไม่ไหว ออกมาประกาศไม่สนับสนุนทรัมป์จำนวนมาก แต่ปรากฏว่ายุทธศาสตร์นี้ใช้ได้ผล เพราะทั้งจำนวนสส.และสว. รีพับลิกันก็ชนะขาด แสดงว่า Core Value ที่เคยซึมลึกในสังคมอเมริกันตอนนี้มันเปลี่ยนหน้าตาไปแล้ว เป็นคุณค่าประชาธิปไตยที่กลายพันธุ์ ที่อาจเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่แสดงออก พอมีคนออกมาเชิดชูคุณค่าใหม่นี้ เขาจึงได้รับคะแนนนิยม” รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ

อ.รัฐศาสตร์ ท่านนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนทรัมป์คือกลุ่มผู้ใช้แรงงานผิวขาว และมักเป็นผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มเลือกเดโมแครต

เมื่อถามถึงเรื่อง ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯในยุคสมัยทรัมป์กับการเมืองไทย จะเปลี่ยนไปอย่างไร รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้แบ่งได้เป็น 4 มิติ คือ ในเชิงกองทัพ เชื่อว่ายังคงมีการรักษาความสัมพันธ์และช่วยเหลือทางการทหารต่อไป เพราะไม่ได้มีมูลค่ามากอะไร 2.คือเรื่องเศรษฐกิจ จะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะทรัมป์จะปฎิเสธข้อตกและสนธิสัญญาทางการค้า โดยเฉพาะ TPP ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกตั้งภาษีสูงขึ้น คนที่ส่งออกอาจจะกระทบ แต่เรื่องนี้ทรัมป์ไม่แคร์ เพราะทรัมป์ต้องการสร้างงานในสหรัฐฯ และตลาดการค้าของไทยและประเทศต่างๆที่ไปสหรัฐฯ ก็จะถูกกีดกัน ได้รับผลกระทบใหญ่สุด 3.คือเรื่องสิทธิมนุษยชน อันนี้สหรัฐฯมีแนวโน้มจะบีบไทยน้อยลง เพราะจุดยืนทรัมป์ไม้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ส่วนเรื่องวีซ่า หรือการเข้าไปทำงาน เรียน ก็อาจจะถูกกีดกัน รวมถึงนโยบายเรื่องการให้สัญชาติอาจจะเข้มงวดหรือยกเลิกไปเลย

โดนัลด์ ทรัมป์ / Scott Olson / AFP
โดนัลด์ ทรัมป์ / Scott Olson / AFP
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image