บิ๊กตู่ ลั่น แก้ปัญหาอยุติธรรม มุ่งรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า การดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องควบคู่ไปกับการลงทุน และการเดินหน้าประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ไม่ใช่ไม่สนใจผู้มีรายได้น้อย แต่มันจำเป็นเพื่อเป็นการขยายช่องทางเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยใช้ระบบดิจิทัล โทรศัพท์ สมาร์ทโฟน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ใช้ประโยชน์ ค้าขายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางมากนัก เราต้องมีผลประโยชน์ เกื้อกูลกันทั่วหน้า สำหรับประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบน กลาง และฐานราก โดยประชาชน เกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มอาชีพในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดช่องทางใหม่ มีผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นมวลรวม มีความสมบูรณ์ ควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง ซึ่งเราคงไม่สามารถกดดันบังคับใครได้ ในระบบการค้าเสรีในปัจจุบัน แต่เราก็จะปล่อยให้ทุกคนมองเพียงไร่นาของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวคงทำอย่างนั้นไม่ได้อีกต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้เกิดเป็น “เกษตรแปลงใหญ่” กำหนดความต้องการน้ำ เพื่อให้สามารถจัดการปลูกพืชที่เหมาะสม เหลื่อมเวลา สอดคล้องกับตลาดรับซื้อ ทั้งบริโภคเองในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ให้เกษตรกรมีเครื่องมือเป็นของตนเอง ในชุมชน กลุ่มสหกรณ์ หรือในวิสาหกิจชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องหา “กลุ่มพลังของเกษตรกร” ให้เจอ โดยประชาชน เกษตรกร ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน น่าจะช่วยตนได้ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ให้ได้ก่อน รวมตัวขึ้นบัญชี จัดทำฐานข้อมูล หากมีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ มีการลงทะเบียนที่ชัดเจน รัฐก็สามารถจัดสรรงบประมาณลงไปตรงจุดแก้ปัญหาอย่างมีระบบตรงตามเป้าหมาย ลดต้นทุน การจัดหาเครื่องจักร เพราะเราไม่สามารถแจกจ่ายทุกครัวเรือนได้ หรือจะแก้ปัญหาทุกอย่างรายหัวได้ ประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งตนเองด้วย ตามคำแนะนำของรัฐบาลและน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้าง “Smart Farmer” เกษตรกรยุคใหม่ มาประยุกต์ใช้

ทั้งนี้หากเราเข้มแข็งพ่อค้าก็ต้องปรับตัว โรงงานโรงสีก็ต้องปรับตัวไปด้วย ช่วยกันมองประโยชน์ประเทศชาติ ลดกำไรลงในช่วงนี้ เพราะต่างเป็นคนไทยด้วยกัน โดยปี 60 มีเป้าหมายส่งเสริมการรวกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2560 อีก 400 แปลง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ที่เป็นไปตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้เกิดการรวมกลุ่มประชาชน พัฒนาพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ สำหรับพื้นที่การเกษตร รัฐบาลไม่สามารถหาน้ำให้ได้สมบูรณ์ทั้งหมด แต่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบได้ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการใช้สอยของประเทศได้ แต่ถ้าเราเก็บกักน้ำไม่ได้ ประชาชนขัดขวางการขุดการสร้างเขื่อนที่จำเป็นหรือการทำแก้มลิง หรือการทำทางระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำมากขึ้น เราจะบริหารจัดการได้อย่างไรไม่ให้ท่วม ไม่ให้ประชาชน เกษตรกรเดือดร้อน และจำเป็นต้องมีน้ำเหลือไว้ใช้ในยามแล้งอีกด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าน้ำมาก หรือน้ำน้อย รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปจัดระเบียบการใช้น้ำเป็นพื้นที่ ไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดูแลคนไทยทุกกลุ่มทุกอาชีพ เพราะเราไม่ได้มีเกษตรกรอย่างเดียว

“ขอร้องให้ช่วยกันคิดหน่อย รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขอย่างยั่งยืน ต้องทำทั้งระบบ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ขอร้องเอ็นจีโอ นักอนุรักษ์ ต้องพยายามมองในมุมนี้ด้วย แล้วผลงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านอนุรักษ์ อาจออกมาดีในสายตาของโลกภายนอก แต่ประชาชนของเรายากจน เกษตรกรเดือดร้อน พัฒนาไปด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะติเตือนให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ อันนี้ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไรนะ เราทำอยู่แล้ว แต่เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ป่าไม้ก็ถูกทำลายไปมาก ปรากฏการณ์ต่างๆ ของอากาศเปลี่ยนแปลง ทำประเทศมีความเสี่ยงสูงในปัจจุบัน การบริหารจัดการน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางไว้แล้วทั้งหมด เราได้ทำสำเร็จไปแล้วบ้างในบางพื้นที่ แต่บางพื้นที่ทำไม่ได้ ประชาชนยังไม่เข้าใจ ด้วยปัญหาหนี้สินที่มีมายาวนานของเกษตรกร การต่อต้านจากเอ็นจีโอและก็ร้องเรียนในโครงการ การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนก็ทำไม่ได้ทั้งหมด เมื่อเดือดร้อน แล้วก็เรียกร้องรัฐบาล ทำได้เพียงใช้เงินเยียวยา หมดไปอย่างสิ้นเปลือง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างเดียว หาน้ำ หาตลาด รวมทั้งให้มีการรับซื้อผลผลิตในราคาสูง มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องทำในการบรรเทาความเดือดร้อน แต่เป็นอันตรายต่อการใช้นโยบายทางการเมือง ในการแก้ปัญหาที่ปลายทาง โดยไม่ได้ย้อนกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าเราคิดมองปัญหาผิวเผิน แก้ปัญหาขอไปที วันหน้ามาใหม่ ไม่มีใครจะแก้ได้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม รัฐบาลนี้ พยายามแก้ปัญหาให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา ในปัจจุบันนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ตามแผนงานการบรรเทาอุทกภัย พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง และให้บรรจุไว้ใน “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ” โดยแบ่งการปฏิบัติ 2 ฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการทั้งระบบของรัฐบาลนี้ มีความคืบหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับ 27 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2530 – 2557) ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตามแนวทางพระราชดำริ ยกตัวอย่างเช่น การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง บาดาลเพื่อการเกษตร ประปาหมู่บ้าน และการป้องกันและลดการพังทลายหน้าดิน

สำหรับการบุกรุกป่าต้องไม่ให้เกิดการบุกรุกใหม่โดยเด็ดขาด และช่วยกันปลูกป่า ส่วนพื้นที่บุกรุกจำเป็นต้องเอาคืน และหาหนทางในการช่วยเหลือเยียวยาให้ และเราต้องไม่ช่วยเหลือนายทุน ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังบุกรุกป่า ทุกคนต้องยอมรับกฎหมาย ที่หลายสิบปีละเลย บังคับใช้กฎหมายไม่ตรงไปตรงมา ภาพวันนี้มีผู้เดือดร้อน เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ เราพยายามแก้ให้อยู่ นายทุน ผู้มีอิทธิพลที่ยังหลงเหลืออยู่ อาจจะใช้ประชาชนบังหน้า เกษตรกรบังหน้า สร้างความเสียหายในวงกว้าง เพราะว่ามีศักยภาพสูง วันนี้ต้องปรับตัวทั้งหมด อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย กลับมาสู่ครรลองของกฎหมายที่ถูกต้อง หากว่าเราปล่อยปละ หากละเลยคนหนึ่งคนใด รักษาความยุติธรรมไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ในที่สุด และขอชื่นชม ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “ดาบวิชัย” ซึ่งน้อมนำแนวทางพระราชดำริ “ปลูกป่าในใจคน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มปลูกป่าด้วยสองมือมากว่า 30 ปี ต้นไม้ 3 ล้านต้นที่เขาปลูกเป็นแรงบันดาลใจเยาวชน และคนไทยจำนวนมากทำดีเพื่อพ่อถวายในหลวง.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image