ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน : ร่างรธน.ฉบับมีชัย “ไวไฟ”กว่าฉบับเรือแป๊ะ !?

 

“รัฐธรรมนูญ 2559” ฉบับ “กูรูมีชัย ฤชุพันธุ์” แค่ขยับกับขั้นตอนส่ง “ร่างแรก” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมือง ประชาชนไปศึกษา ก็เกิดมหกรรม “ออเคสตรา” โก่งคอประสาน ต่อยอด แตะมือกันเป็นทอดๆ เพื่อ “รุมต้าน” พรึบเดียว แผ่กระจายกินบริเวณกว้าง ไปมากพอประมาณ

ประเด็น เจ้าปัญหา ก็ขาประจำ ซ้ำๆ ซากๆ กับ “ฉบับเรือแป๊ะ” ที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” นั่งแป้นประธานกรรมาธิการ ประติมากรรม คือ

1. “ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเกาะกล้องใช้สูตรใหม่ ระบบที่เรียกว่า “จัดสรรปั่นส่วนผสม” ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง 2 ประเภท แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ 150 คน รวมเป็น 500 คน

Advertisement

โดยพรรคจะได้จำนวน ส.ส. ตามคะแนนสัดส่วนของการคำนวณคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว กาเบอร์เดียว มีผลทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์

2. “ที่มาของนายกรัฐมนตรี” ให้พรรคการเมือง เสนอชื่อก่อนล่วงหน้า จำนวน 3 คน จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งถูกมองว่า ซ่อนเจตนาเพื่อเปิดพื้นที่ไว้ต้อนรับ “คนนอก”

3. “ที่มาของ ส.ว.” แบบเลือกตั้งทางอ้อม จาก 20 กลุ่มอาชีพ ไขว้เลือกกันเอง ซึ่งบางฝ่ายมองว่า ควรจะให้ ส.ว. มาจากการสรรหา หรือ “ลากตั้ง” ทั้งหมด กับ มาจากเลือกตั้งของประชาชนทั้ง 200 คน

Advertisement

“ร่างรัฐธรรมนูญ” แบบฉบับ “มีชัย” ยังมีเงื่อนไขใหม่ มีแนวโน้มว่า จะ “ไวไฟ” กว่าฉบับเรือแป๊ะของ “บวรศักดิ์” ว่าด้วย “หมวดองค์กรอิสระ”

อันประกอบด้วย “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) จำนวน 7 คน วาระ 7 ปี “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 9 คน วาระ 9 ปี “ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 3 คน วาระ 6 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน วาระ 7 ปี

และที่ทำท่าจะเป็น “ซุป”ตาร์” กวักมือเรียกแขกได้เป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด น่าจะเป็นหมวด “ศาลรัฐธรรมนูญ”

บิ๊กเนม คนกันเองแท้ๆ ขนาด “เทียนฉาย กีระนันทน์” อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังแสดงข้อวิตกกังขาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ “ซึ่งดูแล้วไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล มีความลึกลับมาก”

“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มีจำนวน 9 คน มาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป 2 คน

วาระอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี

“อำนาจหน้าที่” ตามมาตรา 205 ประกอบด้วย

1. วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมาย

2. วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

3. วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี

4. วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ

5. วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการแปรญัตติกฎหมายงบประมาณที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

6. วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางหรือไม่

การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัย และการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ถูกตรวจสอบโดย ป.ป.ช. เหมือนองค์กรอื่นๆ ถ้ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้หน้าที่และอำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัย

จุดที่ถูกตั้งข้อสังเกตมากที่สุด คือ “มาตรา 206” ว่าด้วย องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย “ต้องประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน”

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ”

“มาตรา 207” การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งความใน “มาตรา 206” ดูเหมือนจะงานเข้ากับร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปู่มีชัย” มากที่สุด เพราะคำจำกัดความที่เขียนไว้ว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าประชุม 5 คนซึ่งถือว่าครบองค์ประชุม และคำวินิจฉัยให้ถือว่าเสียงข้างมาก” นั้น เท่ากับว่า กรณีใด หรือองค์กรใดก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งครบองค์คณะ มีมติแค่ 3 เสียง ทุกเรื่องราวก็ก็ต้องคอขาด

3 คน ซึ่งไม่ได้มาจากเลือกตั้ง เป็นผู้ชี้ชะตา กุมอนาคตประเทศ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือทุกองค์กร จึงถูกมองว่า เป็นจุดบกพร่องที่อันตรายที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่

ต้องยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” มีจุดเด่นคือการวางกลไกป้องกันและตรวจสอบขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจสอบ ป้องกันมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการทุจริตและเที่ยงธรรม ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด

ตามสโลแกน “ปฏิรูป-ปราบขี้โกง”

แต่ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image