เล็งรีไซเคิล ‘ขยะอวกาศ’ ใช้บนดาวอังคาร

ภาพ-NASA

ทอม มาร์คูซิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท ไฟร์ฟลาย สเปซ ซิสเต็ม เสนอแนวความคิดใหม่จัดการกับ “ขยะอวกาศ” จำนวนกว่าครึ่งล้านชิ้นที่โคจรอยู่รอบโลกในเวลานี้ เพื่อนำเอาส่วนหนึ่งของขยะเหล่านั้นมาจัดการประกอบขึ้นใหม่เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสำรวจดาวอังคารในอนาคต

มาร์คูซิชเชื่อว่า มีหลายอย่างมาก ตั้งแต่ นอต, สลักและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบรรดาดาวเทียม “ตายแล้ว” เพราะหมดพลังงานและกลายเป็นขยะอยู่ในห้วงอวกาศในเวลานี้ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเสนอแนวความคิดสร้างยานอวกาศพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ส่งขึ้นไปสู่วงโคจร เพื่อทำหน้าที่ลากดาวเทียมที่ตายแล้วเหล่านี้ออกจากวงโคจรของโลก แต่แทนที่จะนำกลับมาสู่พื้นโลก ยานอวกาศสำหรับลากจูงดังกล่าวนี้จะนำเอาขยะอวกาศต่างๆ เหล่านั้น มุ่งหน้าสู่ โฟบอส ดวงจันทร์ของดาวอังคาร ที่ซึ่งมนุษย์จะทำหน้าที่จัดการคัดแยก เพื่อนำเอาชิ้นส่วนที่ใช้งานได้หรือจัดการใช้ดาวเทียมทั้งดวง แต่ติดตั้งโปรแกรมใหม่เข้าไป สำหรับทำหน้าที่ตามที่ต้องการในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ตามภารกิจ พาธไฟน์เดอร์ ซึ่งเป็นโครงการส่งมนุษย์ไปสำรวจพื้นผิวดาวอังคารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ในอนาคต

“ผู้เชี่ยวชาญอาจสามารถนำเอาชิ้นส่วนที่ใช้ได้มาประกอบกันขึ้นเป็นอุปกรณ์ตัวใหม่ หรือใช้โปรแกรมใหม่กำหนดให้มันทำหน้าที่อื่นที่ต้องการและจำเป็นต้องใช้ในการสำรวจดาวอังคาร” มาร์คูซิชระบุ

มาร์คูซิชเริ่มดำเนินการขั้นต้นด้วยการจัดสร้างจรวดส่งในเชิงพาณิชย์ เรียกว่า “ไฟร์ฟลายอัลฟา” รับจ้างส่งดาวเทียมขนาดเบา (น้ำหนักไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม) หรือไม่ก็ดาวเทียมขนาดเล็กจำพวก คิวบ์แซท เพื่อสร้างรายได้และสะสมประสบการณ์ในการสร้างยานอวกาศสู่ดาวอังคารในอนาคต โดยเชื่อมั่นว่าจะมีรัฐบาลของหลายประเทศสนใจที่จะว่าจ้างบริษัทของตนในการรีไซเคิลขยะอวกาศดังกล่าว เพราะมีเหตุผลและได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในอนาคต

Advertisement

มาร์คูซิชตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ดาวเทียมส่วนใหญ่มีชิ้นส่วนมาตรฐานในการติดตั้งกับจรวดส่งอยู่ ซึ่งหมายความว่าถ้าหากดาวเทียมดวงนั้นไม่สามารถลากจูงไปยังดาวอังคารได้ ก็จะใช้วิธีนำจรวดติดตั้งเข้าไปเพื่อใช้ส่งดาวเทียมดังกล่าวไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป

วิธีการเดียวกันนี้ เป็นวิธีการที่สำนักงานโครงการวิจัยก้าวหน้าด้านกลาโหม (ดาร์ปา) ของสหรัฐอเมริกา ประเมินไว้ว่าจะนำมาใช้ในการจัดการกับขยะอวกาศในอนาคตเช่นเดียวกัน โดยอาศัยยานหุ่นยนต์เพื่อบริการดาวเทียมในวงโคจรค้างฟ้า (อาร์เอสจีเอส) ซึ่งสามารถส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ภายในปี 2021 เพื่อจัดการซ่อมแซมดาวเทียมที่ตายแล้วในวงโคจรค้างฟ้าได้ 4 รูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การใช้ยานหุ่นยนต์ดังกล่าวเข้าไปเชื่อมต่อกับดาวเทียมผ่านช่องติดตั้งกับจรวดที่เป็นมาตรฐานเพื่อตรวจสอบ, เชื่อมต่อแล้วผลักดันดาวเทียมดวงนั้นให้หลุดออกจากวงโคจร, หรือจัดการซ่อมแซมในกรณีที่สามารถซ่อมแซมได้ง่าย เช่น จัดการกางแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่กางตามปกติเป็นต้น หรือสุดท้ายก็คือการติดตั้งเซนเซอร์ใหม่ให้กับดาวเทียมดวงนั้น

เป้าหมายเบื้องต้นของดาร์ปา ก็คือ ดาวเทียมตายแล้วของรัฐบาลอเมริกันราว 50-60 ดวงที่อยู่ในวงโคจรค้างฟ้า แต่ก็มีเวลาอีกระหว่าง 6 ถึง 9 เดือนเหลืออยู่ ซึ่งนานพอที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ให้บริการรัฐบาลอื่นๆ ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image