‘ขึ้นภาษีบุหรี่’ ไม้ตายลดนักสูบเยาวชน

“อย่าโง่ เสพอะไรที่ไม่บริสุทธิ์…” นี่คือประโยคเด็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่บรรดานักสูบและธุรกิจบุหรี่ไม่มากก็น้อย

ประโยคนี้เชื่อว่าสนับสนุนให้กระทรวงการคลังปรับขึ้นภาษีบุหรี่ที่ขายในประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา โดยมีการปรับภาษีทั้งสองขา คือ ในส่วนการคิดภาษีจากเดิมร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90 และการคิดภาษีในส่วนปริมาณจากเดิมเก็บ 1 บาทต่อกรัม เป็น 1.1 บาทต่อกรัม ซึ่งส่งผลให้บุหรี่ที่ขายในประเทศปรับขึ้นราคาอีก 5-10 บาทต่อซอง

ทันทีที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ปรากฏว่ากลุ่มบริษัทบุหรี่ข้ามชาติต่างออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบกันอย่างกว้างขวาง ทั้งปัญหาบุหรี่เถื่อนทะลักเข้ามาตามแนวชายแดน การแบ่งขายบุหรี่ ฯลฯ

แต่จากงานวิจัยที่ รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ เคยรวบรวมข้อมูลทางด้านเศรษฐศาสตร์ต่อการขึ้นภาษีบุหรี่ ระบุในทางตรงข้าม โดยข้อมูลจากธนาคารโลกได้มีการรวบรวมข้อมูลเศรษฐศาสตร์ของแต่ละประเทศเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา โดยแบ่งออกเป็น 1.กลุ่มประเทศร่ำรวย หากขึ้นภาษีและมีผลทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้ปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 4 และ 2.กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยไปจนถึงปานกลาง หากขึ้นภาษีและมีผลทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้ปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 8 ขณะที่ประเทศไทย วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ รศ.สุชาดา ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา พบว่าสำหรับประเทศไทยเมื่อมีการขึ้นภาษีและมีผลทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น ร้อยละ 10 จะส่งผลให้ปริมาณการสูบลดลง ร้อยละ 7

Advertisement

ข้อมูลจากธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลกยืนยันชัดเจนว่า มาตรการทางภาษีสำคัญที่สุด และการขึ้นภาษีบุหรี่ของไทยครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับคำแนะนำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างที่ว่ามาตรการทางภาษีจะนำมาสู่การทะลักของบุหรี่เถื่อนนั้น รศ.สุชาดาให้ความเห็นว่า องค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ย่อมมีผลต่อการลดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชน และมีผลให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นบุหรี่เถื่อนย่อมมีด้วย แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย แน่นอนว่าหากมีบุหรี่เถื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการป้องกัน ซึ่งน่ายินดีว่ากรมสรรพาสามิตรู้ปัญหาและเตรียมมาตรการป้องกันไว้แล้ว

ขณะที่ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-2551) ยอมรับว่าแน่นอนต้องมีการลักลอบขายบุหรี่เถื่อน แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ขึ้นภาษีบุหรี่ และขณะนี้กรมสรรพสามิตก็เตรียมการรับมือ โดยเฉพาะตามชายแดนต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันออกติดกับประเทศกัมพูชา และฝั่งใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่บุหรี่เถื่อนมักมาจากแถบอินโดจีน แต่ยืนยันว่าการขึ้นภาษีบุหรี่จะลดอัตราการสูบของกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากราคาจะมีผลต่อนักสูบกลุ่มนี้

Advertisement

นี่คือเหตุผลของมาตรการนี้

หากพิจารณาในมุมมองของนักวิชาการ สรุปได้ว่า ถึงแม้ภาษีบุหรี่จะมีผลให้บุหรี่ราคาสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายว่าจะทำให้ไม่สามารถหาซื้อบุหรี่ได้ เนื่องจากคนชั้นกลางก็ยังมีศักยภาพจ่าย ประเด็นจึงไปอยู่ที่เด็กและเยาวชนที่ต้องปกป้องมากกว่า

ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 โดยได้สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ ณ ปัจจุบันเฉลี่ย 11.4 ล้านคน สูบเป็นประจำ 10 ล้านคน สูบเป็นครั้งคราว 1.4 ล้านคน เคยสูบแต่เลิกแล้ว 3.7 ล้านคน ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด คิดเป็นอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 20.7 เป็นเพศชาย 10.7 ล้านคน เพศหญิง 0.6 ล้านคน

จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ในเยาวชนนั้น ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี มีประมาณ 353,898 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 8.3 ขณะที่อายุ 19-24 ปี มี 1,059,839 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 19.8 ซึ่งหากจำแนกตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี พบว่าทั้งหมด 1,413,737 คน คิดเป็นร้อยละ 14.7 โดยพบว่าสูบเป็นประจำถึงร้อยละ 11.5 สูบครั้งคราวร้อยละ 3.2 จะเห็นได้ว่ากลุ่มเยาวชนเกิดการสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุน้อยๆ และเมื่อโตขึ้นก็ยังสูบอยู่

ที่น่ากังวลคือ จำนวนการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชน พบว่าเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาด้วยซ้ำ เพราะเมื่อจำแนกพบว่ามีการสูบทุกช่วงวัย โดยในระดับประถมศึกษามากที่สุด รองลงมา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แสดงให้เห็นว่ามีการบริโภคยาสูบตั้งแต่อายุน้อยๆ ซึ่งเมื่อสำรวจข้อมูลลงลึกจะพบว่าเพศชายและเพศหญิงเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกช่วง 6 ปี โดยเพศชายที่เริ่มสูบบุหรี่พบบ่อยสุด ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ขณะที่เพศหญิงอายุเฉลี่ย 20 ปี

ส่วนคำถามที่ว่า คนจนหรือคนรวยสูบบุหรี่มากกว่ากันนั้น จากการสำรวจคนสูบบุหรี่ทั้งหมด 11 ล้านคน พบว่ากลุ่มยากจนที่สุด 1.3 ล้านคน กลุ่มยากจน 1.8 ล้านคน กลุ่มฐานะปานกลาง 2.7 ล้านคน กลุ่มร่ำรวย 3.2 ล้านคน กลุ่มร่ำรวยที่สุด 2.1 ล้านคน

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า การขึ้นภาษีบุหรี่จะทำให้นักสูบหน้าใหม่และคนมีฐานะน้อยลดการสูบได้ การที่บอกว่าไม่ลดนักสูบลงนั้น จะเป็นในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ซึ่งในกลุ่มนี้มี 3-4 ล้านคน ซึ่งแน่นอนมีเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ย่อมสามารถซื้อบุหรี่ต่างประเทศได้ แต่ที่จะลดและเป็นวัตถุประสงค์ในการขึ้นภาษีบุหรี่ก็เพื่อสกัดไม่ให้เยาวชนเข้าถึง ส่วนที่บอกว่าจะเป็นช่องทางให้บุหรี่เถื่อนทะลัก หากกรมสรรพสามิตกวดขันและควบคุมเข้มงวดไม่มีทางหาซื้อได้ง่าย จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมากล่าวอ้าง

สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำรวจพบว่าคนไทยที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผู้ชายสูบมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า มีนักสูบหน้าใหม่ราว 2-3 แสนคน

ต่อปี ดังนั้น 1 ในนโยบายด้านสาธารณสุขที่สำคัญ คือ ลดการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชน

และวันนี้…แนวทางดังกล่าวก็เริ่มขึ้นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image