นาซาทดสอบ ‘เจมส์เวบบ์’ เตรียมปล่อยสู่อวกาศ

ภาพ-NASA

หลังจากใช้เวลาสร้างอยู่นานถึง 20 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศ “เจมส์เวบบ์” กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มีการสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในห้วงอวกาศก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา กำลังทดสอบความเรียบร้อยในห้องทดลองภาคพื้นดิน เตรียมส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศภายใน 2 ปี

นายชาร์ลส์ โบลเดน ผู้อำนวยการนาซาเป็นผู้แถลงความสำเร็จในการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปทำหน้าที่แทนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการทำหน้าที่สำรวจห้วงอวกาศส่วนลึกกล้องนี้ และประกาศเริ่มต้นกระบวนการทดสอบความแข็งแรงของตัวกล้องทั้งหมดที่ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด ของนาซา ในรัฐแมรีแลนด์

จอห์น แมเธอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสประจำโครงการ ระบุว่า เจมส์เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีสมรรถนะสูงกว่าฮับเบิลมากด้วยเหตุผล 2 ประการ กล่าวคือมีขนาดใหญ่กว่าจนกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใหญ่ที่สุดในห้วงอวกาศ ซึ่งส่งผลให้มีพื้นที่สำหรับรวมแสงมากกว่าฮับเบิลถึง 7 เท่า นอกจากนั้นเจมส์เวบบ์ยังถูกออกแบบมาให้สามารถรับแสงอินฟาเรดได้ ในขณะที่กล้องฮับเบิลไม่สามารถทำได้

เจมส์เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดใหญ่เมื่อประกอบเต็มรูปแบบจะประกอบด้วยกระจกรวมแสงขนาดใหญ่สีทอง 18 ชิ้น เมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5 เมตร มีแผงกันแสงอาทิตย์หรือซันชีลด์แบบ 5 ชั้น ขนาดเท่ากับคอร์ตเทนนิส 1 คอร์ต

Advertisement

เนื่องจากบรรยากาศรอบโลกจะเรืองแสงออกมาในย่านอินฟาเรด ดังนั้นการวัดแสงอินฟาเรดจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกจึงทำไม่ได้ ในขณะที่กล้องฮับเบิลเองก็มีการแผ่รังสีความร้อนจากตัวมันเองออกมา กลายเป็นปัญหาในการอ่านค่าอินฟาเรด เจมส์เวบบ์ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้โดยมีอุณหภูมิใกล้กับศูนย์องศาสัมบูรณ์ และอยู่ในอวกาศในจุดที่เรียกว่า “แล็กเรนจ์ พอยต์ 2” ซึ่งเป็นจุดที่อยู่หลังโลกพอดีเมื่อมองมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้โลกกลายเป็นตัวกำบังการปล่อยรังสีอินฟาเรดจากดวงอาทิตย์ให้กับเจมส์เวบบ์โดยอัตโนมัติ ในขณะที่ซันชีลด์ก็จะทำหน้าที่กำบังความร้อนจากทั้งโลกและดวงอาทิตย์ให้กับเจมส์เวบบ์

ความสามารถในการอ่านค่าอินฟาเรดของเจมส์เวบบ์ ส่งผลให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้สามารถ “มอง” ทะลุผ่านธุลีอวกาศหรือคอสมิคดัสต์ ไปยังกาแล็กซีแรกสุดของจักรวาลได้ สามารถตรวจสอบการก่อกำเนิดระบบดาวเคราะห์ใหม่ๆ ได้ ทั้งยังละเอียดมากพอที่จะใช้วิเคราะห์บรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือเอ็กโซแพลเนท ที่เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ของระบบได้ ซึ่งอาจหมายถึงการสามารถค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะได้นั่นเอง

แมเธอร์อุปมาความสามารถของเจมส์เวบบ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ว่า มันสามารถมองเห็นตัวผึ้งจากระยะห่างเท่ากับระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ หรือ 384,403 กิโลเมตรได้เลยทีเดียว

Advertisement

เจมส์เวบบ์

หลังการทดสอบความแข็งแกร่งที่กอดดาร์ด เพื่อดูว่าสามารถทนทานต่อการสั่นและคลื่นเสียงดังมากระหว่างการยิงจรวดได้หรือไม่ เจมส์เวบบ์จะถูกเคลื่อนย้ายต่อไปยังห้องทดสอบที่รัฐเท็กซัส เพื่อตรวจสอบจุดโฟกัสของกล้อง จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายต่อไปยังสถานที่ประกอบขั้นสุดท้ายที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

การทดสอบดังกล่าวนี้มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างถี่ถ้วนมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับฮับเบิล ที่จำเป็นต้องส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปซ่อมแซมหลังส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ทั้งนี้นอกจากนาซาไม่ต้องการให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นซ้ำแล้ว ยังเป็นเพราะเจมส์เวบบ์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์อวกาศขึ้นไปซ่อมแซมภายหลังได้อีกด้วย

ในระหว่างการส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ กล้องโทรทรรศน์เจมส์เวบบ์จะถูกม้วนอย่างประณีตเพื่อให้มีขนาดเล็กลงเหมาะกับการส่งกับจรวดส่ง และเมื่อไปถึงจุดที่ต้องการในห้วงอวกาศแล้วจะต้องคลี่กางออกอย่างสมบูรณ์ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นแผงซันชีลด์จะถูกคลี่กางออก ทิ้งไว้ให้ทุกระบบเข้าที่ สุดท้ายก็จะเริ่มปรับโฟกัสของกล้องเพื่อเริ่มการทำงาน ทั้งหมดกินระยะเวลา 6 เดือน

นาซาเชื่อว่าเจมส์เวบบ์จะทำงานได้โดยสมบูรณ์อย่างน้อย 5 ปี แต่มีพลังงานใช้งานไปได้ถึง 10 ปี และถ้าหากโชคดีพอ ไม่เจอขยะอวกาศขนาดใหญ่เข้าก็อาจมีอายุการใช้งานได้นานกว่า 10 ปีได้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ เดิมมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2014 ที่มูลค่าการก่อสร้างราว 5,000 ล้านดอลลาร์ แต่เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้นรวมทั้งงบประมาณงวดลง ส่งผลถึงกับเกือบมีการยกเลิกโครงการ แต่ก็ดำเนินต่อมาจนแล้วเสร็จในที่สุดและมีงบประมาณพอสำหรับการจัดส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศกับจรวดเอเรียน 5 ในเดือนตุลาคม ปี 2018 ที่จะถึงนี้

รวมงบประมาณทั้งหมดสูงถึง 8,700 ล้านดอลลาร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image