บิ๊กตู่ เล็งผลักดัน สร้างไซโล-ยุ้งฉาง เป็นของปชช.หวังเก็บผลผลิตได้นาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

“นายกฯ” ขอให้เข้าใจการนำเข้าข้าวโพด ระบุพร้อมวางแผนแก้ปัญหาทั้งระบบครบวงจร เล็ง สร้างไซโล-ยุ้งฉาง เป็นของปชช ยัน ช่วยเหลือชาวนาให้ได้เมล็ดพันธุ์ราคาถูก ปัด เอื้อประโยชน์เอกชน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)กรณีเกษตรกรเตรียมฟ้องกระทรวงพาณิชย์(พณ.) หลังนำเข้าข้าวสาลีจนทำให้ราคาข้าวโพดตกว่า ก็ต้องดูกันให้ดีว่าฟ้องร้องแล้วมันได้อะไรขึ้นมาหรือไม่ ต้องดูด้วยการการนำเข้าเป็นไปตามข้อตกลงทางการค้าอะไรหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ก็มีการกำหนดอัตราการผสมข้าวโพด ระหว่างข้าวสาลีนำเข้ากับข้าวโพดที่มีในประเทศในสัดส่วน 1:3 แล้วคือต้องใช้ข้าวโพดในประเทศมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาก แต่ก็ต้องไปดูว่าข้าวโพดของเรามาจากไหน มาจากการปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ เราอยากให้ยกเลิก แม้ว่าความต้องการข้าวโพดมีมาก แต่ก็ต้องให้เลิกปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย เราไม่ส่งเสริมมีการบุกรุกพื้นที่ป่าในการปลูกข้าวโพด ดังนั้นตอนนี้เราก็มีการขอให้ภาคเอกชนให้ช่วยมารับซื้อข้าวโพดให้ได้ตามแผน เป็นการแก้ปัญหาแบบครบวงจร ทั้งพื้นที่ปลูก การผลิต การแปรรูป การนำเข้าส่งออกสู่ตลาด

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปให้ได้ โดยระยะที่1 ทำไปแล้วเหมือนกับรักษาเสถียรภาพประเทศไว้ให้ได้ เอาปัญหาที่หยุดชะงักมาเดินหน้าในปี2557 -2558 จากนั้นปี 2559 – 2560 ต้องสร้างความเข้มแข็งเพิ่มขีดความสามารถ โดยงบประมาณปี 2560-2561 จะมุ่งเน้นเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำเกษตรแปลงใหญ่ รัฐวิสาหกิจชุมชน บริษัทประชารัฐ และจะส่งเสริมให้ทำยุ้งฉางขึ้นมาอีก พร้อมกันนี้จะวางแผนเชื่อมโยงสร้างไซโลต่อในอนาคต เพื่อเก็บรักษาได้ในระยะเวลานาน แต่เป็นของประขาชน โดยร่วมกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ ส่วนธุรกิจเอกชนก็ทำของตัวเองไป สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก สามารถถ่วงดุลราคาในวันข้างหน้า ตนคิดแบบนี้ไม่ใช่แต่จะให้เงิน เพราะไม่ยั่งยืน แต่มันก็จำเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้มีปัญหาทั้งโลก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีเรื่องกรมส่งเสริมการเกษตรที่ร่วมกับบริษัทเอกชนในการช่วยเหลือชาวนา ตรงนี้ชาวนาก็มีทางเลือกอยู่แล้ว รัฐบาลส่วนหนึ่งก็ผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาไม่เพียงพอ เกษตรกรทำเองก็ไม่พออีก สุดท้ายก็ต้องไปซื้อจากเอกชน จึงได้มีการทำสัญญาว่าให้เกษตรกรได้ซื้อในราคาถูก ในราคาที่เป็นธรรม ไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์ใคร แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยภาคธุรกิจทั้งนั้น เจตนารมณ์ของMOU ฉบับนี้คือให้ประชาชนได้ใช้เมล็ดพันธุ์ราคาถูก เป็นทางเลือกไม่เอื้อประโยชน์ใครทั้งสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image