คำตอบในปี2560 โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

อีก 1 เดือนเศษๆ จะเข้าสู่ปีใหม่ 2560

เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะรัฐบาลกำหนดว่าจะมีเลือกตั้งใหญ่ตามโรดแมปที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2557

หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เดือน พ.ย.ของปี 2556 ประเทศไทยกำลังชุลมุนด้วยการชุมนุมประท้วง

หลังจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เกิดการชุมนุมประท้วงจากข้างสถานีรถไฟสามเสน ใกล้กับพรรคประชาธิปัตย์ ลุกลามไปสู่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจุดต่างๆ

Advertisement

ปลายเดือน พ.ย. 2556 นี้เอง ที่ นปช.จัดการชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน และเกิดการปะทะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 50 กว่าคน ก่อนตัดสินใจสลายการชุมนุม

ต้นเดือน ธ.ค. นายกฯยิ่งลักษณ์ยุบสภา กำหนดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 แต่การเลือกตั้งโดนขัดขวาง แล้วเป็นโมฆะไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็พ้นตำแหน่งรักษาการนายกฯ ด้วยคดีย้ายข้าราชการ

Advertisement

ก่อนทหารเข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และประกาศปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าว บันทึกไว้ในระบบอินเตอร์เน็ต เปิดดูได้ง่ายๆ

ทุกวันนี้ คลิปบางคลิปจากปี 2556-2557 ยังถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ ในวาระต่างๆ

การเกิดขึ้นของ “สถานการณ์พิเศษ” ภายใต้รัฐบาล คสช.ได้รับความชื่นชมจากคนไม่น้อย

ผู้ไม่เห็นด้วยนั้นมีแน่นอน เพียงแต่ไม่อาจหยั่งวัดได้ชัดเจน เนื่องจากมีข้อจำกัดไม่สามารถแสดงออกได้

รัฐบาลเองก็เหน็ดเหนื่อยกับการอธิบายต่อสังคมในประเทศและต่างประเทศ

ถึงความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์พิเศษ

แม้มีการตอกย้ำว่า ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ประชาธิปไตยแบบตะวันตกอาจไม่เหมาะ จะต้องประยุกต์ให้เป็นแบบไทยๆ

ก็นำมาซึ่งข้อถกเถียงอีกว่า อะไรคือ “แบบไทยๆ”

ระหว่าง 2 ปีของรัฐบาล เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผล จนต้องเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจมา 1 ชุด

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านความเห็นชอบ

ทำให้เกิดการตีความว่า ประชาชนสนับสนุนแนวทางของรัฐบาล และไม่สนับสนุนแนวทางของนักการเมืองที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

แต่ต้องยอมรับว่า ในภาพรวมยังมีความค้างคาใจอยู่ว่า ในเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่คิดยังไงแน่

ขั้นตอนจากนี้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรธ.จะต้องยกร่าง กม.ลูก 10 ฉบับให้เสร็จใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

กรธ.เริ่มต้นจากการยกร่าง กม.ลูก 4 ฉบับที่ต้องใช้การเลือกตั้งก่อน

ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อ สนช.ได้รับ กม.ลูก จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน

และเมื่อกฎหมายลูก 4 ฉบับนี้ผ่านสภา ผ่านขั้นตอนประกาศใช้ มีผลเมื่อไหร่ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า จะต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ใน 150 วัน

ดังนั้น ถ้าจะเร่งเลือกตั้ง ก็มีช่องทางทำได้อยู่ เว้นแต่จะมีตัวแปรก็อีกเรื่องหนึ่ง

ข้อคาใจทั้งหลายอาจได้คำตอบจากประชาชนในปี 2560 เร็วกว่าที่คาดคิดก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image