“ตรัง”นำร่องสร้างมาตรฐาน”จีเอ็มพี” ยกระดับยางแผ่นรมควัน ครั้งแรกของโลก

ประเทศไทยนับเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออก “ยางพารา” อันดับต้นๆ ของโลก

แต่ที่ผ่านมามีเพียง “ยางแท่ง (Block rubber)” ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากมีการกำหนด มาตรฐานที่เรียกว่า “เอสทีอาร์” (Standard Thai Rubber : STR)”

ขณะที่ “ยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Sheet)” อีกหนึ่งผลผลิตจากยางพาราที่แต่ละปีส่งออกจำนวนหลายล้านตัน โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกประมาณ 6.4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 35,628 ล้านบาท กลับยังไม่มีการสร้างมาตรฐานที่สร้างความน่าเชื่อถือได้

ด้วยเหตุนี้ “การยางแห่งประเทศไทย” จึงผลักดันให้เกิดการกำหนดมาตรฐานยางแผ่นรมควันขึ้นมา

Advertisement

มีโอกาสได้ตามติดไปยังโรงงานยางแผ่นรมควันใน “จังหวัดตรัง” พื้นที่นำร่องยกระดับมาตรฐานยางแผ่นรมควัน พร้อมกับ “ธีธัช สุขสะอาด” ผู้ว่าการยางคนแรกของประเทศไทย

ธีธัช สุขสะอาด
ธีธัช สุขสะอาด

ธีธัช เล่าถึงที่มาที่ไปของการยกระดับมาตรฐานครั้งนี้ว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานสำหรับยางแท่ง ที่ได้รับการยอมรับในการส่งออก ดังนั้น ยางแผ่นก็ควรจะมีมาตรฐานที่จะใช้วัดเกรดกันได้ชัดเจน เพื่อส่งออกในราคามาตรฐานเดียวกัน จึงมุ่งมั่นผลักดันยางแผ่นรมควัน เข้าสู่มาตรฐาน “จีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice : GMP)” ครั้งเเรกในโลก ซึ่งเริ่มที่ประเทศไทย โดยกระบวนการปรับปรุงมาตรฐานโรงงานยางแผ่นรมควัน เริ่มที่โรงงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางที่เข้าร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั่วประเทศ 176 แห่ง เป็นโรงงานในจังหวัดตรัง 30 แห่ง ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพีโดยสถาบันวิจัยยาง กยท.แล้ว 5 แห่ง เป็นการรับประกันว่าผลผลิตที่ออกมามีมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าจะขนาด สี หรือคุณภาพ

“เราพยายามผลักดันให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก เรามีสิทธิที่จะสร้างมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผลตอบรับจากโรงงานต่างๆ หลังนำระบบจีเอ็มพีไปใช้ ทำให้ยางได้มาตรฐานขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ใช้เวลาน้อยลงและต้นทุนถูกลงด้วย เเต่ผมมองว่าขณะนี้เรื่องราคาไม่ได้เป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจซื้อยางเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องคุณภาพที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญ เพราะเมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแม้จะต้องจ่ายมากขึ้น แต่เขาสามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้ ดังนั้น หากเราขายยางคุณภาพที่ตลาดไม่ต้องการก็มีโอกาสที่จะได้ราคาถูก แต่ถ้าเราผลิตของคุณภาพดี น่าจะเพิ่มราคาในระดับพรีเมียมได้ และถ้าทำให้ผลผลิตที่ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีเป็นที่ต้องการของโลก ก็จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับเกษตรได้ด้วย” ธีธัชอธิบาย

Advertisement

ขณะที่ “ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. บอกว่า โรงงานยางแผ่นรมควันในปัจจุบันมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ มีทั้งยางแผ่นรมควัน (RSS) ชั้น 3, RSS4, RSS5 ยางฟอง และยางคัตติ้ง ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดระบบการจัดการที่ดี ขาดความรู้ทางด้านวิชาการและการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรม

“ดังนั้น การยกระดับคุณภาพยางแผ่นรมควันนับเป็นก้าวแรกของวงการยางไทยที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำ การผลิตยางได้อย่างเต็มความภาคภูมิ โดยมาตรฐานจีเอ็มพี จะยกระดับเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2556 เป็นระบบจีเอ็มพีด้านยางพาราฉบับแรกที่ถูกประกาศใช้ และเป็นการจัดระบบการควบคุมคุณภาพพืชชนิดเดียวที่กินไม่ให้ทั่วโลกรู้จัก”

สำหรับการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีนั้น ปรีดิ์เปรมอธิบายว่า เริ่มต้นให้ความสำคัญตั้งแต่น้ำยางสด จนถึงระบบการรวบรวมน้ำยางสดที่สะอาดตั้งแต่สวนมายังโรงงานผลิต และการทดสอบคุณภาพน้ำยางเมื่อมาถึงโรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของยางที่ผลิตได้ ไปจนถึงกระบวนการรีด ล้าง และการตากยาง ให้เป็นไปตามระบบคุณภาพการผลิตยางดิบทุกขั้นตอน

“ในส่วนระบบผลิตยางแผ่นรมควันจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานไม้ฟืน ชนิดของไม้ฟืน เพื่อใช้ในการควบคุมความร้อนระยะเวลาที่เหมาะสม การนำยางออกจากเตา การคัดชั้นและจัดชั้นยาง การเก็บตลอดจนการขนส่งตามระบบควบคุมคุณภาพ จึงทำให้มาตรฐานจีเอ็มพี เป็นระบบการควบคุมคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้มาตรฐาน ทุกกระบวนการผลิต ทำให้ได้ยางที่มีคุณภาพดีและมีความสม่ำเสมอ จำหน่ายได้ในราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ” ปรีดิ์เปรมทิ้งท้าย

กระบวนการทำยางแผ่นรมควัน
กระบวนการทำยางแผ่นรมควัน

“ชาติ วรรณบวร” ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี บอกว่า สหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิก 562 ราย มีกำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณ 500 ตันต่อปี มีประสิทธิภาพการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น 3 คิดเป็นร้อยละ 92 ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรีดำเนินการพัฒนามาตรฐานเพื่อขอรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี และผ่านการรับรองเมื่อเดือนกันยายน ทำให้สหกรณ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพแผ่นรมควัน ชั้น 3 ขึ้นได้อีกและยังลดยางคัตติ้ง หรือการสูญเสียยางในกระบวนการผลิตอีกด้วย

เช่นเดียวกับ “ทองยศ รักษ์เมือง” ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางโพธิ์โทน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี เล่าให้ฟังว่า ระบบมาตรฐานจีเอ็มพีจะเน้นเรื่องคุณภาพความเป็นระเบียบเรียบร้อย และระบบการผลิตที่ละเอียดพิถีพิถัน ทำให้คุณภาพสม่ำเสมอ ลดการสูญเสียลงได้มาก จากเมื่อก่อนเราผลิตยางแผ่นออกมาไม่เท่ากัน เข้าเครื่องจักรก็ขาด แผ่นไหนอ่อนก็ฉีก บางแผ่นหนาเกินไปหรือวางทับกันเวลาอบก็ไม่สุก ทำให้มียางเสียต้องคัดติ้งออกประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากผ่านการยกระดับมาตรฐานจีเอ็มพีแล้วตอนนี้มียางเสียประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รวมแล้วนอกจากจะลดเวลาการผลิต ลดความสูญเสียแล้ว ยังสามารถทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ประมาณกิโลกรัมละ 1 บาท

ทองยศระบุอีกว่า การเข้าสู่การผลิตยางแผ่นรมควันมาตรฐานจีเอ็มพี หลายคนอาจคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน เพิ่มระยะเวลาในการผลิต แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การผลิตยางจีเอ็มพีเป็นการทำกระบวนการผลิตให้เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นจากสวน โดยจะมีการตรวจน้ำยางจากสมาชิกเพื่อให้ได้น้ำยางที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมปริมาณให้เท่ากันทุกขั้นตอน ทำให้ขนาดของยางแผ่นออกมาเท่ากัน และเน้นเรื่องของความสะอาด เมื่อการทำงานเป็นระบบระเบียบจะช่วยให้การผลิตเร็วขึ้น ย่นระยะเวลาลงด้วยซ้ำ

“โดยเฉพาะการการคัตติ้งยาง จากเดิมคนงานต้องตื่นมาคัตติ้งยางตั้งแต่ตี 2 แต่เมื่อเราทำกระบวนการผลิตให้สะอาด เป็นระบบทำให้ไม่มียางที่เสียก็ช่วยลดต้นทุน ลดเวลาส่วนนี้ลง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานก็ดีขึ้น สำหรับยางแผ่นที่ได้เป็นยางคุณภาพดีพ่อค้าซื้อไปแล้วได้ยางที่สะอาด ไม่พบเศษเส้นผม เศษรองเท้า หรืออะไรต่างๆ ผสมอยู่จะทำให้เขาพอใจ เราก็จะขายได้ราคาเพิ่มขึ้นตามคุณภาพแน่นอน”

ขณะที่โรงงานหลายแห่งกำลังพยายามปรับปรุงเพื่อยกระดับให้ได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี อย่างเช่นสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อ

“อุทัย ศรีเทพ” ประธานสหกรณ์ บอกว่า ขณะนี้ความต้องการของผู้ใช้ยางได้เปลี่ยนไป ผู้ใช้ยางต้องการยางที่มีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการใช้ยางของผู้ใช้ยางทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงงานจะต้องพัฒนายางให้มีคุณภาพสูงขึ้น หลังมีการกำหนดมาตรฐานจีเอ็มพีจาก กยท. อันดับแรกมีการประชุมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่ผลิตยางให้เข้าใจกระบวนการและเห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องนี้ จากนั้นก็กระจาย ข่าวไปสู่สมาชิกผู้ส่งน้ำยาง ตั้งแต่วิธีกรีดยาง การใส่ปุ๋ย รวมถึงภาชนะที่ใส่น้ำยาง เพื่อให้ยางที่ออกมามีคุณภาพใกล้เคียงกันหมด ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ที่ยกระดับคุณภาพทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

“ผมมองว่าเวลานี้เป็นยุคของการแข่งขัน ประเทศไทยไม่ได้ผลิตยางพาราประเทศเดียว แล้วสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อก็ไม่ได้ผลิตยางเพียงเจ้าเดียว ดังนั้น ถ้าเราไม่พัฒนาก็มีโอกาสที่เราจะมีปัญหาเรื่องตลาดในอนาคตได้” อุทัยทิ้งท้าย”

กระบวนการทำยางแผ่นรมควัน
กระบวนการทำยางแผ่นรมควัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image