‘รธน.ฉบับมีชัย’ คุ้มครองหรือจำกัดสิทธิชุมชน-สิ่งแวดล้อม’

เดชรัตน์ สุขกำเนิด-ศศิน เฉลิมลาภ-อมร วาณิชวิวัฒน์

หมายเหตุ – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมพูดคุย รับฟังข้อมูล และหารือเรื่องการตัดสิทธิชุมชน และกระบวนการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 (ฉบับนายมีชัย) ที่สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์

เดชรัตน์ สุขกำเนิด

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

“…การที่เอาสิทธิชุมชนนี้ออกไปนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของตัวเองได้…”

Advertisement

ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มีการเปลี่ยนจากสิทธิของชุมชนโดยกำหนดให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งส่งผลให้สิทธิชุมชนที่เคยมีอยู่เดิมตามที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 หายไป โดยสิทธิดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ให้สิทธิชุมชนในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และอนาคตจะอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร

“สิทธิดังกล่าวจะหายไป เมื่อมีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบกับชุมชน จากเดิมที่ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลให้การกลั่นกรองว่าโครงการไหนควรทำหรือไม่ควรทำก็จะลดน้อยลงไป การที่เอาสิทธิชุมชนนี้ออกไปนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของตัวเองได้ นอกจากนี้ ส่งผลให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมีจำนวนลดลงไปด้วย ทั้งหมดที่หายไป เมื่อพูดถึงการย้ายหมวดไปอยู่ในหน้าที่ของรัฐ ก็จะทำให้ประชาชนไม่สามารถมีสิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตัวเองได้ แต่จะต้องไปฟ้องร้องใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องว่าหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะกลายเป็นการพิสูจน์ที่ยุ่งยากขึ้น หรือฝ่ายรัฐเองอาจแย้งว่า ตนเองได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงอาจไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงการที่รัฐอ้างว่าฟังเสียงประชาชนแล้ว เพราะรัฐอาจจะไปทำกฎหมายบัญญัติขึ้นมาแล้วอ้างว่าทำเรียบร้อยแล้วตามที่กฎหมายกำหนด แต่ใน รธน.ปี 2550 หากมีการอ้างเช่นนั้น ศาลจะพิจารณาต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น สิทธิของประชาชนจะเป็นตัวตั้ง แต่ในร่าง รธน.ปี 2559 นี้ จะใช้หน้าที่ของรัฐเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก”

ส่วนกรณีที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีการแย้งว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อทำให้รัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้นนั้น ก็ไม่ได้ปฏิเสธ การเพิ่มขึ้นให้รัฐมีหน้าที่ที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่สิทธิประชาชนต้องไม่หายไป หรือไปตัดสิทธิประชาชน ทั้งนี้ มองว่าอยากให้กลับมาใช้เนื้อหาเรื่องสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเพิ่มข้อความว่ารัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการใช้สิทธิของประชาชน หรือจะเขียนเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ก็ได้ แต่ต้องมีให้ครบถ้วน ต้องมีเรื่องของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องมีเรื่องขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย หากข้อกฎหมายนี้ ไม่ได้ถูกปรับและมีการนำไปใช้ สิทธิของประชาชนหายไปเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ใช่แค่การกำหนดกฎหมายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่หมายถึงสิทธิของประชาชนทั้งประเทศที่หายไปจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งไม่รู้เมื่อไร โดยคิดว่าจะเป็นผลกระทบรุนแรง และเชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนว่าจะลงประชามติอย่างไร

Advertisement

ความจริงในรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้รัฐทำหน้าที่มากกว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 เพียงแต่ไม่ได้เขียนไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แต่ไปเขียนไว้ในหมวดสิทธิของบุคคลหรือสิทธิของชุมชน ที่รัฐบาลต้องพิจารณาด้วยว่าเพียงพอมั้ยที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 นั้น เขียนไว้ในหน้าที่รัฐแล้วก็ให้รัฐเป็นคนบัญญัติ ดังนั้นรัฐไม่ได้ทำมากขึ้น เพียงแต่ทำให้สิทธิของชุมชนและประชาชนน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบแล้วทำให้รัฐมีอำนาจมากขึ้น โดยตอนนี้คิดว่าเราต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพราะมีหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาคือรัฐบาลพยายามเข้ามาควบคุม มีการขู่ว่าผู้ที่จะพยายามทำความเข้าใจในทิศทางที่ไม่ใช่ทางเดียวกับรัฐบาล หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็อาจถูกดำเนินการได้ ก็จะทำให้การทำความเข้าใจกับประชาชนยากขึ้น

ศศิน เฉลิมลาภ

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“…หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา เราพอรับได้ก็ยอมรับ แต่หากไม่สนใจสิ่งที่เราเสนอไป ก็จะต้องเคลื่อนไหวต่อไป โดยต้องแสดงออกว่า ไม่รับ …”

เรื่องสิทธิชุมชนเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนและชุมชนสู้มา ที่ภาคประชาชนส่วนใหญ่ศึกษามาว่าสิ่งที่มากระทบต่อสิทธิของชุมชนคือ โครงการของรัฐหรือเอกชนที่ร่วมกับรัฐ ที่มาทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาประชาชนก็ต่อสู้เพื่อให้เกิดการป้องกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่การขัดขวางการพัฒนาแต่เป็นการไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งความเชื่อนี้มากับกระแสโลกที่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2559 กลับจะกำหนดในสิ่งที่ทำให้ถอยหลังกลับไป นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารประเทศต้องเข้าใจว่า โลกเราต้องเติบโตอย่างยั่งยืน เราจะกลับไปพัฒนาโดยใช้รัฐเป็นศูนย์กลางไม่ได้ เราในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ต้องไม่ยอม

การกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐนั้นเป็นเรื่องของเมื่อประมาณ 40-50 ปี ที่แล้ว ที่ข้าราชการมีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน และยังไม่ได้ถูกแทรกแซงจากภายนอก แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ข้าราชการบางส่วนก็มีผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐอาจทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะเป็นอำนาจ รัฐอาจบอกว่าทำได้เท่านี้ จะรับหรือไม่รับ แนวคิดแบบนี้ ทำไม่ได้ ต้องมีการคาน มีความสมดุล มีความยั่งยืน

“ที่ผ่านมา ราชการก็ร่วมมือกันทำงานกับประชาชนมานานแล้ว จะย้อนกลับไปใช้วิธีเดิมทำไม การที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคือการทำงานที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ส่วนการเปิดช่องให้ประชาชนฟ้องร้องรัฐในฐานละเมิด ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2559 หายไปนั้น ผมมองว่าเมื่อรัฐทำในสิ่งที่ดีที่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ก็ไม่มีใครจะไปฟ้องร้องรัฐ แต่การทำแบบนี้เหมือนกับรัฐต้องการทำบางอย่างที่มีผลกระทบแล้วให้ประชาชนฟ้องไม่ได้ นั่นแสดงว่า รัฐไม่มีธรรมาภิบาล”

ผมได้ส่งข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อ กรธ.ไปว่า อย่างน้อยขอให้ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 นั้น การคุ้มครองสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ย้อนกลับไปแย่กว่าปี 2540 หรือปี 2550 แต่นี่แย่กว่า ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักสนใจแต่ประเด็นด้านการเมือง ทำให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไม่เป็นที่สนใจ ดังนั้นในเดือนมีนาคมนี้จะจัดเวทีเพื่อพูดคุยและหารือในกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ด้วย ส่วนการจะยกระดับเปลี่ยนเป็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มองว่า วันนี้เขารับฟัง ก็เสนอความเห็นไป และเสนอไปเรื่อยๆ เขาจะรับหรือไม่รับ ก็เป็นสิทธิของเขา แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา เราพอรับได้ก็ยอมรับ แต่หากไม่สนใจสิ่งที่เราเสนอไป ก็จะต้องเคลื่อนไหวต่อไป โดยต้องแสดงออกว่า ไม่รับ

“ผมเชื่อว่า กรธ.น่าจะยอมแก้ไขในสิ่งที่ภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากการแก้ไขไม่ขัดกับการดำเนินโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และมองว่าขณะนี้รัฐบาลไม่อยากจะเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนไปมากกว่านี้”

อมร วาณิชวิวัฒน์

โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

“…คนที่พูดว่าทิ้งสิทธิชุมชนหายไปไม่จริง ยังอยู่ครบ เพียงแต่ไม่ได้จาระไนว่าชุมชนประเภทไหน…”

จากกรณีที่ภาคประชาชนเป็นกังวลว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สิทธิชุมชนหายไปนั้น ขอยืนยันว่าสิทธิเหล่านั้นไม่ได้หายไป เพียงกระจายไปอยู่ในหมวดต่างๆ ที่ได้มีการกำหนดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย อาทิ หมวดหน้าที่ของรัฐ ได้มีการกำหนดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของรัฐต่างๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ รวมถึงการให้รัฐเข้าไปดำเนินการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ด้วย และหากพบว่าในชุมชนนั้นเกิดผลกระทบ รัฐต้องเร่งเยียวยาอย่างเป็นธรรมให้กับประชาชนทันที หากมองแล้วถือได้ว่าสิทธิของชุมชนนั้นครอบคลุมกว่าที่ผ่านมา

เรื่องสิทธิชุมชนที่มีข้อท้วงติงว่าหายไป ขอเรียนว่าไม่หายไป เขียนอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 การดำเนินการของรัฐที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุขวิถีชีวิต หรือสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็น แต่จากที่ฟังความคิดเห็นมา ประชาชนเสียดาย อยากให้มีคำนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่ารัฐอาจไม่ทำ หรือทำไม่มาก และจะได้นำไปใช้อ้างสิทธิได้ กรธ.ก็พร้อมรับฟัง

เราดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 เป็นหลัก และมาคิดว่าทำอย่างไรให้สิทธิเกิดมรรคผลจริง มากกว่าเขียนแค่มีสิทธิลอยๆ จึงแยกบางส่วนไปกำหนดในหมวดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้ทุกคน หากรัฐไม่ทำจะถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มีโทษแรงคือพ้นจากตำแหน่งหากมีการฟ้องแล้วพบว่ารัฐไม่ได้ทำ และเป็นอำนาจของประชาชน ผู้เสียหายไปยื่นฟ้องได้ง่าย แรงกว่าการจะถูกฟ้องให้ชดใช้เป็นรายๆ แล้วเอาเงินภาษีไปจ่ายชดเชย แทนที่จะให้แต่ละคนไปต่อสู้ตะเกียกตะกายชั้นศาล ซึ่งหากชนะก็ได้แค่สิทธิเฉพาะตัว ส่วนคนอื่นก็ต้องฟ้องศาลอีก

สิทธิชุมชนไม่ได้หาย เราเขียนไว้ 6 แห่ง ส่วนสิทธิ 2 แห่ง ในหน้าที่ของรัฐ 4 แห่ง อยู่ในมาตรา 50, 53, 54 สามมาตรา ในแนวนโยบายแห่งรัฐอีก 1 แห่ง มาตรา 66 ดังนั้น คนที่พูดว่าทิ้งสิทธิชุมชนหายไปไม่จริง ยังอยู่ครบ เพียงแต่ไม่ได้จาระไนว่าชุมชนประเภทไหน เพราะวันข้างหน้ายังอาจเกิดประเภทใหม่ได้อีกก็จะได้รับการครอบคลุมด้วย เราคุ้มครองขนาดเขียนว่าในการใช้ทรัพยากร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ทรัพยากรด้วย ไม่ใช่โกยเอาแต่ประโยชน์ไป ที่เหลือเหลือไว้แต่ทุกข์ เหล่านี้เราเขียนไว้ละเอียดโดยไม่ลอกปี 2540 และ 2550 มา เพราะเราคิดว่าครอบคลุมมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image