“ธำรงศักดิ์” เทียบระบบรางอาเซียน ชี้ ไทยพัฒนาเชื่องช้า ภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางแต่ไม่เปิดทางเชื่อมโยงคมนาคม

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา มีการจัดสัมมนาประจำปี 2559 โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ และมหาวิทยาลัยพะเยา ในหัวข้อ “ASEAN : SIAM THAILAND,+JAPAN+CHINA+AND INDIA” โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการท้องถิ่น และนักวิชาการพิเศษเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในหัวข้อการเสวนา คือเรื่อง “อาเซียนไร้พรมแดน” ซึ่ง ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงระบบรางของไทยและมาเลเซีย รวมถึงประเทสต่างๆในอาเซียน เนื้อหาโดยสรุปว่า ตนเดินทางไปยังชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านตลอด 20 ปี ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า แต่แห่งเดียวที่ไม่กล้าไปคือมาเลเซีย เพราะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เดินทางไปแล้ว ตนได้พบเห็นถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับพื้นที่ในเขตมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ และระบบการคมนาคม เป็นต้น โดยสามารถสรุปได้ 3 ข้อหลักดังนี้

  1. จากปีนัง มาเลเซีย ถึงอำเภอ เบตง จังหวัดยะลา มองเห็นความต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องการเมืองและความปลอดภัย กล่าวคือ ชายแดนภาคใต้ของไทย เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แต่เมื่อข้ามด่านไป ได้พบความเสถียรภาพ และบ้านเมืองที่ศิวิไลซ์
  2. เพียงข้ามด่านไปถึงมาเลเซีย จะเห็นสภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง เฟื่องฟู  ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าเหตุใดความมั่งคั่งไม่ตกอยู่ที่คนไทยในภาคใต้ด้วย ทั้งที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 46 เปอร์เซ็นต์ ชายแดนใต้กลับเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง และยากจน
  3. ไทยพัฒนาอย่างเชื่องช้าในแง่ของการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและรถไฟความเร็วสูง เมื่อเทียบกับมาเลเซียและ สิงคโปร์ ซึ่งต่างเดินไปล่วงหน้าเพื่อเชื่อมต่อกับไทย แต่ไทยไม่เชื่อมด้วย ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นแผนการใหญ่ของอาเซียนและเอเชีย เพื่อเชื่อมโยงโลกตะวันออกกับตะวันตก  เหนือและใต้ ไม่ใช่แค่อาเซียน ทั้งที่ประเทศไทย มีภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลาง แต่กลับไม่สามารถเปิดทางเชื่อมโยงระบบราง นี่คือปัญหา

“เมื่อปี 2015 ระบบรางของมาเลเซีย เปลี่ยนจากระบบดีเซลรางแบบบ้านเราไปเป็น อีทีเอส หรือ อิเล็คทริค เทรน เซอร์วิส  คือ ระบบรางแบบไฟฟ้า ตรงเวลา ทดสอบได้ จากปาดัง เบซาร์ ไปกัวลาลัมเปอร์ เดิมใช้เวลาเป็นวัน ตอนนี้แค่ 4 ชม.ครึ่งเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจคือจากกัวลาลัมเปอร์ไปสิงคโปร์ ระยะทาง 400 กม. เขาตกลงกันว่าจะสร้างรถไฟความเร็ว 300 กม.ต่อชม. แต่กัวลาลัมเปอร์มาไทย สร้างแค่ 140-160 กม. เพราะรัฐไทย ต้องการความเร็วปานกลาง ซึ่งในภาษาอังกฤษ ไม่มีศัพท์คำนี้ การเดินทางไปมาเลเซีย ทำให้เห็นการเชื่อมโยงระบบการคมนาคม มีสถานีรถบัสตอบสนองคนโดยสารเมื่อลงจากรถไฟ ในขณะที่เมืองไทย ต้องดูว่าจะมีอะไรมารับไหม  สำหรับท้องถนนของมาเลเซีย ไม่มีด่าน การทำผิดถูกยึดใบขับขี่อย่างจริงจัง ไม่มีการต่อรอง แทบไม่มีขายของริมถนน” ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image