ชุมชนก็ “ฮิพ” ได้ อชิรญา-ชญานิศ ธรรมปริพัตรา ปรุงเสน่ห์ “เที่ยวไทย” ทำไมต้องจำเจ

นาทีนี้ถ้าเป็นสตาร์ตอัพด้านการท่องเที่ยวสุดคูล ต้องยกให้ “ไฮฟ์สเตอร์ (Hivesters)” นวัตกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสังคมที่เกิดจากการผนึกพลังร่วมกันของสองศรีพี่น้อง “ธรรมปริพัตรา” ประกอบด้วย “พี่อชิ” อชิรญา กับ “น้องมิ้นต์” ชญานิศ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติการท่องเที่ยวไทย

เป็นโซเชียล กีฟเวอร์ พานักท่องเที่ยวเข้าไปทำความรู้จักเสน่ห์ของเมืองไทยในมุมใหม่ เร้าใจกว่าเคย ทั้งด้านวิถีท้องถิ่น สังคม วัฒนธรรม ผสมผสานกับสำนึกรักสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันคนท้องถิ่นต้องได้ประโยชน์ด้วย

ล่าสุดกับโครงการ “แอพเพียร์ (Appear)” ฟื้นชุมชนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ใกล้จะสูญหาย 6 กลุ่ม (บางกระดี่ นางเลิ้ง เกาะศาลเจ้า หัวตะเข้ บ้านบุ และบางลำพู) ให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง พานักท่องเที่ยวลงไปสัมผัสเรียนรู้กับวิถีวัฒนธรรมคนในท้องถิ่น โดยความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานพันธมิตร โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และทางด้านสายการบิน

อชิรญา-ชญานิศ เป็นลูกสาวของคุณพ่อกิติศักดิ์และคุณแม่อรุณี ธรรมปริพัตรา เจ้าของกิจการรุ้งทองทัวร์ แอนด์ เซอร์วิส ผู้ให้บริการด้านจัดทัวร์อินบาวน์-เอาต์บาวน์มานานกว่า 30 ปี

Advertisement

อชิรญา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปทำงานด้านการตลาดที่ยูนิลีเวอร์ ราว 4 ปี ก่อนจะลาออกมาศึกษาต่อปริญญโทด้านบริหารธุรกิจ “ลักชัวรี่ แบรนด์” ที่ประเทศฝรั่งเศส

“ตอนนั้นเลือกเพราะอยากเรียนอะไรที่เฉพาะเจาะจง ไม่เหมือนคนอื่น อยากจะไปดูว่ามีโอกาสอะไรที่จะเข้ากับแพสชั่นเรา เรียนอยู่ 1 ปี และทำโปรเจ็กต์คอนซัลต์ก่อนจบที่อีฟแซงต์โรลองก์ 3 เดือน”

ทางด้านชญานิศผู้น้อง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานด้านสิทธิแรงงานมาโดยตลอด ตั้งแต่ที่ International Laber Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งไปทำงานเก็บข้อมูลคดีด้านสิทธิเด็ก นำเสนอผ่านทางทีวี/วิทยุออนไลน์กัมพูชา ให้ความรู้อย่างง่ายเกี่ยวกับกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรม ก่อนจะได้ทุนฟุลไบรท์ไปศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่จอร์จทาวน์ ยูนิเวอร์ซิตี้ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ที่นี่เองที่ชนานิศมีโอกาสไปงาน Social Good Summit กระทั่งจุดประกายความคิดการทำกิจการเพื่อสังคม โดยชวนพี่อชิรญาระดมสมองส่งโครงการเข้าประกวดโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปี 4 ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และได้รับการคัดเลือกพร้อมเงินทุน 200,000 บาท

เป็นที่มาของ “ไฮฟ์สเตอร์” โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยพี่อชิ-อชิรญา เป็นซีอีโอ ผู้ร่วมก่อตั้ง ดูแลภาพรวมของธุรกิจ ขณะที่น้องมิ้นต์-ชญานิศ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ดูแลโครงการแอพเพียร์และการพัฒนาธุรกิจด้านสังคมเพื่อความยั่งยืน

รวบรวมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบไทยๆ ทั้งสนุกและยั่งยืนมาให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการในแบบ one stop shop ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย

IMG_2233

ผนึกกำลังกันทำธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างไร?

อชิรญา – หลังเรียนจบก็มีช่วงที่เราขอพักนิดนึง ไปสัมภาษณ์งาน แล้วคุณแม่เห็นว่าว่างเลยเรียกให้มาช่วย พอช่วยแล้วก็ติดลม (ยิ้มกว้าง) ตอนนั้นคุณแม่ให้ออกไปทำทริปนู่นนี่นั่น แล้วก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่า นี่เป็นงานที่เราชอบ มันอยู่ใต้จมูกเรานี่เอง แต่ทำไมเราไม่เคยคิดถึงเลย ประกอบกับได้คุยกับน้องสาวพอดี ซึ่งตอนนั้นแม้ว่าเราจะได้งานทำทางด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง แต่ตัดใจทิ้ง คิดว่าเราควรจะทำสิ่งที่เราชอบเรารัก บอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะไปทำตอนไหน

ซึ่งปกติคุณแม่จะส่งไปสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ บางเรื่องเราก็ไม่ชอบ เช่น การขี่ช้าง หรือสัตว์ที่ควรจะอยู่ในป่า ประกอบกับมีโอกาสได้รับรองเพื่อนต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวที่เดิมๆ เลยฉุกคิดได้ว่า จริงๆ ยังมีสถานที่สวยๆ อีกมาก อย่าง ไชน่าทาวน์ ฯลฯ สิ่งที่เป็นไทยยังมีอีกมาก ที่ที่มันเป็นท้องถิ่น ซึ่งกับน้องสาวเวลามีเพื่อนมาเที่ยวเมืองไทยก็จะมีรายการแนะนำยาวเหยียดเลย

ชญานิศ – มาแล้วต้องไปกินผัดกะเพรา และต้องเป็นร้านเด็ดที่คนไทยไปกินกัน หรือไปเที่ยวก็ต้องเป็นวิถีที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ซึ่งหาค่อนข้างยาก ตอนที่พาโฮสต์แฟมิลี่ไปเที่ยวอัมพวา เราค้นหาลุงที่ใช้เรือพายพาไปดูหิ่งห้อยอยู่นานมาก แต่พอ ณ เวลาที่เราได้ลงไปนั่งในเรือพายไปตามคลองที่ไม่ใช่สำหรับนักท่องเที่ยวไป เขาประทับใจมาก

แต่ปัญหาคือ ถ้าเราไม่ได้พยายามไปหา มันยากมากที่นักท่องเที่ยวจะหาได้ เรารู้สึกว่าลุงมีอุดมการณ์คือใช้เรือพาย ไม่ได้ใช้เรือยนต์ แต่ใครจะหาลุงเจอ เลยอยากจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเจอ มาทำกิจกรรมดีๆ อย่างนี้

ทำงานด้านสิทธิด้านแรงงาน มาทำงานร่วมกับพี่สาวได้อย่างไร?

ชญานิศ – ตอนนั้นทางฟุลไบรท์ให้ตั๋วไปงาน Social Good Summit ซึ่งเป็นงานประชุมเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคม มีมาลาลา (มาลาลา ยูซัฟไซ) มาพูดว่าการต่อสู้ของเขาเป็นยังไง ลิงคินพาร์กก็จะมีแคมเปญทำเรื่องพลังงาน บางคนก็เอาสิ่งประดิษฐ์มาสาธิต เช่นว่าลูกบอลที่ให้เด็กแอฟริกันเตะเล่นได้แล้วยังเก็บพลังงานเอามาเป็นโคมไฟเสียบอ่านหนังสือตอนกลางคืนได้สำหรับในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

ในงานมีทั้งคนจากสหประชาชาติ ดารา นักร้อง นักแสดง คนทำโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ หลากหลายมาก มาพูดกันสั้นๆ ให้เห็นว่าคนธรรมดาคนหนึ่งสามารถทำอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้ เลยรู้สึกว่าอยากทำอย่างนี้ในเมืองไทยบ้าง ตอนนั้นปลายปี 2556 ต้นปี 2557 คุยกับพี่สาวว่าเรามาทำอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราขัดใจในสังคมไทยกันเถอะ ก็มาคุยว่าวงการท่องเที่ยวที่เราโตมามีอะไรที่เราอยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากให้มันเสียไป ประจวบกับเพื่อนบอกว่ากำลังมีการประกวดโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปี 4 ของบ้านปู ให้ลองส่งไปแข่ง แล้วเราก็ชนะได้ 2 แสนบาทมาลงทุนเปิดบริษัท

ต่อยอดจากรุ้งทองทัวร์ของคุณแม่?

อชิรญา – ถ้ามองเป็นบริษัทคือแยกกัน เราอยากสร้างอะไรด้วยตัวเอง แต่ถ้าเรื่องการจัดการ เรื่องคน ก็มีคนของคุณแม่ช่วยเหลือสนับสนุน

ชญานิศ – เราวางไว้ตั้งแต่ตอนประกวดโครงการของบ้านปูว่าเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ (เอสอี) เรามีโซเชียลมิชชั่นของเรา ขณะเดียวกันเราก็อยากให้มันหาเงินได้ มันอยู่ได้ด้วยตนเอง อย่างถ้าเป็นเอ็นจีโอทำงานด้านงานพัฒนาต้องขึ้นกับเจ้าของเงิน แต่ถ้าโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์จะยั่งยืนกว่า เรามีมิชชั่นของเราเอง เราจะทำให้สำเร็จ และด้วยตัวบริษัทต้องดำเนินการต่อได้ด้วยตนเอง

เพียงแต่การเริ่มเป็นสตาร์ตอัพ ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้โมเดลที่ลงตัว

มิชชั่นที่วางไว้คืออะไร?

อชิรญา – เอสอีคือต้องมีขาหนึ่งสร้างรายได้ อีกขาหนึ่งคือสร้างอิมแพคต์ “ไฮฟ์สเตอร์” เราดำเนินการเหมือนธุรกิจทั่วไป เรามี 2 มิชชั่นคือ สร้างรายได้ และสร้างอิมแพคต์ เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการท่องเที่ยวเมืองไทย ทำให้มันยั่งยืน ฉะนั้น “ไฮฟ์สเตอร์” จะเป็นฮับสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวในชุมชน หรือชาวนาออร์แกนิคที่เราเข้าไปทำกิจกรรมด้วย หรือแม้แต่พาไปดูวาฬกับผู้เชี่ยวชาญ คือเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

คำว่า “ยั่งยืน” ในที่นี้คือ?

อชิรญา – มี 3 มุมคือ 1.รายได้ เราต้องการให้เพิ่มและกระจายรายได้ อย่างหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้น เวลามีบริษัททัวร์เข้าไปเที่ยวชุมชน คนในพื้นที่ไม่ได้มีรายได้เพิ่ม คือนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วก็ไป ฉะนั้น ทริปของ “ไฮฟ์สเตอร์” ที่เป็นชุมชน คนที่เป็นไกด์จะเป็นคนในชุมชนที่เกิดและโตจากที่นั่น แต่เราจะมีไกด์พูดภาษาอังกฤษคอยแปล ยกตัวอย่างเช่น โครงการแอพเพียร์ กลุ่มที่พาลงชุมชน “นางเลิ้ง” และทุกกิจกรรมของที่ใช้อย่างน้ำหรือของที่ระลึกจะมาจากคนในชุมชนทั้งหมด ฉะนั้น รายได้จะกระจายกลับไปสู่ชุมชน คนที่เป็นเจ้าของบ้านได้รับอิมแพคต์ด้วย

ข้อที่ 2 ทุกกิจกรรมต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ข้าวออร์แกนิค บางคนจะมีคำถามว่าทำไมแพงจังเมื่อเทียบกับข้าวขาวทั่วไป พอไปทริปนี้ ได้เห็นว่ากรรมวิธีในการทำนาออร์แกนิคมันยากขนาดไหน ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตก็ได้ไม่แน่นอน พอได้เห็นความเป็นจริง จะเปลี่ยนความเข้าใจเดิมๆ ไปเลย ได้เห็นว่าการเป็นชาวนามันยากมาก และมีความสุขที่ได้เข้ามาร่วมประสบการณ์เรียนรู้ไปกับชาวนา ไม่ใช่เป็นแค่นักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปแล้วก็ไป ขณะที่ชาวนาเองก็รู้สึกดีที่มีคนชื่นชม

มุมที่ 3 ?

อชิรญา – เป็นแง่ของวัฒนธรรม เรารู้สึกว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมดีๆ มากมาย แต่หลายสิ่งมันกำลังจะเลือนหายไป ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ปรับให้มันทันสมัยขึ้น คนอาจจะไม่สนใจหรือไม่มีใครมองเห็น นี่เป็นหนึ่งในโครงการแอพเพียร์ที่เราต้องการชุบชีวิตชุมชนที่กำลังเลือนหายให้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ยกตัวอย่างชุมชนบ้านบุทำขันลงหิน ซึ่งขันลงหินมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเหลือช่างอยู่แค่ 6 คน กระบวนการมี 6 ขั้นตอน ซึ่งถ้าขาดคนที่ 1 คนที่เหลือทำไม่ได้แล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งดีมาก เวลาไปถามใครก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราพานักท่องเที่ยวไป เขาจะแปลกใจว่ามีอย่างนี้ด้วยหรือ

ชญานิศ – อย่างเวลาไปเวนิสต้องไปดูมูราโน่ กลาส เป็นงานฝีมือเป่าแก้ว หรืออิตาลีจะมีเวิร์กช็อปทำเครื่องหนัง ซึ่งมันหายากมาก แต่กับบ้านเราไม่มีใครสนใจทำให้มันยังคงสืบทอดอยู่ได้โดยให้คนท้องถิ่นทำงานฝีมือเหล่านี้ต่อไป

พามาดูสิ่งที่ไม่เหมือนที่อื่นที่กำลังจะสูญหายไปแล้วพาไปนอนโรงแรม 5 ดาว?

อชิรญา – ใช่ค่ะ ดิฉันว่าการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวต้องการสิ่งที่เป็นประสบการณ์มากกว่า อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น อยากทำขนม อยากฝังตัวไปกับชุมชนมากกว่า แล้วลูกค้าที่ชอบอะไรแบบนี้จะเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ ที่มาแล้วอยากเรียนรู้วัฒนธรรมจริงๆ ซึ่งคนที่ทำก็รู้สึกซาบซึ้งที่มีคนอยากมาเรียนรู้จริงๆ

โครงการแอพเพียร์เตรียมตัวนานแค่ไหน?

อชิรญา – เกือบ 2 ปี ถ้าช่วงเตรียมโปรดักต์ให้พร้อมประมาณ 6 เดือน เพราะเราทำทั้งหมด 6 ชุมชน

ชญานิศ – เราเริ่มทำงานกับชุมชนก่อน แล้วจึงทำการตลาด โดยเราร่วมมือกับกองการท่องเที่ยว กทม. ก่อน ซึ่งในฐานะภาครัฐเขาเข้าไปทำงานกับชุมชนนานแล้ว เพียงแต่ลูกค้าก็จะเป็นแบบมาดูงาน อบรม แต่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว เราจึงลงไปดูว่าทำอย่างไรจะส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทาง กทม.เป็นหน่วยงานรัฐที่เราประทับใจมาก คือลงไปทำงานกับชุมชนจริงๆ รู้จักชุมชนจริงๆ เขาจะช่วยเราเชื่อมกับชุมชน

ตอนนั้นเราลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราพาลูกค้าจริงๆ ไป ไปถ่ายรูป ทำการตลาด ทำวิดีโอ จนพร้อมทั้ง 6 ชุมชน แล้วนำเรื่องราวต่างๆ ไปคุยกับทุกหน่วยงานเพื่อหาพันธมิตร สุดท้ายเห็นว่าน่าจะเป็นโรงแรมที่ทำงานกับชุมชนแล้วโตไปด้วยกันได้ มันเป็นสถานการณ์ที่วิน-วิน เราอยากทำให้ชุมชนเหล่านี้ดูฮิพ ดูน่าสนใจ

IMG_3900

คุณพ่อคุณแม่ได้ช่วยมั้ย?

อชิรญา – ช่วยค่ะ เยอะมาก ช่วยให้คำแนะนำ อย่างเวลาที่เจอปัญหา หรืออย่างงานแถลงข่าว

เปิดมานานแค่ไหนแล้ว?

อชิรญา – 2 ปีค่ะ ได้แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว เพราะโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญคือ เป็นกิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนก็มีความสุข อย่างป้ากัญญา (สอนรำไทย) ในชุมชนนางเลิ้งมีความสุขมากๆ มีคนมาเรียนรำกับป้า ป้าบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของจิตใจ รู้สึกภูมิใจที่มีคนอยากมาเรียนต่อ จำได้ว่าป้ามาบีบมือเราแล้วบอกว่า “ขอบคุณนะลูก ที่พาคนมา ป้ารู้สึกมีคุณค่า” เราฟังแล้วต่อมน้ำตาแตกเลย

ชญานิศ – ป้าเป็นนางเอกละครชาตรีตั้งแต่อายุสิบกว่า ตั้งแต่สมัยรุ่นทวด รุ่นพ่อ แล้วก็รุ่นคุณป้า เรียนรำตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนอายุ 70 กว่า ซึ่งชุมชนนี้เราจับคู่กับโรงเรียนสุโกศล

เอสอีทำไม่ง่าย ความท้าทายอยู่ตรงไหน?

อชิรญา – คือความสมดุลกันของสองมิชชั่น 1.ต้องสร้างรายได้และกำไร 2.ต้องสร้างอิมแพคต์ถ้ามันเทไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้ามันเทไปทางอิมแพคต์แต่ไม่สร้างรายได้ก็เจ๊ง หรือถ้าสร้างรายได้แต่ไม่อิมแพคต์ก็ไม่ใช่เอสอี การทำให้ทั้งสองข้อนี้คู่ขนานไปด้วยกันจึงเป็นความท้าทาย ไม่ใช่เฉพาะวงการท่องเที่ยว หลายๆ ธุรกิจที่เป็นเอสอีก็เช่นกัน

ในเมืองไทย เอสอีถือว่าใหม่ ถ้าเป็นอังกฤษ เอสอีถือเป็นอาชีพท็อป 5

ชญานิศ – ฟุลไบรท์ที่อเมริกาโปรโมตเอสอีมาก แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยได้ยิน เราจึงต้องสร้างความตระหนัก จริงๆ ในหลายๆ เรื่อง อย่าง การพาไปดูวาฬต้องไปดูในธรรมชาติ ไม่ใช่ที่ถูกกักขัง เพราะเขาจะเครียด แล้วอายุสั้น พอเราเล่าให้ฟัง ลูกค้าในทริปบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อน จึงเป็นมิชชั่นของเราให้เขารู้มากๆ ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งมีหลายประเด็นมาก ทั้งเรื่องวัฒนธรรม เรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งแวดล้อม

ทิศทางในอนาคต?

อชิรญา – เราอยากพัฒนากิจกรรมนี้ เพราะเมืองไทยเป็นบ้านเกิดของเรา ยังมีกิจกรรมอีกมากมายในเมืองไทยที่คนยังไม่รู้จัก อยากพัฒนาบ้านเกิดเราให้ยั่งยืนต่อไป ฉะนั้น จะเน้นกิจกรรมในเมืองไทยก่อน

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นเอสอี?

อชิรญา – จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ดีที่อยากเป็นผู้ประกอบการ แต่ควรจะคิดว่า ต้องมีความรับผิดชอบสูง และต้องเตรียมพร้อมที่จะเจอหลายสถานการณ์ ดีหรือร้าย คือต้องกัดไม่ปล่อย มีอะไรต้องสู้ เพราะพอเราเป็นเจ้าของกิจการ เราต้องวางระบบเอง ทำทุกอย่างเอง

ชญานิศ – เราต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาพัก เราต้องดูทุกเม็ด ต้องคุมคน ลูกค้าก็ร้อยพ่อพันแม่ ต้องทำทุกอย่างที่ทำให้เขาได้ประสบการณ์อย่างที่ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image