เปลี่ยนยอดพันธุ์อะโวกาโด ติดผลเร็ว ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี มีรายได้ที่ยาวนาน

“อะโวกาโด” เป็นไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม แม้ว่าจะสามารถปลูกได้ในประเทศ แต่ยังขาดคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้าอะโวกาโดจากต่างประเทศมาขายในตลาดบ้านเราในราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีมูลค่าในการสั่งนำเข้าเพื่อการบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปีละมากมาย

จังหวัดตาก เป็นอีกแหล่งที่มีพื้นที่และผลผลิตอะโวกาโดมาก จึงทำให้บรรดานักท่องเที่ยวต่างแวะซื้อกัน เหตุผลประการหนึ่งเพราะการมีพื้นที่จำนวนมากทางภาคตะวันตกของจังหวัดตากมีความเหมาะสมและได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่ล้วนเป็นป่าไม้และภูเขาสูง

ทั้งนี้ การปลูกอะโวกาโดของชาวบ้านในช่วงแรกไม่ได้เน้นคุณภาพ เมื่อมีผลผลิตก็มักขายเหมาทั้งสวน จึงทำให้ได้ราคาต่ำ ภายหลังการเข้าไปส่งเสริมของภาคราชการที่รับผิดชอบ เพื่อมุ่งหวังให้ชาวบ้านปรับแนวทางการปลูกอะโวกาโดให้มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านการขาย

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนา พร้อมกับผลักดันในชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกอะโวกาโดให้มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้สูง พร้อมไปกับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพืชต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ อะโวกาโด ถือเป็นพืชสำคัญและมีแนวโน้มทางด้านการตลาดสูง ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านเป็นจำนวนมากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในกระบวนการปลูกและการตลาดอย่างดีพอ ดังนั้น การเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

พัฒนาคุณภาพด้วยการพัฒนากิ่งพันธุ์

คุณศุภชัย ศรีจันทร์ดร รักษาการหัวหน้าศูนย์ กล่าวว่า สำหรับภารกิจของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) จะรับผิดชอบ 2 จังหวัด คือ ตาก กับอุทัยธานี

AC 01 คุณธนากร โปทิกำชัย นักวิชาการส่งเสร

สำหรับบทบาทและหน้าที่คือ การส่งเสริมชาวบ้านในการปลูกพืชที่เหมาะสมแล้วให้ความสำคัญกับอะโวกาโดเป็นหลัก รองลงมาคือ พลับ และกาแฟ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ทางศูนย์จะได้เข้ามา ชาวบ้านมีการปลูกอะโวกาโดกันอยู่แล้ว โดยจะขายผลผลิตแบบเหมาทั้งสวน ซึ่งถ้าเฉลี่ยแล้วมีรายได้ กิโลกรัมละ 10 บาท เป็นพันธุ์พื้นเมืองและถือว่าเป็นราคาต่ำมาก เนื่องจากขาดคุณภาพ

ฉะนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ จนทำให้สามารถขายได้ราคาที่สูง ทางศูนย์จึงหาแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพด้วยการนำเทคโนโลยีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ โดยมีการคัดเลือกยอดพันธุ์ที่เหมาะกับการค้า ซึ่ง ได้แก่ ปิเตอร์สัน บัคคาเนียร์ และแฮส ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยม ทั้งนี้แต่ละสายพันธุ์ดังกล่าวจะให้ผลผลิตต่างเวลากัน โดยเริ่มจากปิเตอร์สันก่อน แล้วจบที่แฮส ที่จะให้ผลผลิตไปจนถึงเดือนธันวาคม ฉะนั้น จะแนะนำให้ชาวบ้านปลูกทั้ง 3 พันธุ์ เพราะจะได้มีผลผลิตพร้อมกับมีรายได้ที่ยาวนาน

คุณศุภชัย ชี้ว่าสำหรับพันธุ์แฮสที่วางจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด เป็นการนำเข้ามาจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย โดยขายเป็นลูก ราคา 60-70 บาท ขณะเดียวกันปิเตอร์สันและบัคคาเนียร์ที่ทางศูนย์ได้ส่งเสริมด้วยการเปลี่ยนยอดพันธุ์ ขณะนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ได้ผลผลิตแล้ว และมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะผลักดันให้มีการปลูกอะโวกาโดด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อเป็นการสร้างมูลค่า ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ปลูกมีรายได้แล้ว ยังมีลูกค้ามาสั่งจองกัน ซึ่งมีราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 40 บาท แล้วนำไปขายกัน กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนพันธุ์แฮสมักขายเป็นผลราคาผลละ 20-30 บาท

AC 03 พันธุ์บัคคาเนียดกมาก เป็นพันธุ์แนะน

“อย่างในปีนี้ (2559) ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีการเปลี่ยนยอดไปแล้วกว่า 4 ไร่ (1 ไร่ประมาณ 44 ต้น) นอกจากนั้น ยังมีโครงการสอนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนยอดและได้สนับสนุนยอดพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้จะแนะนำให้ชาวบ้านเปลี่ยนยอดทั้ง 3 พันธุ์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนในถุงหรือที่ต้น เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความสำคัญด้านการค้าแล้วตลาดต้องการสูง ทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้ตลอดเวลาต่อเนื่องหลายเดือน

อีกเหตุผลที่ต้องการให้ชาวบ้านหันมาปลูกอะโวกาโดเพื่อเป็นการให้ลดการเผาต้นพืชก่อนเตรียมแปลงปลูกอย่างเช่น ข้าวโพด โดยการนำอะโวกาโดไปปลูกในไร่ข้าวโพด เพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันผลของการปลูกอะโวกาโด จะช่วยเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ เป็นการช่วยรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ แล้วสร้างมลภาวะอากาศให้ดีขึ้น” รักษาการหัวหน้าศูนย์กล่าว

ผลักดันปลูกอะโวกาโดแทนพืชเชิงเดี่ยว

ต่อจากนั้นทีมงานได้เดินทางไปชมแปลงปลูกต้นพันธุ์อะโวกาโด ซึ่งแปลงดังกล่าวได้รวบรวมสายพันธุ์อะโวกาโดที่เหมาะกับการค้าและเป็นที่นิยมของตลาด โดยมี คุณธนากร โปทิกำชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เป็นผู้ให้รายละเอียดและข้อมูล

คุณธนากร บอกว่า จุดมุ่งหมายหลักคือ ความพยายามให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาหรือมีต้นทุนสูง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การปลูกกะหล่ำในพื้นที่ลาดชัน แล้วหันมาปลูกอะโวกาโดแทน เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อย โดยเฉพาะพื้นที่แถบพบพระที่มีลักษณะทางธรรมชาติที่เอื้อต่อการปลูก ตลอดจนขายได้ราคาดี มีแหล่งจำหน่ายที่ชัดเจน เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น

 

พื้นที่ภายในบริเวณศูนย์ถูกจัดแบ่งออกเป็นโซน ไม่ว่าจะเป็นโซนต้นพันธุ์พ่อ-แม่ โซนแปลงเพาะต้นกล้า โซนแปลงเปลี่ยนยอดพันธุ์ในถุง และโซนแปลงเปลี่ยนยอดพันธุ์จากต้น สิ่งเหล่านี้คุณธนากรบอกว่า เพราะตั้งใจจะทำเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ให้มากที่สุด ตลอดจนทำเป็นแปลงแม่พันธุ์สำหรับไว้ถ่ายทอดเทคโนโลยีของศูนย์ด้วย

AC 02 ชี้ให้ดูขั้วผลที่เปลี่ยนจากสีเขียวย

มีโอกาสสร้างรายได้ จึงเน้นพันธุ์เพื่อการค้า

คุณธนากร ชี้ว่า การปลูกอะโวคาในพื้นที่สูงมีโอกาสและได้เปรียบมาก ฉะนั้น การเลือกสายพันธุ์สำหรับปลูกควรมองตลาดจำหน่ายให้เป็นกรอบเพื่อสร้างความชัดเจน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปิเตอร์สัน ลูเทิ่น บู๊ช บัคคาเนียร์ แฮส และปากช่อง 28 ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์สุดท้ายของช่วงฤดูกาล ล้วนแต่ตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกตลาด ทั้งตลาดบริโภค ตลาดชุมชน หรือตลาดแปรรูปส่งโรงงานอุตสาหกรรมที่นำไปทำเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม รวมถึงควรมีลักษณะคุณสมบัติเด่นคือให้ผลผลิตและค่าตอบแทนสูง คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย

“ดังนั้น จะต้องพยายามคัดพันธุ์โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถตอบสนองกับพื้นที่พบพระ แล้วยังต้องให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านรสชาติ ขนาดผล ตลอดจนความหนา-บาง ของเปลือก เพื่อให้ปลอดภัยต่อการขนส่ง โดยจะได้นำพันธุ์ต่างๆ ไปใช้ได้ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง”

พัฒนายอดพันธุ์ดีด้วยเทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์

สำหรับเทคโนโลยีที่ศูนย์ได้นำมาใช้พัฒนาต่อยอดการปลูกอะโวกาโดคือ “เทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี” ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เร็ว ซึ่งเทคนิคดังกล่าวมี 2 วิธี คือการต่อกิ่งแบบฝานบวบ กับการเสียบเปลือกประยุกต์

การต่อกิ่งแบบฝานบวบ เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์ดีตามที่ต้องการ ทั้งนี้ จากประสบการณ์พบว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการผลิตต้นกล้าอะโวกาโดเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี เพราะมีข้อดีคือจะได้รอยต่อที่มีความแข็งแรงมากกว่าวิธีการติดตา และมีคุณภาพมากกว่า ส่วนข้อเสียคือ จะต้องรอเวลาเพื่อให้กิ่งมีความเหมาะสมกับยอดพันธุ์ก่อน

การเสียบเปลือกประยุกต์ วิธีนี้ควรเลือกใช้ในกรณีที่กิ่งยอดพันธุ์ดีมีขนาดเล็กกว่าต้นตอ เป็นการเสียบเข้ากับเปลือกล็อกท่อน้ำและท่ออาหาร แล้วจึงนำกิ่งยอดพันธุ์ดีเสียบเข้าไป ข้อดีของวิธีนี้คือ มีความสะดวกและง่าย สามารถทำได้ทันที แต่ความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความชำนาญ และทักษะ เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดน้อยกว่าการฝานบวบ

AC 05 ต้นแม่พันธุ์บัคคาเนีย ในแปลงรวบรวมพ

ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือ การประสานเนื้อไม้อาจไม่ดีพอ เนื่องจากเนื้อไม้ทั้งสองมีความแตกต่างด้านอายุต้น ระหว่างกิ่งแก่กับกิ่งอ่อน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้นิยมนำมาใช้ในกรณีการเปลี่ยนสายพันธุ์ เพราะผลผลิตไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือในกรณีที่ต้องการทำเป็นต้นแฟนซีไว้โชว์สายพันธุ์ต่างๆ ในต้นเดียวกัน ก็ควรใช้วิธีนี้เหมาะสมกว่า

ทางด้านแนวทางการเปลี่ยนยอดพันธุ์ อาจทำให้ 2 ลักษณะ คือเปลี่ยนยอดในถุงหรือเปลี่ยนยอดในแปลง ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกัน

การเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีในถุง ส่วนมากใช้วิธีฝานบวบ เพราะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด แล้วยังเป็นการป้องกันเชื้อที่อาจก่อโรคเข้ามาติดได้ง่าย และตามความเห็นของคุณธนากร มองว่าหากจะทำในเชิงพาณิชย์ การใช้วิธีเปลี่ยนยอดในถุงเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ของทรงต้น เพื่อนำมาปลูก จะมีการบริหารจัดการได้ง่าย เนื่องจากสามารถเลือกสายพันธุ์ได้ เลือกขนาดต้นกล้าได้ ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเรื่องเวลาได้

ขณะที่ การเปลี่ยนยอดในแปลง จะต้องรอเวลาการปลูกต้นตอพันธุ์ไปสัก 1-3 ปี แล้วมักพบปัญหาการเชื่อมต่อประสานของเนื้อไม้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอายุเนื้อไม้ที่ต่างกัน การเปลี่ยนในแปลงนั้นเหมาะกับยอดพันธุ์ดีหรือเปลี่ยนสายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีล้วนมี ข้อดี-ข้อเสีย ต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เป็นหลักด้วย สำหรับฤดูที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนยอดคือ ช่วงหน้าหนาว แต่หากเป็นช่วงจังหวะที่กิ่งตาพร้อมในช่วงหน้าฝนก็ทำได้ แต่ถ้าไม่ชำนาญและทักษะไม่ดีพอ อาจทำให้โอกาสรอดน้อย

อีกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาของชาวบ้านต่อการปลูกอะโวกาโดคือ การเก็บผลผลิต เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมักเก็บผลผลิตที่ยังไม่สุกแก่ขาย พอลูกค้าที่เพิ่งซื้อรับประทานครั้งแรกชิมแล้วมีรสขมฝาด จึงเกิดทัศนคติไม่ดี แล้วมีผลต่อการซื้อทันที อย่างไรก็ตาม ลักษณะการขายอะโวกาโดของชาวบ้านนิยมขายยกสวน ทำให้คนเก็บไม่ใช้ความระมัดระวัง จึงทำให้ผลเสียหาย ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้ฉุดรั้งความสนใจ แล้วทำให้ขายยาก ราคาตก  ฉะนั้น การเก็บจะต้องสังเกตผลที่จุกสีแดงหรือผิวที่เปลี่ยนสี

ชาวบ้านสนใจ แห่ปลูกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด              

คุณธนากร เผยว่า เป็นที่น่าดีใจ เพราะภายหลังที่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอะโวกาโดตามที่แนะนำ ได้พบว่าชาวบ้านต่างเห็นประโยชน์แล้วหันมาปลูกกันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ชนิดก้าวกระโดด ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรอำเภอ พบว่า เดิมมีพื้นที่ปลูกอะโวกาโดอยู่ จำนวน 500 ไร่ เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 1,500 ไร่ ภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งรุ่นที่เก็บผลผลิตขายได้แล้วกับรุ่นที่เพิ่งปลูกใหม่

ขณะเดียวกันทางศูนย์ได้มีการเก็บข้อมูลเฉพาะผู้ปลูกพันธุ์ดี พบว่า มีจำนวนผู้ปลูกอยู่ประมาณ 50 ไร่ นอกจากนั้น ยังพบว่ามีผู้ปลูกรายใหม่ที่เน้นปลูกพันธุ์ดีอีกประมาณ 300 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพันธุ์พื้นบ้านทั่วไปประมาณพันกว่าไร่

สำหรับสายพันธุ์ที่ควรส่งเสริมปลูกในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ พันธุ์บัคคาเนียร์ เนื่องจากให้ผลดก โตเร็ว ขั้วเหนียว ทนทานต่อแรงลม เปลือกหนา เมล็ดเล็ก เนื้อมาก ถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีทุกอย่างครบ ดังนั้น จึงเหมาะทั้งรับประทานสด และแปรรูปส่งโรงงาน แล้วที่ดีที่สุดคือ สามารถอยู่บนต้นได้นานถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อรอให้มีราคาที่พอใจ ทั้งนี้ บัคคาเนียร์ จะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2-3 แต่มักเก็บขายจริงจังในปีที่ 4

อีกสายพันธุ์ที่กำลังมาแรง แล้วดูเหมือนว่ากำลังแซงพันธุ์ที่นิยมอย่าง แฮส นั่นคือ พิงค์เคอร์ตัน ถือเป็นพันธุ์ที่ลบข้อเสียของแฮสได้ทั้งหมด แล้วยังให้ผลดก มีขนาดใหญ่ในระดับพรีเมี่ยม อย่างไรก็ตาม พันธุ์แฮสต้องปลูกในระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 600 เมตร จึงจะได้ผลดี ขณะที่พิงค์เคอร์ตัน ใช้ระดับเพียง 300-400 เมตร จากระดับน้ำทะเลก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีข้อจำกัดในระดับพื้นที่ปลูกที่เป็นปัญหา

แนะ…ปลูกหลายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง

นอกจากนั้น คุณธนากร ยังชี้ว่า ถ้าต้องการปลูกอะโวกาโดแบบให้ผลผลิตแล้วมีรายได้ต่อเนื่อง ควรปลูกพันธุ์ที่เริ่มให้ผลก่อนใคร อย่าง พันธุ์ปิเตอร์สัน เพราะสามารถเก็บขายได้ก่อนพันธุ์อื่น จากนั้นตามด้วย ลูเฮิร์น ซึ่งมีข้อดีคือดก รสชาติดี ถ้านำไปทำแบบลอดช่องน้ำกะทิแทนแตงไทยได้เลย ถือเป็นพันธุ์รับประทานสดที่มีรสอร่อยมาก ข้อเสียอย่างเดียวคือ เปลือกบาง จึงไม่เหมาะกับการขนส่งในระยะทางไกลและนาน

AC 08 เนื้อปิเตอร์สัน

สำหรับ พันธุ์ปากช่อง 28 จะออกผลผลิตเป็นชนิดสุดท้าย แล้วให้ผลผลิตยาวข้ามปี ราวปลายมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากที่พันธุ์อื่นให้ผลผลิตหมดแล้ว จึงทำให้ได้ราคาดี ทั้งนี้มีลักษณะเด่นคือ อายุการเก็บเกี่ยวนาน แต่พันธุ์นี้ยังไม่แพร่หลาย เพราะกิ่งพันธุ์ยังมีน้อย

“ท้ายนี้ ทางศูนย์ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมปลูกอะโวกาโดมาก เพราะมองว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพเมื่อนำมาปลูกที่พบพระ อีกทั้งพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างเอื้อต่อการลงทุนต่ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ปลูกมาก ขณะเดียวกันกลับสร้างรายได้สูง แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการปลูกอย่างมีคุณภาพจริง แล้วยังสามารถปลูกทดแทนพืชเชิงเดี่ยวได้

จึงหวังให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกอะโวกาโดกันมากๆ ไม่ต้องหวั่นเรื่องตลาด เพราะถ้าคุณสามารถปลูกได้อย่างมีคุณภาพตามที่ทางศูนย์แนะนำแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นผู้รับซื้อวิ่งเข้ามาหาคุณแน่นอน” คุณธนากร กล่าว

สนใจสอบถามข้อมูลอะโวกาโดได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) โทรศัพท์ (055)-806-249 (ในวัน/เวลา ราชการ) หรือ คุณธนากร โปทิกำชัย โทรศัพท์ (081) 724-8013

หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวตลอดจนกิจกรรมดีๆ ที่น่าสนใจของ อะโวกาโด ได้ที่เฟซบุ๊ก “คนรักอะโวกาโด(Avocado)” แล้วท่านจะไม่ตกเทรนด์เรื่องสุขภาพอย่างแน่…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image