คุณภาพคือความอยู่รอด : ความสูญเปล่าทางการบริหาร : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ความสูญเปล่า คือ ที่มาของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และนำไปสู่การ “ทำมากได้น้อย”

ความสูญเปล่าทางการบริหารที่เป็นปัญหาจับต้องได้จะมี 2 เรื่องหลักๆ ก็คือ ความสูญเปล่าที่มองเห็น และความสูญเปล่าที่ซ่อนเร้น

ในความเป็นจริงแล้ว หลายองค์กรยังละเลย “ความสูญเปล่าที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า” ดังเช่นกรณีของบริษัทรับเหมาที่ติดตั้งระบบไฟฟ้าในงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมซึ่งเคยรุ่งเรืองแต่ปัจจุบันประสบวิกฤตจากงานมีน้อยลง ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริหารจึงอยากหาวิธีลดต้นทุนการผลิตในทุกๆ ด้าน ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ต่างก็คิดเหมือนกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุนก็คือยอดขายต่ำ จึงไม่มีใครคิดถึงสาเหตุอื่นๆ

โดยปกติแล้วหัวหน้าผู้คุมโครงการจะขนย้ายวัสดุอุปกรณ์จำนวนมากจากโกดังไปยังสถานที่ก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการเดินทางไปหน้างานแต่ละครั้งจะช้ากว่ากำหนดประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะกว่าจะเข้าไปในโกดังและสามารถรวบรวมสิ่งของที่จำเป็นให้ครบ ก็ต้องใช้เวลานาน แต่ทุกคนที่หน้างานเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

เมื่อผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการของเพื่อนคนนั้น ผมเห็นโกดังที่มีวัสดุอุปกรณ์กองใหญ่รวมกันมั่วไปหมดโดยไม่มีระเบียบ ข้าวของถูกวางเกะกะ จึงทำให้ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีอะไร อยู่ที่ไหน และแต่ละอย่างมีจำนวนเท่าไร ในสภาพเช่นว่านี้กว่าจะหาของได้ครบจำนวนจึงลำบากมาก

ผู้จัดการโครงการก็ได้แต่หัวเราะกับความเคยชินที่เป็นเช่นนี้มานานแล้ว

ดังนั้นองค์กรที่มีความสามารถในการผลิตสูง (มีกำไร) จึงต้องดูแลโกดังหรือที่เก็บของให้ดีก่อน ทั้งเรื่องของการสะสางและความสะดวกด้วยการจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ โดยยึดหลักการที่ว่า แม้จะเป็นพนักงานใหม่ก็ยังรู้ว่าวัสดุอุปกรณ์แต่ละชิ้นอยู่ที่ไหนและมีจำนวนเท่าไรบ้าง และผู้บริหารจะต้องไม่แบกภาระจากการเก็บสินค้าสำเร็จรูปไว้ในโกดังจนมากเกินไปด้วย

Advertisement

สิ่งสำคัญของการกำจัด “ความสูญเปล่าที่ซ่อนเร้น” ก็คือ การต้องทบทวนทุกอย่างใหม่ ด้วยการกำจัด “ความสูญเปล่าที่มองเห็น” ให้หมดก่อน เพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรที่ซ่อนเร้น หรือมองไม่เห็นบ้างหรือไม่ (คือทำให้ความสูญเปล่าที่ซ่อนเร้นกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้) และสามารถจะจัดการต่อไป

ทุกวันนี้ “ประสิทธิภาพในการผลิต” ของทุกองค์กร จึงตัดสินได้ทันทีจากสภาพโกดังที่เก็บของ

เฉกเช่นเดียวกับ “ความสูญเปล่าทางการบริหาร” ที่ตัดสินด้วยการมี “วิธีการ” มากมายที่หลงใช้โดยไม่ได้ผล ครับผม

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image