จิตวิวัฒน์ : สงครามชีวิต สนามรบในจิต : โดย สมพล ชัยสิริโรจน์

เราเคยบ้างไหมลืมตาตื่นขึ้นมาแต่ละเช้าแล้วแทบจะอยากหลับตาลง ด้วยความเหนื่อยล้าในใจครอบงำ เมื่อจำต้องนึกถึงหน้าตาของผู้คนที่จะต้องผจญด้วยในวันนั้นๆ นับตั้งแต่หน้าของคนที่นอนอยู่ข้างๆ หน้าของลูกเด็กเล็กแดงหรือเติบใหญ่ในห้องข้างบน จนถึงหน้าผู้คนที่ต้องทำงานด้วยจะเป็นลูกน้องหรือลูกพี่ก็ตาม ยังไม่รวมไปถึงหน้าญาติพี่น้องอย่างน้อยบางคน หรือหน้าคนรถคนรับใช้ หรือแม้แต่ยามหน้าหมู่บ้านก็ตาม

หน้าแต่ละคนที่ต่างเชื้อชวนให้เราหงุดหงิดรำคาญใจ จนเหมือนเป็นอริปฏิปักษ์ฝ่ายตรงกันข้ามในยามศึก ที่กระตุ้นให้เราจำต้องสวมเสื้อเกราะและจับอาวุธเข้าต่อกรกับเจ้าของใบหน้าเหล่านั้น

แต่ละคนต่างเรียงหน้ากันเข้ามาตั้งแต่เราตื่นนอนจนกลับไปล้มลงนอน ราวกับเป็นข้าศึกที่แสนจะไม่นึกคิดอะไรให้ใกล้เคียงกับที่เราคาดหวังและต้องการ ต่างก็ทำอะไรตามใจชอบอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ของเราเลย เราอยากให้ทำอะไรให้เสร็จไปโดยเร็ว แต่ละคนก็ยืดยาดเชื่องช้า หรือในทางตรงกันข้าม เราอยากให้ทำอะไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็มีแต่คนเร่งรัดเร่งรีบ เราอยากจะพูดอะไรตรงไปตรงมาให้เข้าใจตรงตามใจเรา ก็มีแต่คนอ่อนไหวรู้สึกโดนกระทบหัวใจง่ายเหลือเกิน

หรือในทางตรงกันข้าม เราอยากให้ใครต่อใครทะนุถนอมใจเรา ก็มีแต่คนพูดจาฟาดฟันเชือดเฉือน เราอยากให้ใครต่อใครสุภาพมีสัมมาคารวะ เราก็เจอแต่คนเอะอะปึงปังทำอะไรใส่หน้าเราจนหน้าชา หรือในตรงกันข้าม เราเป็นคนตรงไปตรงมา ก็เจอแต่คนต่อมน้ำตาตื้น พูดอะไรนิดหน่อยก็น้ำหูน้ำตาไหล น่ารำคาญ จนรู้สึกว่า วันๆ ใบหน้าทั้งหลายรอบตัวนั้นกำลังระรานเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

Advertisement

ความรู้สึกในแต่ละวันเหมือนการทำสงคราม แต่ละวันเหมือนต้องเผชิญข้าศึกที่ต้องเอาชนะ และถึงแม้จะพูดอยู่ในใจว่า ช่างมัน ช่างเขา ตัวใครตัวมัน แต่ลึกลงไปเราก็อยากให้มันหรือเขาเหล่านั้นเป็นไปตามใจเรานึกคิดและคาดหวัง แต่ก็ผิดหวังอยู่เสมอๆ ยิ่งอยากจะควบคุมให้เขาหรือมันนั้นเป็นไปดั่งใจ ยิ่งเหมือนต้องใช้พละกำลังและอาวุธต่างๆ ไล่ล่าหรือขู่บังคับกันทีเดียว และบ่อยครั้งเมื่อต้องเผชิญกับคู่ปรับที่ไม่ยอมก้มหัวให้ กลับจับอาวุธลุกขึ้นสู้ ความสัมพันธ์ใดๆ ก็กลายเป็นการรบพุ่งขึ้นมาทันที

สงครามชีวิตที่เราแสนจะหงุดหงิดเมื่อเอาพิชิตไม่ได้ เอาชนะใจผู้คนเจ้าของใบหน้าที่กวนประสาทนั้นไม่ได้ ยิ่งเอาชนะไม่ได้เรายิ่งออกรบ ยิ่งทำสงคราม ยิ่งใช้เหตุผล หน้าที่การงาน ข้อกล่าวอ้างต่างๆ ทางจริยธรรม ศีลธรรม รวมทั้งกฎหมายเป็นอาวุธ ในที่สุดที่จะกะเกณฑ์ให้เจ้าของใบหน้ารอบตัวเรานั้น ยอมรับว่าเราเป็นใคร และทำตามที่เราต้องการ ซึ่งหากเจอคนที่อ่อนแอหรือไม่อยากเอาเรื่องเอาราวด้วย เขาก็ยอมๆ ไปให้หมดเรื่องหมดราวเป็นครั้งคราว แต่เมื่อเจอคนเอาจริงที่เขาก็พร้อมจะทำสงครามด้วย ความรู้สึกขัดแย้งระหว่างกันก็ไม่มีสิ้นสุด ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนรัก หรือสายเลือดเดียวกันก็ตาม

เรารบกับผู้คนรอบข้างทั้งคนแปลกหน้าและคนใกล้ชิด เราขัดแย้ง เห็นดีเห็นงามต่างกัน ไม่รู้สึกเข้าพวกกับเขาบ้าง รู้สึกว่าต้องสู้อยู่ตามลำพังบ้าง “ทำไมไม่มีใครเข้าใจฉันเลย” เป็นไปได้ไหม เพราะเราอยู่ในสภาวะของนักรบตลอดเวลา ปล่อยให้ตนเองอยู่ในสงครามเสมอๆ เห็นความขัดแย้งเป็นเวทีที่จะแสดงความสามารถ เหมือนนักการทหารเห็นสงครามคือเครื่องแสดงวีรกรรม ไม่ว่าจะเสียหายแค่ไหน

Advertisement

แล้วเราเอาความรู้สึกเป็นนักรบนี้มาจากไหนกัน เราพาตัวเข้าสงครามกับผู้คนรอบข้างอยู่เสมอๆ ได้อย่างไร

เราเห็นใครต่อใครกำลังคุกคามเราจนเราต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง สู้รบเพื่อแย่งชิงพื้นที่หรือรักษาอาณาจักรส่วนตัวของเราไว้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างไร

เป็นไปได้ไหมว่า เราเติบโตมากับสงคราม เราไม่เคยมีชีวิตที่สงบสุข ในอดีตนับแต่ก่อนจำความได้เสียอีกที่เราต้องแย่งชิงไม่ใช่เพียงอาหารเลี้ยงท้อง แต่ต้องเรียกร้องให้ใครๆ มารัก มาเข้าอกเข้าใจ เป็นไปได้ไหมว่า เราต้องแย่งชิงรบพุ่งกับพี่น้องของเรา เพื่อเป็นใครสักคนในสายตาของพ่อหรือแม่ เป็นไปได้ไหมว่า เพื่อให้คนในครอบครัวยกย่อง เราต้องทำให้ครูที่โรงเรียน อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยยกนิ้วหัวแม่โป้งให้

เป็นไปได้ไหมว่า เพื่อให้เพื่อนๆ ก้มหัวให้เรา หรืออย่างน้อยเพียงแค่หยุดแหย่หยุดล้อว่า เราไม่เอาไหน เราจึงทำทุกอย่างที่จะเอาชนะในเกมกีฬาต่างๆ เพื่อให้ได้มิตรภาพจากพวกเขา เป็นไปได้อีกไหมว่า เราไม่เคยเข้านอนด้วยสันติสุขในใจ แล้วไม่เคยตื่นมาโดยไม่กังวลว่า เราจะต้องเหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ หากไม่เหนือกว่าแล้ว เราจะรู้สึกพ่ายแพ้ ไม่เป็นที่รัก ไม่มีใครเห็นหัว เราจึงต้องสู้รบสุดชีวิต กับชีวิตที่อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

เราสู้รบตบมือกับผู้คนจนลืมว่า เราไม่ใช่เด็กนักเรียนคนนั้นแล้ว เราไม่ใช่เด็กเล็กๆ ที่คอยปาดน้ำตาตนเองไม่ให้ไหลเวลาที่พ่อแม่บอกว่า อย่ามาทำตัวขี้แยงอแงนะ เราไม่ใช่คนที่ไม่มีใครรู้จักแล้วเดินอยู่อย่างโดดเดี่ยวในห้องสมุด ในห้องเรียน กลางสนามอีกต่อไป ที่คอยถามตนเองว่า มีใครเห็นฉันบ้างไหม วันนี้สงครามเหล่านั้นผ่านไปแล้ว เราเติบโตทำงานทำการอย่างมั่นคงพอควร เรามีครอบครัวของเราเองที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกงเกวียนกำเกวียนซ้ำอดีตของเราที่เคยเป็นมา วันนี้เราก็เรียนจบผ่านมา ทำงานอย่างที่เราคิดนึกไว้ หรือจำเป็นต้องทำ แล้วเราก็ทำได้ดี มีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร สู้รบกับคู่แข่งในธุรกิจบ้าง รบกับคนร่วมงานบ้าง เป็นธรรมดาตามสถานการณ์ แต่หากเราไม่รู้ทันว่า เราเคยผ่านสงครามชีวิตอะไรมาบ้าง แล้วเราปล่อยให้สงครามในอดีตยังขับเคลื่อนเราอยู่

เราจะรบกับทุกคน ทำสงครามกับทุกคน แต่เมื่อเราไม่รู้ทันว่า ตนเองอยู่ในสงคราม เราจะก่อสงครามกับคนที่เรารัก และคนที่รักเรา เราจะเห็นอะไรที่แตกต่างจากเราเป็นว่า เขารังแกเรา เราต้องโต้ตอบ เราจะเห็นความเป็นตัวของตัวเองไม่เป็นไปตามที่เราคาดคือ อาการกระด้างกระเดื่องต้องส่งทัพไปปราบ ด้วยคำพูดบ้าง การกระทำบ้างที่คุกคามต่อตีเขาเพื่อให้สยบยอม

เราอาจจะก่อสงครามไปทั่ว จนเรารู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจเราเลย โดยเราลืมไปว่า สงครามนั้นหากเคยมีมาก็ยุติลงไปแล้ว เราไม่จำต้องสวมเกราะออกรบอีกแล้ว อันที่จริงแล้วเพราะเราเป็นนักรบตัวยง ยิ่งเราเป็นนักรบชั้นดี ชำนาญการรบเพียงใด เรายิ่งมองหาคู่ปฏิปักษ์เพื่อเข้ารบพุ่งด้วยเพียงนั้น

เหมือนที่ อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาสมัยใหม่ได้ว่าไว้ว่า “เมื่อกล่องเครื่องมือเรามีแต่ค้อน เราเห็นทุกอย่างรอบข้างเป็นตะปู”

นักรบในตัวเราก็เช่นกัน หากเราไม่รู้ทันนักรบคนนี้ ไม่ตระหนักว่า สงครามที่เคยมีมาได้จบสิ้นลงแล้ว เราจะก่อสงครามขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่าให้นักรบคนนี้ได้แสดงฝีมือ เราจะไม่ปล่อยให้คนรอบตัวของเรา ไม่ว่าจะที่ทำงานหรือในครอบครัวได้อยู่สุขเลย เพราะเรากลัวว่านักรบในตัวเราจะไร้สมรภูมิ

ตัวนักรบของเรานี้ไม่ได้มีความผิดเลย ปราศจากเขาเราก็ไม่มีวันนี้ เขาพาเราให้มีชีวิตที่อยู่ในขั้นดี อยู่รอดได้ถึงวันนี้ แต่วิถีที่จะเดินต่อไปอย่างเป็นสุขบ้าง คือ เลิกรบ เลิกทำสงคราม ลองหาทางเจรจารับฟังคนที่เราขัดแย้งอย่างถึงที่สุด คนที่เราเห็นว่า มันไม่เข้าท่า งี่เง่าที่สุด จะในบ้านหรือที่ทำงาน แล้วลองฟังเขาดูว่า เขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง ต้องการความเห็นอกเห็นใจ หรือการสนับสนุน หรือเพียงการรับฟังจากเราก็เป็นได้ หรือเราอาจจะได้ยิน ได้รู้สึกถึงนักรบของเขาที่กำลังเหนื่อยล้าจากการรบกับเราก็เป็นได้ สันติสุขในชีวิตอาจจะก่อเกิดจากการเจรจาต่อรอง ไม่ต่างจากสังคมหรือประเทศชาติที่เข้าสู่สงครามกัน จะยุติสงครามลงได้ก่อนที่ใครจะพังพินาศกัน ก็พอทำได้บนโต๊ะเจรจา เราเคยเจรจากับคนที่เรารัก คนที่เราเห็นว่าสำคัญต้องดูแลเพียงใด

หรือทุกครั้งการเจรจาล้มลงเพราะเราปล่อยนักรบของเราออกมาบนเวทีเจรจากับคู่กรณีในชีวิตของเราเสียบ่อยครั้ง

ที่สำคัญ เรารู้จักนักรบของเราไหม เรารู้สึกถึงพลังของเขาที่ขับเคลื่อนเรา เสียงของเขาที่คอยสั่งการเรา แรงของเขาที่ส่งเราไปข้างหน้า จนเราเข้าใจว่า เรามีแต่ทางเลือกเดียวคือต้องรบกับผู้คน หาไม่ก็จะพ่ายแพ้ตายไป ลองถอยออกไปสักก้าวสองก้าวแล้วถามตัวเองว่า คนที่เรากำลังขัดแย้งรบราอยู่ตรงหน้านั้นคือคนที่เรารักใช่ไหม คนที่เขาอุทิศชีวิตให้เรา และเราก็ต้องการทำให้เขาใช่ไหม แล้วเหตุใดเราจึงต้องทำสงครามกับเขาเหล่านั้นต่อไป

คำถามตรงไปตรงมาเหล่านี้อาจจะทำให้เราตื่นตัวและรู้จักนักรบของเขา และสามารถบอกเขาได้ว่า สงครามยุติแล้วก็เป็นได้

สมพล ชัยสิริโรจน์
FB: Somphol Chaisiriroj, FB page: Voice Dialogue for Thailand 2014
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image