ศาลฎีกายกฟ้อง ‘ตู่’ หมิ่น ‘สุเทพ’ เตรียมการใส่ร้ายเสื้อแดงต่างด้าวร่วมม็อบปี 52 ชี้คู่ขัดแย้งการเมืองแถลงป้องตัวเอง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 นายจตุพร จำเลย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า โจทก์เตรียมดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง โดยให้คนต่างด้าว 5,000 คนแฝงตัวเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนราชดำเนิน

โดยคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องนายจตุพรจำเลยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ขณะนั้นซึ่งรับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยควบคุมการชุมนุมก็ได้เบิกความว่า ทางการข่าวทราบว่ามีบุคคลต่างด้าวมาร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งได้พยายามควบคุม ขณะที่การสืบสวนสอบสวนพบว่าเหตุการณ์การชุมนุมบางครั้งสามารถถูกสร้างสถานการณ์ได้ทุกฝ่าย การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของโจทก์ที่ติดตามดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

นายสุเทพ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

Advertisement

โจทก์ยื่นฎีกาต่อ โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายจตุพรมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยนายจตุพรมีสีหน้ายิ้มแย้มและทักทายกับผู้มาให้กำลังใจ โดยมีแกนนำ นปช. อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า นายสุเทพ โจทก์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ขณะที่จำเลยเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งโจทก์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้แถลงข่าวว่าจะมีคนต่างด้าวมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง จึงเตือนผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลกำชับห้ามไม่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งโจทก์ได้ข้อมูลมาจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติและแหล่งข่าว

ซึ่งข้อความดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของจำเลยซึ่งเป็นแกนนำ นปช. อีกทั้งจำเลยยังเคยตั้งกระทู้ถามโจทก์ในรัฐสภาถึงเรื่องนี้ จากนั้นจำเลยจึงได้มีการแถลงข่าวตอบโต้คำพูดของโจทก์

Advertisement

โดยตัวจำเลยเบิกความว่า หากตัวจำเลยไม่ได้แถลงข่าวอาจจะเกิดเหตุการณ์ตามที่โจทก์อ้าง การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการแถลงข่าวดักคอโจทก์

พยานโจทก์ที่นำมาเบิกความที่อ้างว่าได้ข่าวกรองว่าจะมีต่างด้าวเข้ามาร่วมชุมนุมกับ นปช.นั้น ก็เบิกความยอมรับว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการวิเคราะห์หรือหาข่าว เป็นพียงผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับ ผอ.สำนักข่าวกรองทางด้านกฎหมาย และโจทก์ก็ไม่ได้นำ ผอ.สำนักข่าวกรองมานำสืบข้อเท็จเกี่ยวกับเรื่องการแฝงตัวของต่างด้าวในการชุมนุมแต่อย่างใด

อีกทั้งทนายจำเลยนำพยานปาก นายอารีย์ ไกรนรา และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าจะมีผู้เข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมตัวได้ 3 ราย และก็ไม่มีเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้น ส่วนเหตุที่มีการพบวัตถุระเบิดในการชุมนุมซึ่งหลังจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์โดยใช้ระเบิดปลอม ซึ่งการสร้างสถานการณ์ดังกล่าวไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด อาจจะเป็นฝีมือของรัฐบาลหรือผู้ชุมนุมก็ได้ คำเบิกความ พล.ต.ต.วิชัยถึงเรื่องดังกล่าวจึงเป็นคำเบิกความของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ศาลยังเห็นว่าพรรคการเมืองของโจทก์และจำเลยเป็นคู่แข่งปฏิปักษ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน การที่โจทก์แถลงข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ว่าจะมีคนต่างด้าวแฝงตัวชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนราชดำเนิน ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังเกิดความเสื่อมเสียและประชาชนคลางแคลงสงสัยในตัวจำเลย จำเลยย่อมที่จะมีสิทธิโต้ตอบโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้ของตัวเอง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน ยกฟ้อง

ภายหลังนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร กล่าวถึงเรื่องการยื่นขอปล่อยชั่วคราวนายจตุพรครั้งที่ 5 ว่าคงประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะยื่นขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ศาลยกคำร้องไป เนื่องจากอาจเป็นในส่วนของเรื่องเวลาความเหมาะสม แต่ส่วนตัวตนเชื่อว่าใกล้แล้วที่ศาลจะพิจารณาปล่อยชั่วคราวนายจตุพร โดยคำร้องในครั้งก่อนเราก็ให้เหตุผลว่านายจตุพรมีความสำนึกผิดและเข็ดหลาบ โดยจะให้สัตย์สาบานตนว่าจะไม่กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image