‘พล.ต.สำเริง ไชยยงค์’ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถวายงานฟุตบอลแด่รัชกาลที่10

พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ หรือชื่อเดิม สำรวย ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดประวัติศาสตร์เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ.2499 นับเป็นนักกีฬาคนแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ให้เดินทางไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล่ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก

ภายหลังเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทยคือ ทีมชาติไทยผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่นครเมลเบิร์น เมื่อ พ.ศ.2499 แต่ครั้งนั้นทีมชาติไทยปราชัยต่อสหราชอาณาจักร 0-9 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย และยังเป็นการเสียประตูมากที่สุด

ทำให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงส่ง สำรวย ไชยยงค์ และ ฉัตร หรั่งฉายา เดินทางไปศึกษาหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลระยะสั้น 3 สัปดาห์ โดยความช่วยเหลือของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2505

หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์แก่นายสำรวยให้เดินทางไปศึกษาต่อวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล่ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก โดยเน้นเกี่ยวกับวิทยาการกีฬาฟุตบอล การจัดการ การฝึกซ้อม และแบบแผนการเล่นสมัยใหม่ เพื่อการพัฒนานักฟุตบอลไทยให้มีทักษะพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ในครั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พล.ต.สำเริง ปัจจุบันในวัย 84 ปี ซึ่งได้นำเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้รับทุนพระราชทานส่วนพระองค์ และมีโอกาสถวายงานมาถ่ายทอดบอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่มีต่อวงการฟุตบอลไทย ซึ่งทำให้ พล.ต.สำเริง ได้นำศาสตร์วิชาลูกหนังระดับโลกกลับมาพัฒนาวงการลูกหนังไทย

รัชกาลที่10 ฟุตบอล

พล.ต.สำเริงเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเป็นเด็กบ้านนอกอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่ได้รับทุนของจังหวัดให้มาศึกษาวิชาพลศึกษาที่วิทยาการพลศึกษา จากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มีโอกาสได้เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาที่วิทยาลัยการพลศึกษา ซึ่งได้สอนกีฬาให้นักเรียน โดยเฉพาะการเป็นครู และโค้ชสอนฟุตบอลที่ตัวเองรักและชื่นชอบมาตั้งแต่กำเนิดอยู่แล้ว

ในช่วงเวลาที่ พล.ต.สำเริง เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยการพลศึกษานั้นเองก็ได้รับการคัดเลือกเข้าไปสอนในโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ.2505 พร้อมกับมีโอกาสได้ถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า 4 พระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเงินเดือนให้ แต่ พล.ต.สำเริงไม่ขอรับ เนื่องจากเป็นการทำงานเวลาราชการ และก็ได้รับเงินเดือนจากการเป็นอาจารย์อยู่แล้ว

หลังจากนั้น พล.ต.สำเริง ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งในช่วงเวลานั้น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้คัดเลือกโค้ชฟุตบอล 2 คน รับทุนเดินทางไปศึกษาระยะสั้น 3 สัปดาห์ ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่ง พล.ต.สำเริง และ ฉัตร หรั่งฉายา ได้รับโอกาสเดินทางไปในครั้งนั้น

ในช่วงที่ พล.ต.สำเริง ศึกษาอยู่ที่เยอรมนีสามารถสอบได้คะแนนดี และเป็นคนไทยคนแรกที่สอบผ่านการทดสอบให้ได้ศึกษาต่อในหลักสูตรต่อไป โดยที่ เดทมาร์ การ์เมอร์ ปรมาจารย์ฟุตบอลระดับโลกของสปอร์ตซูเล่ เห็นหน่วยก้านว่ามีทักษะความสามารถ และอยากให้ศึกษาต่อ แต่ปัญหาในตอนนั้นคือไม่มีทุนการศึกษา

เมื่อความทรงทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ พล.ต.สำเริง ศึกษาต่อที่สปอร์ตซูเล่ จนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง และกลายเป็นศิษย์เอกของ เดทมาร์ การ์เมอร์ จนถึงขั้นที่เยอรมนีต้องการจ้างให้เป็นอาจารย์สอนฟุตบอลเยาวชน พร้อมกับเตรียมจะมอบสัญชาติให้ด้วย

“ความรู้สึกตอนได้รับทุนพระราชทานก็ดีใจมาก อะไรที่ได้จากพระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ทำให้ผมดีใจอยู่แล้ว ทำให้ช่วงเรียนที่เยอรมนีผมตั้งอกตั้งใจ มุ่งมั่นทุ่มเทกับทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น และพยายามทำให้ดีที่สุดจนสอบได้ที่ 1 เพราะผมคิดว่าการได้รับทุนพระราชทานจะหาอะไรมาเปรียบมิได้ และทำให้ผมภูมิใจมาก ด้วยความรักในฟุตบอลพยายามศึกษาวิชาอย่างเต็มที่ทั้งด้านฟุตบอล และภาษาเยอรมัน”

พล.ต.สำเริงเล่าให้ฟังต่อว่า เดทมาร์ การ์เมอร์ พยายามถ่ายทอดวิชาฟุตบอลให้ทั้งหมด เพราะเห็นว่ามีหน่วยก้านดี และมีความเก่ง ซึ่งหลังจากนั้น เดทมาร์ การ์เมอร์ ได้เดินทางมาอบรมฟุตบอลที่ประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการฟุตบอลไทย โดยทางเยอรมนีเองก็อยากจ้างให้สอนเด็กเยอรมนีเลย แต่ต้องการนำวิชาความรู้ที่ได้ทั้งหมดกลับมาพัฒนาประเทศไทย

“ตอนนั้นผมได้ทักษะฟุตบอลสมัยใหม่หลายอย่าง ทั้งการครองบอล การจับบอล และเทคนิคต่างๆ อีกทั้งเขาอยากจ้างให้ผมสอนที่นั่น แต่ผมไม่สามารถอยู่ที่นั่นได้ เพราะจะต้องนำความรู้ที่ได้รับจากทุนพระราชทานส่วนพระองค์กลับมาทำเพื่อประเทศไทย ซึ่งเป็นความตั้งใจจริงของผมอยู่แล้ว พอผมจบหลักสูตรก็เดินทางกลับมาถ่ายทอดวิชาในประเทศไทย”

เมื่อเดินทางกลับยังประเทศไทย พล.ต.สำเริง นำความรู้มาถ่ายทอดให้เยาวชนไทย และได้ถวายงานสอนทักษะฟุตบอลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อขณะทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงมีพระปรีชาสามารถจนได้รับพระสมญาว่า “เจ้าฟ้าดาราลูกหนัง”

รัชกาลที่10 ฟุตบอล

เวลาต่อมา พล.ต.สำเริง ได้เป็นผู้ฝึกสอนสโมสรธนาคารกรุงเทพ ชนะเลิศถ้วย ข 1 สมัย และถ้วย ก 2 สมัย รวมทั้งเป็นโค้ชเยาวชนทีมชาติไทย จากนั้นได้นำเยาวชนมาฝึกซ้อมฟุตบอลบริเวณด้านข้างสนามศุภชลาศัย ก่อนย้ายไปฝึกซ้อมที่บริเวณสวนพุดตาน ถนนราชวิถี ใกล้กับโรงเรียนจิตรลดา และได้รวบรวมนักฟุตบอลก่อตั้งเป็น สโมสรราชวิถี เมื่อ พ.ศ.2511

สโมสรราชวิถีได้รับฉายาว่า “สโมสรชาววัง” เป็นทีมที่เล่นแบบโททัลฟุตบอลคือ ผู้เล่นสามารถสลับตำแหน่งกันเล่นได้ตลอด 90 นาที โดยราชวิถีประสบความสำเร็จชนะเลิศรายการสำคัญ ทั้งฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย 6 สมัย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วย ก 4 สมัย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ 1 สมัย จนทำให้ พล.ต.สำเริง ถือเป็นหนึ่งในปรมาจารย์แห่งวงการลูกหนังไทย

พล.ต.สำเริงมีพี่น้องรวม 6 คน โดย “ไชยยงค์” เป็นตระกูลแรกสุดที่ติดทีมชาติไทยมากที่สุดทั้ง 6 คนคือ พล.ต.สำเริง ตำแหน่งกองหน้า ติดทีมชาติ พ.ศ.2499-2506, สนอง กองหลัง พ.ศ.2508-2515, สุพจน์ กองหลัง พ.ศ.2509-2511, สุพัฒน์ กองหลัง พ.ศ.2512-2514, สนุก กองกลาง พ.ศ.2513-2514 และเสนอ กองกลาง พ.ศ.2512-2513 ด้านชีวิตครอบครัว พล.ต.สำเริง สมรสกับ คุณหญิงเพ็ญศรี ไชยยงค์ และเคียงข้างกันนานกว่า 60 ปีแล้ว โดยมีบุตรสาว 2 คน

นอกจากนี้ พล.ต.สำเริง ยังเข้ารับราชการทหาร สังกัดกรมราชองครักษ์ และได้ถวายงานตามเสด็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งที่ทรงเสด็จประพาสประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเวลาต่อมาด้วย รวมทั้งได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 10 ขณะทรงเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงเสด็จศึกษาวิชาด้านการทหารที่ประเทศออสเตรเลียด้วย ซึ่งนับว่า พล.ต.สำเริง มีโอกาสได้ถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาอย่างยาวนานกว่า 55 ปี

 ครั้งถวายงานตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ครั้งถวายงานตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ปรมาจารย์ลูกหนังไทยเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงหนึ่งว่าอยากจะลาออกจากการเป็นข้าราชการทหาร เพื่อมาทำงานด้านฟุตบอลอย่างเต็มตัว จึงได้หาโอกาสรอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดย พล.ต.สำเริง ได้กราบพระบาท ก่อนบอกว่า อยากจะลาออกจากทหาร เพื่อมาทำฟุตบอลเต็มตัว

“ผมหาโอกาสเข้าเฝ้าฯเพื่อจะกราบเรียนว่าอยากจะลาออกเพื่อมาทำฟุตบอล แต่พระองค์ท่านรับสั่งว่าให้เวลาเพื่อให้คิดดีๆ 3 วัน แต่พอยังไม่ถึง 3 วัน พระองค์ท่านเสด็จฯมาที่ตึกทำงานผม และรับสั่งว่า ไม่ต้องลาออก ให้เอาเวลาว่างจากการเป็นทหารในช่วงเย็นไปดูแลฟุตบอล ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงเย็นผมก็นำนักฟุตบอลมาฝึกซ้อมกันตามที่พระองค์ท่านรับสั่ง ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างมากสำหรับตัวผมเองที่มีความรักในฟุตบอล”

แม้ว่าปัจจุบัน พล.ต.สำเริงอาจจะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับวงการฟุตบอลไทยในขณะนี้ มากนัก แต่ยังติดตามอยู่ โดย พล.ต.สำเริงได้ฝากข้อคิดถึงวงการฟุตบอลไทยในรุ่นหลังว่าจะต้องมีวินัยเป็นสำคัญ เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจ ซึ่งจะต้องมีวินัยเป็นสำคัญที่สุด เพราะคำว่าวินัยได้คลอบคลุมไปถึงด้านต่างๆ อีกมากมาย

“ทุกวันนี้ผมมีทุกอย่างเพราะพระองค์ท่าน เนื่องจากเมื่อก่อนเป็นเด็กบ้านนอกธรรมดา และไม่คาดคิดว่าจะได้รับทุนพระราชทาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทั้งการได้รับทุนพระราชทานส่วนพระองค์ และความรักในฟุตบอลได้สอนให้ผมเป็นคนที่มีความอดทน มีความซื่อสัตย์ แม้จะเป็นคนจน แต่ก็ไม่โลภมากมักมาก จนชีวิตดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้ และภูมิใจเป็นอย่างมากที่มีโอกาสได้ถวายงานพระองค์ท่านมาอย่างยาวนาน”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ได้รับทุนพระราชทานส่วนพระองค์ในครั้งนั้น ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และยังนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่มีส่วนช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทยให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ด้วยอายุ 86 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักของคนวงการฟุตบอลไทย

พล.ต.สำเริง ไชยยงค์
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ขณะศึกษาที่ต่างประเทศ
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ขณะศึกษาที่ต่างประเทศ
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ขณะศึกษาที่ต่างประเทศ
พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ขณะศึกษาที่ต่างประเทศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image