เสวนาคนไทยใต้รธน.ใหม่ คำนูณ ชี้ ปีแรกถึงขั้นช็อก บรรเจิดเชื่อระบบอุปถัมป์กลับมาเข้มข้น

เสวนาหัวข้อ “ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 3 ธันวาคม ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายอุดม รัฐอมรฤต โฆษกกรธ. กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ กับการปฏิรูปประเทศ” ว่า กรอบในการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการพยายามทลายอำนาจดิบ ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มไหน ตระกูลไหน ก็ต้องกลับมาเข้ามาอยู่ในกฎระเบียบเดียวกัน เราจึงเขียนรัฐธรรมนูญแบบสั้น เพื่อให้ทุกคนเห็นในหลักการเท่าๆกัน ทั้งนี้ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้น คือ 1.สร้างหลักประกันสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนให้ใช้ได้จริง 2.สร้างกลไกให้เกิดระบบผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน 3.สร้างกลไกกลั่นกรองผู้ที่จะมาเป็นผู้แทนของประชาชน 4.สร้างกลไกที่เปิดเวทีให้กับความเห็นที่แตกต่าง 5.สร้างกลไกควบคุม ตรวจสอบ ที่มีประสิทธิภาพ 6.สร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ และ7.สร้างกลไกปฎิรูปบ้านเมืองให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขยาก แต่เราขอยืนยันว่า เราไม่ได้คิดจะมัดมือมัดเท้านักการเมือง และไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อรองรับอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง ตนเชื่อว่า สังคมตัดสินได้ และหากวันข้างหน้าหากมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือต้องเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ ทุกอย่างต้องค่อยๆเป็น ค่อยๆไป

จากนั้นเวลา 10.30 น. เริ่มการเสวนาหัวข้อ “ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สปท. กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไป 6 ปี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงชนิดที่เราคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในปีแรกที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เราอาจจะมีการช็อก หรือเกิดการพลิกล็อกกันอย่างมาก ตนก็หวังว่าเราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ เพราะที่ผ่านมาเราติดหล่ม หรือกับดักทางการเมืองมาตลอดกว่า 10 ปี สิ่งที่คนไทยจะได้เห็นจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การสร้างกลไกให้มีการปฎิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง จะแตกต่างจากฉบับที่มีมา ใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามแต่ ทุกรัฐบาลที่เข้ามานับจากนี้ไปต้องถูกผูกพันโดยรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการปฎิรูปประเทศตลอดไป ตราบเท่าที่พ.ร.บ.ฉบับแรกที่ประกาศใช้ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยแผน และขั้นตอนการปฎิรูปประเทศกำหนด เพราะจะต้องมีการประกาศและบังคับใช้ใน 120 วัน ที่สำคัญที่สุดคือ พ.ร.บ.นี้เราจะได้เห็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศมารับไม้จากสปท. แต่จะเป็นอย่างไรนั้นตนไม่ทราบ ซึ่งจะต้องมีแผนการปฎิรูปประเทศ และต้องดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล โดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกเรื่อง

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้ ซึ่งพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์นี้เมื่อบังคับใช้แล้วจะต้องเกิดแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นภายใน 1 ปี นับจากวันที่ประกาศใช้ ซึ่งตนคิดว่าจะคาบเกี่ยวก่อนช่วงที่รัฐบาลใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น จะมีผลผูกพันธ์ต้องการจัดทำนโยบาย และงบประมาณรายปรของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังม่บทเฉพาะกาลที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.ยังคงอยู่ แต่ที่เป็นครั้งแรกคือ กำหนดให้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังคงอยู่ด้วย นั่นเท่ากับมาตรา 44 ยังคงอยู่ นั่นเท่ากับเรามีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่เชิงโครงสร้างก่อนที่อำนาจคสช.จะมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่ ส่วนสมาชกวุฒิสภา ชุดแรกจะมีอายุอยู่ 5 ปี โดยมีที่มา 3 ส่วน คือ สรรหา 50 คน จากกลุ่มต่างๆ 20 กลุ่ม อีก 200 คน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 194 คน มาจากการสรรหาของคสช. และ 6 ตำแหน่งมากผู้นำเหล่าทัพ เราคงจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งวุฒิสภาชุดแรกนี้ยังมีอำนาจหน้าที่พิเศษ คือ ต้องร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่มีสิทธิเสนอสำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญๆจะให้กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ในสภาน่าติดตามอย่างมาก และทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์วันเลือกตั้งที่แน่นอนๆได้ คาดได้เพียงประมาณปลายปี 61

Advertisement

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า และกมธ.ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน กล่าวว่า ตนคิดว่าชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปแน่ แต่จะเปลี่ยนอย่างไรตนคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวพวกเราด้วย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้แนวการร่างไม่ได้เป็นไปตามแนวรัฐธรรมนูญนิยมที่เน้นเรื่องสถาบันต่างๆ แต่พูดถึงกระบวนการที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างการปฏิรูปประเทศ ประเด็นอีก คนไทยกับการปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปเป็นเจตนารมย์ของประชาชนตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 57 ดังนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือกระบวนการเตรียมการเรื่องการปฏิรูป ต่อมาประเด็นที่สองคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้วางหลักไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมมีหลายระดับ ภาคประชาชนได้เตรียมการอย่างไรแล้วหรือไม่ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป วินาทีนี้ภาคประชาชนต้องตระหนักรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่นั่งรอการเปลี่ยนแปลง ประเด็นที่สามคือ เนื่องจากกระบวนการปฏิรูปประเทศเป็นกระบวนการใหญ่ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่าให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มาดำเนินการปฏิรูปประเทศ สุดท้าย ตนคิดว่า ถึงตอนนี้องค์กรภาคประชาชนตจะต้องเตรียมการในเรื่องนี้ เพราะหากการปฏิรูปไม่มีส่วนของภาคประชาชนเข้าไปกำกับ การปฏิรูปจะไม่สามารถส่งผลต่อประชาชนในแง่บวกได้ แต่อาจจะเป็นการไปเพิ่มอำนาจรัฐ ฯลฯ

นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นคนไทยกับรัฐธรรมนูญนั้น นวัฒกรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประการหนึ่งคือหมวดหน้าที่ของรัฐจะมีผล 2 ประการ คืออาจส่งผลบวกแก่ประชาชน คือ หากหน่วยงานของรัฐไปถอดรหัสแล้วสร้างเป็นผลงานจะเป็นผลดีแก่ประชาชน แต่จะทำให้มีคดีฟ้องร้องไปยังศาลจำนวนมาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจประชาชนในการยื่นฟ้องได้ สำหรับภาคการเมือง ประเด็นแรกคือ พรรคการเมืองไทยจะเชื่อมกับระบบทุนเหมือนเดิม พรรคอุดมการณ์มวลชนจะไม่มีโอกาสเกิดเพราะระบบเลือกตั้งใบเดียวจะทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้มข้นขึ้น นี่คือการวิเคราะห์ตามสภาพสังคมไทย และบุคคลจำนวนไม่น้อยจะถูกตัดออกจากระบบเพราะคุณสมบัติ ข้อห้ามต่างๆ รวมถึงการจะเอานักการเมืองออกจากตำแหน่งจะง่ายขึ้น เพราะมีการไปยึดโยงกับเรื่องจริยธรรมร้ายแรง ส่วนระบบการตรวจสอบองค์กรของรัฐนั้น มาตรการที่วางระบบเข้มขึ้น คือ การจัดทำงบประมาณของรัฐ ถ้ามีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการจัดทำที่มิชอบ ครม.ทั้งคณะไปเลย ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ได้เพียงครั้งแรกเท่านั้น เพราะครั้งที่สองเขาจะหาทางเลี่ยง ทางหลบ ดังนั้นมาตรการนี้ต้องมีพลวัตร ทั้งนี้ ภาพใหญ่ของการตรวจสอบเราไม่เห็นมิติของภาคประชาชน แต่ขอให้มีในกฎหมายระดับล่างๆ เพราะการมีกลไกรัฐเพียงลำพังทำให้มีความเสี่ยงต่อประเทศเช่นเดียวกัน

ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ก็อยู่ที่ประชาชนมีอำนาจมากน้อยเพียงใด กลไกในการบริหารจัดการประเทศต้องวางอำนาจที่แท้จริงไว้ให้อยู่กับประชาชน แล้วรัฐธรรมนูญที่กำลังจะได้ใช้ประชาชนมีอำนาจแท้จริงหรือไม่ การที่พี่น้องประชาชนจะมีอำนาจก็ต้องดูว่าตัวแทนของพี่น้องประชาชนจะสามารถทำงานให้พี่น้องประชาชนได้ขนาดไหน ซึ่งประชาชนจะต้องสามารถตรวจสอบผู้แทนของตนเองได้ด้วย คนที่สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีคนดี-คนเลว พรรคดี-พรรคเลว การบอกว่า ห้ามส่งคนเลวลงจึงไม่ใช่ เพราะแม้จะส่งคนดีลงแต่ไม่ได้รับเลือกก็มี นอกจากนี้ สว. 250 คน ถ้าคสช.ไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้เป็นหรอกสว. ก็อยากถามว่า พราน้องประชาชนคนไทย 60 กว่าล้านคน เชื่อว่า คสช.จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้ดีกว่าพี่น้องประชาชนเองหรือ ประชาชนคงไม่เชื่ออย่างนั้น แต่สว.ที่คสช.เลือกเหล่านี้กลับมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายว่าใครที่จะสามารถเข้าไปเป็นตุลาการ หรือเข้าไปเป็นองค์กรอิสระ ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างเรื่องการพิจารณาเรื่องการทุจริตของนักการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เวลาเพียง 15 วันในการตัดสิน ข้าราชการทุจริต 200 บาท ยังใช้เวลาสอบกันเป็นเดือน แล้ว 15 วันนี้จะได้ความจริงอย่างไร ท่านจะใช้ช่องนี้ในการดำเนินการเอาครม.ออกจากตำแหน่งหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image