มทส.ปลื้มติดท็อป 6 มหา’ลัยไทย ในการจัดอันดับ ม.ชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของไทมส์

ประสาท สืบค้า

นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา สถาบันการจัดอันดับชั้นนำของโลก Times Higher Education หรือ THE ได้ประกาศผลการจัดอันดับที่เรียกว่า “Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings 2017” หรือผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy Country) ประจำปี 2017 ซึ่งในปีนี้ มทส.ได้รับการจัดอันดับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อยู่ในอันดับที่ 192 โดยเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ ติดอันดับร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยอีก 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“แม้ว่าลำดับของ มทส.จะลดลงจาก 159 ในปี 2016 เป็น 192 ในปี 2017 แต่ มทส.มีผลรวมของการดำเนินการตาม indicators ของ THE เพิ่มขึ้นจาก 19.9 เป็น 20.4 โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับ Citation ที่แสดงถึงคุณภาพผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ และ International Outlook ที่แสดงถึงความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ อันดับของ มทส.ในการจัดอันดับครั้งนี้ ยังสอดรับกับอันดับที่อยู่ในกลุ่ม 601-800 ของโลก ที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นการเน้นย้ำถึงศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และพัฒนาการของมหาวิทยาลัย ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพสูงในระดับสากล อีกทั้ง ยังแสดงถึงความสำเร็จในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของไทย และของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่กำลังพัฒนา (Developing World) พร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (World Class University)” นายประสาทกล่าว

อนึ่ง การจัดอันดับ Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปีนี้ THE ได้ทำการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาจาก 48 ประเทศ แบ่งประเภทโดยสถาบัน FTSE (http://www.ftserussell.com) ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เปรู ชิลี โคลัมเบีย สาธารรัฐเชค ฮังการี มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก โปแลนด์ ตุรกี และไทย เป็นต้น ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาจาก 41 ประเทศในกลุ่มนี้เท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ใน 300 อันดับแรกของการจัดอันดับ โดยการจัดอันดับดังกล่าว เป็นการวัดความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาในทุกภารกิจหลัก ได้แก่ การสอน การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และภาพรวมของความเป็นนานาชาติ โดยวิธีการวัด และจัดอันดับมีความระมัดระวังในการคำนวณ เพื่อให้เกิดการสะท้อนคุณลักษณะ และพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ค่าน้ำหนักคะแนนจะมีสัดส่วนสูงในด้านการเชื่อมโยงของมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม และการเป็นนานาชาติมากขึ้น โดยใช้ 13 ตัวบ่งชี้ จาก 5 ด้าน เช่นเดียวกันกับที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2016-2017 (Times Higher Education World University Rankings 2016-2017) ได้แก่ 1.Teaching: The learning environment คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน และสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ใช้อ้างอิง 30% 2.Research: Volume, Income and Reputation คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 30% 3.Citations: Research Influence การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้ 20% 4.International Outlook: Staff, Students and Research ความเป็นนานาชาติ บุคลากร นักศึกษา และงานวิจัยระดับนานาชาติ 10% และ 5.Industry Income: Knowledge Transfer รายได้ทางอุตสาหกรรม การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น 10%

Advertisement

มทส.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image