คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: นักสู้แห่ง ‘เซียรา มาเอสตรา’

REUTERS/Stringer/File Photo

ฟิเดล อาเลฮันโดร คาสโตร รุซ เป็นหลายอย่างมากในชีวิต เป็นผู้นำ เป็นนักปฏิวัติ เป็นนักพูด นักปลุกระดมที่มีเสน่ห์เหลือหลาย เป็นแม้กระทั่ง “โปสเตอร์ บอย”ของขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายทั่วโลก เป็นแม้กระทั่งคนที่ทำให้การปฏิวัติสังคมนิยม “เซ็กซี่”ควบคู่กับสหายร่วมขบวนการอย่าง เช เกวารา ผู้ที่ทำให้หนวดเครา ซิการ์ และหมวกทหาร กลายเป็น “ป๊อป คัลเจอร์”ไปในหลายๆ ซอกมุมของโลก

ตัวตนเหล่านั้นเป็นที่ถกเถียงถกแถลงกันมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งไม่มีใครโต้แย้งก็คือความเป็น “นักสู้”ฟิเดล คาสโตร ต่อสู้มาตลอดชีวิต ต่อสู้กับเผด็จการทหาร ต่อสู้และเอาชีวิตรอดจากเงื้อมมือของจักรวรรดินิยมอเมริกัน ต่อสู้เพื่อหลอกล่อมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียต ต่อสู้และได้ชัยชนะในทุกคราว จนผู้นำของประเทศเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียนแห่งนี้กลายเป็น “ตัวละคร”สำคัญยิ่งบนเวทีโลกในยุคศตวรรษที่ 20

นี่คือคนที่ผู้นำมหาอำนาจอย่าง นีกีตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียตให้การยอมรับนับถือ เป็นคนที่ปัญญาชนในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌ็อง-ปอล ซาร์ต และ ซิโมน เดอ โบวัวร์ ค้อมหัวให้คาสโตรแผ่อิทธิพลเหนือขบวนการปฏิวัติทั่วทั้งในแอฟริกาและละตินอเมริกา

อิทธิพลของคาสโตรยืนยงมาจนกระทั่งกลายเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจของผู้นำร่วมสมัยอย่าง ฮูโก ชาเวซ ที่เวเนซุเอลา และ อีโว โมราเลส ที่โบลิเวีย

Advertisement

นักสู้อย่างคาสโตรเพียงพ่ายแพ้ต่อสังขารและโรคภัย เขาเสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 90 ปี ยืนยาวกว่าผู้นำโลกหลายรายที่เขารับมือด้วยตลอดมา

คาสโตร เกิดในครอบครัวกฎุมพี แองเกล คาสโตร ผู้เป็นพ่อเป็นสเปนิชอพยพ มาปักหลักและกลายเป็น “เจ้าที่ดิน”ที่ประสบความสำเร็จในตอนกลางของประเทศ ลีน่า รุซ ผู้เป็นแม่เป็นสตรีคิวบาจาก ปินาร์ เดล ริโอ เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากบาทหลวงนิกายเยซูอิทส์ ก่อนที่จะเข้าเรียนนิติศาสตร์เพื่อเป็นนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยฮาวานา

คาสโตรเป็นนักพูดตัวยงมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา และยังเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จของมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำนักศึกษาที่โดดเด่นเหนือใครอื่นในรุ่นเดียวกัน

Advertisement

ปี 1952 ฟุลเคนซิโอ บาติสตา อดีตจอมเผด็จการหวนกลับสู่อำนาจอีกครั้งผ่านการรัฐประหาร กลายเป็นจุดหักเหสำคัญของคาสโตรหนุ่มที่เคยวาดหวังจะก้าวเดินบนเส้นทางการเมือง และนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้นที่สามารถแก้ปัญหาการครอบงำของเผด็จการทางการเมืองได้

คาสโตรทำอย่างที่คิด ด้วยการนำเอานักปฏิวัติกลุ่มหนึ่งจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจทหารในมือบาติสตา เริ่มด้วยการบุกเพื่อยึด “มอนคาดา”ใน ซานติอาโก เด คิวบา ค่ายทหารใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1953 ลงเอยด้วยความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

กบฏส่วนใหญ่ถูกจับ หรือไม่ก็ถูกสังหาร คาสโตร รอดชีวิตมาได้ แม้จะพ่ายแพ้ยับเยิน แต่ “ขบวนการ 26 กรกฎา”กลับไม่ตาย ตรงกันข้ามความเคลื่อนไหวครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการรวมสรรพกำลังเพื่อปฏิวัติคิวบาในเวลาต่อมา

คาสโตรได้รับอภัยโทษในอีก 2 ปีต่อมา เขาหนีออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ในเม็กซิโกพร้อมกับน้องชาย ราอูล ที่นั่น คาสโตรเริ่มจัดตั้งและฝึกกองกำลังติดอาวุธสำหรับเตรียมไว้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือขบวนการเคลื่อนไหวพลเรือน เพื่อการโค่นล้มบาติสตา

ที่นี่เอง ที่คาสโตรพบกับนายแพทย์นักปฏิวัติชาวอาร์เจนไตน์อย่าง เช เกวารา ทำความสนิทสนม แลกเปลี่ยนความฝันและความทะเยอทะยานทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาในบ้านเกิด โน้มน้าวหมอนักเคลื่อนไหวให้เข้าร่วมขบวนการ

เช เกวารา ตอบตกลง และออกเดินทางพร้อมกองกำลังเล็กๆ ของคาสโตรจากเม็กซิโก มุ่งหน้าไปยังคิวบาด้วยเรือยนต์ลำเล็กที่รั่วอยู่ตลอดเวลา ในเดือนธันวาคมปี 1956

คาสโตรและกองกำลังขึ้นบกทางตะวันออกของประเทศ ถูกจู่โจมจากทหารในกองทัพบาติสตา กองกำลังที่เล็กอยู่แล้วเล็กลงไปอีก

มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เหลือรอดมาและหลบหนีขึ้นสู่ป่าทึบเหนือเทือกเขา เซียรา มาเอสตรา เยียวยาบาดแผล ฟื้นกำลัง แล้วเริ่มต้นการติดต่อกับชาวไร่ชาวนา จัดตั้งสายใยเชื่อมโยงกับฝ่ายต่อต้านบาติสตาในตัวเมืองซานติอาโก

ตลอดช่วงปี 1957-1958 กองกำลังกองโจรของคาสโตรเติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ห้าวหาญมากขึ้น ทั้งหมดเป็นไปโดยปราศจากพิมพ์เขียวหรือโรดแมป เป้าหมายแรกสุดคืออยู่รอด เมื่อแกร่งกล้าจึงเริ่มต้นการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท โดยคาดหวังเพียงว่าการคงอยู่ของกลุ่มตนอาจช่วยเหลือขบวนการต่อต้านของพลเรือนในเมืองได้เท่านั้นเอง

การณ์กลับเป็นว่า พลังของคาสโตรกลับดึงดูดทุกฝ่ายเข้ามา ขบวนการต่อต้าน พรรคการเมือง พลเรือน แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาซึ่งแทบไม่มีบทบาทในเวลานั้น ถูกสถานการณ์ทางการเมืองบีบให้เดินทางเข้ามาพบและยอมรับ “การนำ”จาก ฟิเดล คาสโตร ในหน้าร้อนของปี 1958

ธันวาคม 1958 กองกำลังภายใต้การนำของเกวารา บุกยึด ซานตา คลารา เมืองสำคัญตอนกลางประเทศได้ ถึงวันสิ้นปี บาติสตาก็เผ่นหนีออกนอกประเทศ

มกราคม 1959 คาสโตรกรีฑาทัพเข้าไปฉลองชัยชนะในกรุงฮาวานา ตอนนั้นเขาอายุเพียง 30 ปี

การปฏิวัติคิวบา เริ่มต้นตั้งแต่นาทีนั้น

กระบวนการปฏิวัติคิวบาของคาสโตร ไม่ได้ชุ่มโชกด้วยเลือดกระไรนัก เว้นเสียแต่บรรดาทหารที่ภักดีต่อบาติสตา ซึ่งถูกสังหารไปในช่วงสัปดาห์แรกๆ แล้ว ส่วนที่เหลือนับว่าสงบสันติกว่าในหลายๆ ประเทศ เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากชนชั้นกลางและผู้มั่งคั่งทั้งหลายในคิวบา หอบลูกหอบหลานและครอบครัวหลบหนีการปฏิวัติไปปักหลักอยู่ในไมอามีนั่นเอง

อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะขบวนการปฏิวัติของคาสโตรยึดถือหลักการ “ไม่กลืนกินลูกหลานของตัวเอง”ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่ของผู้คนแวดล้อมใกล้ชิดของคาสโตรสามารถดำรงชีพอย่างสงบจนกระทั่งชราภาพ

มีนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คาสโตรไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ระดับ “เคร่งครัด”เหลือหลาย ตรงกันข้ามกับ ราอูล น้องชายและ เช เกวารา สหายสนิทร่วมรบ คิวบาของคาสโตร จึงเป็นประเทศที่ลัทธิชาตินิยมพื้นเมืองมีนัยสำคัญมากพอๆ กับหลักปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์

ตำนานของ โฮเซ่ มาร์ตี้ กวีรักชาติผู้นำขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปนในศตวรรษที่ 19 มีอิทธิพลพอๆ กันหรืออาจมากกว่าอิทธิพลของมาร์กซ์ด้วยซ้ำไป

การดำรงอยู่ทางการเมืองในฐานะ “เม็กซิมั่มลีดเดอร์”ผู้นำสูงสุดของคาสโตรมาเป็นเวลายาวนาน เป็นไปได้ก็เพราะทักษะในการผสมผสานและเลือกใช้ทั้งสองอย่างนี้อย่างเหมาะสม ตามจังหวะเวลาที่สมควรนั่นเอง

คาสโตรปกครองคิวบาด้วยระบอบเผด็จการสังคมนิยมก็จริง มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายบางอย่างบางประการที่ได้รับการยอมรับกันเป็นสากลอยู่บ้างก็จริง แต่ก็อาจถือได้ว่าเป็น “ความจำเป็น”ส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ ที่สามารถช่วยให้ระบอบของคาสโตรยั่งยืนต่อไปได้

ศัตรูสำคัญที่สุดของการปฏิวัติคิวบาและเป็นศัตรูที่ยืนยงอย่างยิ่ง มีอานุภาพอย่างยิ่ง คือสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาอึดอัดและไม่ยินดีอย่างยิ่งที่ “นอกประตูบ้าน”ของตนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเผด็จการบาติสตาที่สหรัฐให้การสนับสนุนถูกโค่นล้มโดยคาสโตร แต่เหล่านี้ไม่มีพลังเพียงพอที่ทำให้สหรัฐอเมริกาจงเกลียดจงชังและพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มคาสโตรลงให้ได้ ชนิดไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล

ว่ากันว่า สิ่งที่ผลักดันให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติที่ “ไม่มีวันอยู่ร่วมฟ้า”กับ ฟิเดล คาสโตร คือการประกาศยึดกิจการทั้งหมดของเอกชนอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลในปี 1960

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงเป็นที่มาของการห้ามค้าขายกับคิวบาเท่านั้น แต่ยังลุกลามขยายตัวจนกลายเป็นการ “ปิดล้อม”คิวบาในทุกทิศทุกทาง บีบบังคับให้ชาติละตินอเมริกาตัดขาดจากคาสโตร และเป็นที่มาของการก่อเหตุหลายต่อหลายครั้ง

ทั้งการให้เงินสนับสนุนกลุ่มชาวคิวบาอพยพบุกเข้าไปในคิวบาในปี 1961 ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่ายุทธการ “เบย์ ออฟ พิก”เรื่อยไปจนถึงความพยายามของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) เพื่อลอบสังหารคาสโตรนับครั้งไม่ถ้วน และด้วยวิธีการที่นอกเหนือความคาดหมาย ตั้งแต่การวางยาพิษ เรื่อยไปจนถึงความพยายามทำ “ซิการ์ระเบิด”เพื่อให้ระเบิดใส่หน้าคาสโตรอีกด้วย

ความพยายามของสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จสูงสุดอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ผลักดันให้คิวบาหันไปพึ่งพาโซเวียตอย่างเต็มที่ในที่สุด

คาสโตรรู้ดีว่าจำเป็นต้องพึ่งพาโซเวียต แต่ด้วยความสามารถของเขา ทำให้ความสัมพันธ์ของโซเวียตกับคิวบาไม่ได้อยู่ในลักษณะของ “ประเทศใต้อาณัติ”เหมือนหลายๆ ประเทศ อาทิ เยอรมนีตะวันออก แต่เป็นมิตรประเทศที่มีความเสมอภาค เคียงบ่าเคียงไหล่กัน “ต่อสู้”กับอำนาจอิทธิพลของจักรวรรดิอเมริกัน

กระนั้น พอถึงเดือนตุลาคม 1962 คาสโตรก็ตกอยู่ในสภาพแทบ “ทำอะไรไม่ได้”เมื่อ ครุชชอฟ ลอบนำขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้ามาติดตั้งไว้ในคิวบา กลายเป็นที่มาของ “วิกฤตนิวเคลียร์”ครั้งที่หวาดเสียวที่สุด จวนเจียนที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา เมื่อ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีอเมริกันยื่นคำขาดให้ถอนขีปนาวุธออกไป

ครุชชอฟ ถูกบีบให้ถอนการติดตั้งดังกล่าวออกไปก็จริง แต่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในยุคสงครามเย็นหนนั้น ก็ทำให้โลกทั้งโลกตกอยู่ในความตึงเครียด หวาดหวั่นอยู่นานหลายวัน

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกเข้าใกล้การเกิด “นิวเคลียร์ล้างโลก”มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา

เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้คาสโตรพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อแสวงหา “แนวทาง”ที่เป็นคิวบาแท้ๆ แม้จะไม่ประกาศออกมาก็ตามที คาสโตรไม่เคยประกาศสนับสนุนแนวทางของสหภาพโซเวียตมาก่อนในช่วง 10 ปีแรก จนกระทั่งถึงปี 1968 ถึงได้ประกาศสนับสนุนการบุกยึดเชโกสโลวะเกีย ของ เลโอนิด เบรซเนฟ ในเวลานั้น

เขาต่อสู้อย่างหนักเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของคิวบาเอาไว้ในการสร้างอิทธิพลเหนือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เรียกร้องให้แต่ละประเทศสร้าง “เส้นทางของตนเอง”ในการก้าวสู่ความเป็นรัฐสังคมนิยม

อิทธิพลของคาสโตรแผ่ออกไปทั่วละตินอเมริกา สู่เปรู ปานามา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิลี ต่อไปยังแอฟริกา ที่ประเทศแอลจีเรีย อังโกลา และเอธิโอเปีย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเวียดนาม และเกาหลีเหนือในภูมิภาคเอเชีย

ฟิเดล คาสโตร กลายเป็น “ตำนาน” อยู่ยาวนานแล้ว ก่อนเสียชีวิตลงด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image