มหาดไทย สั่งด่วนที่สุด รับมือดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก 10 จ.ใต้ ปลัดมท.จี้ผู้ว่าฯลงพื้นที่

“ปภ.” สั่งเตรียมรับมือดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก 10 จ.ใต้ ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 12 18 เพื่อเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำปัตตานีระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. เนื่องจากมีกลุ่มเมฆฝนปกคลุมพื้นที่ ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร และเริ่มมีน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดดินถล่มและดินไหลได้โดยเฉพาะพื้นที่ดังต่อไปนี้ 1.จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ อ.กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร พระแสง และอ.พนม 2.จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.นบพิตำ ลานสกา ร่อนพิบูลย์ พิปูน เมืองนครศรีธรรมราช อ.สิชล 3.จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.โคกโพธิ์ มายอ อ.สายบุรี 4.จ.นราธิวาส ได้แก่ อ.ศรีสาคร จะแนะ อ.สุคิริน 5.จ.กระบี่ ได้แก่ อ.เขาพนม อ.เมืองกระบี่ 6.จ.ตรัง ได้แก่ อ.ห้วยยอด นาโย่ง ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน 7.จ.สตูล ได้แก่ อ.ควนกาหลง มะนัง ทุ่งหว้า ควนโดน อ.ละงู 8.จ.สงขลา ได้แก่ อ.หาดใหญ่ สะดา สะบ้าย้อย จะนะ อ.รัตภูมิ 9.จ.พัทลุง ได้แก่ อ.ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา อ.ตะโหมด 10.จ.ยะลา ได้แก่ อ.ธารโต เบตง อ.บันนังสตา ขอให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ กำลังพล ให้พร้อมสนับสนุนจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนาย กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด เรื่อง การบริหารจัดการเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบน้ำท่วมภาคใต้ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ระบุว่า ตามที่ได้เกิดร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านพื้นที่ภาคใต้ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.59 นั้นมท.ขอแนะนำทบทวนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยดังนี้

1.กำหนดพื้นที่ปฎิบัติการให้ชัดเจนโดยให้แบ่งพื้นที่ประสบภัยหรือคาดว่าจะประสบภัยให้ชัดเจนว่าอยู่บริเวณไหนและแนวโน้มของสถานการณ์จะลุกลามหรือขยายพื้นที่ต่อเนื่องไปบริเวณใดบ้าง

Advertisement

2.กำหนดวิธีการช่วยเหลือหรือบรรเทาภัยให้เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่เกิดเหตุเช่นพื้นราบเชิงเขาต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือกรณีดินโคลนถล่มหรือพื้นที่ราบลุ่มริมแม่นำ้ต้องเตรียมเรือส่วนพื้นที่ชุมชนให้จัดหาเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เป็นต้น

3.กำหนดหน่วยหรือผู้รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนว่าพื้นไหนใครหรือหน่วยใดเป็นผู้รับผิดชอบเช่นระหว่าง อปท.กับหน่วยราชการภูมิภาคและส่วนกลางหรือภาคเอกชนเป็นต้น

4.การจัดลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเช่นการนำประชาชนหรือช่วยเหลือประชาชนจากพื้นที่ที่นำท่วมสูง การแจกจ่ายน้ำเครื่องดื่ม/อาหาร/เครื่องนุ่งห่ม/อุปกรณ์ที่จำเป็นของผู้ประสบภัยเป็นต้น

Advertisement

5.กำหนดตัวผู้มีอำนาจบัญชาการหรือมีอำนาจตัดสินใจให้ชัดเจน

6.จัดตั้งผู้รับผิดชอบในการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ชี้แจงในเรื่องต่างๆที่ส่วนราชการได้ลงไปดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิดแล้วเพื่อให้สาธารณชนทราบทุกช่องทางและทุกระยะด้วย

7.การสรุปรายงานแผนเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติให้รายงานตามหัวข้อข้างต้นให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้รับรายงานในส่วนกลางทราบและเห็นภาพของการปฎิบัติของหน่วยในพื้นที่ซึ่งจะทำให้ผบช.ในส่วนกลางสามารถสั่งการหรือสนับสนุนหน่วยปฎิบัติในพื้นที่ได้ถูกต้องเหมาะกับสถานการณ์ในพื้นที่

มท.ขอเน้นย้ำให้ผวจ.และนอภ.รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในฐานะหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคและผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในท้องถิ่นต้องลงไปดูแลประชาชนและตรวจพื้นที่เกิดเหตุด้วยตนเองให้เป็นประจำเพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image