คุยกับ “สุขุม นวลสกุล” เส้นทาง “นักพูด” และปมดราม่า “เบส อรพิมพ์”

เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับกรณีดราม่าของ อรพิมพ์ รักษาผล หรือ เบส อรพิมพ์ นักพูดชื่อดัง

จุดเริ่มต้นจากวีซ่าไม่ผ่าน นำไปสู่การแชร์ต่อคลิปที่มีการพูดพาดพิง “คนอีสาน” จนทำให้เกิดความไม่พอใจขยายวงกว้างลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต ขุดลึกไปถึงการทำงานให้กับกองทัพ

เพราะครั้งหนึ่ง เบส อรพิมพ์ เคยพูดว่า “ตอนที่ท่านเจ้ากรมโทรไปหาเบส ท่านถามว่า พร้อมจะรับใช้ คสช.ไหม เบสก็คิดในใจว่า มันมีเหตุผลอะไรที่จะไม่พร้อม เพราะตั้งเเต่เข้ามาจนถึงวันนี้ คสช.เเสดงให้เบสเห็นอย่างชัดเจนเเล้วว่ารักประชาชน แล้วมีเหตุผลอะไรที่ประชาชนจะไม่รัก คสช.” ประกอบกับเอกสารระบุค่าตอบเเทนตามระเบียบราชการในเเต่ละครั้ง เป็นเงินชั่วโมงละ 30,000 บาท!

ถึงเเม้ เบส อรพิมพ์ จะออกมาชี้เเจงตอบคำถามหลายประเด็นพร้อมกล่าวขอโทษคนภาคอีสานทุกคน แต่กระเเสโจมตียังคงมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของ “นักพูด” หรือเป็นเรื่องปกติที่ “นักพูด” หลายคนเคยเจอ

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.สุขุม นวลสกุล นักพูดผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนาน ยังเป็นนักวิชาการที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี ก็ไม่พลาดที่จะขอคำอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้

พร้อมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตการเป็นนักพูด จากประสบการณ์ยาวนาน ที่พอจะอธิบายถึง “ความผิดพลาด?” ครั้งนี้ได้

Advertisement

มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรณี “เบส อรพิมพ์” อย่างไร?

ผมว่ามันพลาดไปเท่านั้น อย่างผมจะระวังและจำไว้ว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้น เช่น ครั้งหนึ่งผมนั่งอภิปรายอยู่ มีคุณเสนาะ เทียนทอง นั่งอยู่ด้านข้าง แล้วมีคนลุกขึ้นถามว่า นักการเมืองซื้อเสียง คุณเสนาะบอกเลยว่าอย่าพูดแบบนั้น เพราะนักการเมืองบางคนอาจจะซื้อเสียง แต่คนที่ไม่ซื้อเสียงก็มีเยอะ ดังนั้นถ้าวันนั้นคุณเบสเปลี่ยนไปพูดว่า บางส่วน บางคน บางกลุ่ม เหตุการณ์ก็จะไม่เป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นเราจะเอาคนบางกลุ่ม บางพวก มาพูดรวมว่าเป็นอย่างนั้นเป็นเรื่องต้องระวังมาก

มีวิธีลดความกดดันจากสังคมไหม?

มีทางเดียวครับ คือต้องยอมรับว่าเราผิดเราพลาด ในการที่เราสรุปเป็นการเหมารวม ซึ่งสิ่งที่คุณเบสทำก็ถูกเเล้วที่ออกมาขอโทษ ไม่ควรจะทำอะไรมากกว่านั้น จะบอกว่าไม่ได้พูดก็ไม่ได้เเล้วอย่าบอกเลยว่าตัดต่อ เพราะมันพูดชัด ต้องสารภาพอย่างเดียว

จริงๆ เเล้วเขาพูดด้วยจุดประสงค์ที่ดี เเต่ดันพาดพิงทำให้คนกลุ่มหนึ่งเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใครเสียหายเรื่องนี้เหมือนกับอยู่ในบ้านเมืองไทยไม่ได้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ทุกจังหวัดมีความรู้สึกพร้อมเพรียงกัน

บริบทสังคมมีส่วนหรือเปล่า?

มีส่วนครับ บริบทสังคมในวันนี้มันต้องระวังหมด คุณพูดกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มีการอัดเทปไปให้คนอีกกลุ่มฟัง เช่น คุณพูดกับทหารว่าทหารมีความสำคัญ มีความจำเป็นต่อบ้านเมือง คุณพูดให้ทหารฟัง ทหารเขาชื่นชม แต่ถ้าเอาออกไปข้างนอกแล้วคนที่เขาไม่ชอบทหารจะรู้สึกว่าคุณประจบประเเจงทหารทันที เเล้ววันนี้สังคมมีปัญหา มีความขัดเเย้ง มีการเเบ่งกลุ่ม ไม่ว่าจะพูดยังไง ก็จะมีคนฝั่งหนึ่งพอใจและอีกฝั่งไม่พอใจ ดังนั้นต้องยิ่งระมัดระวังเรื่องการพูด

สมมุติคุณพูดให้บริษัทหนึ่งสามัคคีกัน เเข่งกับอีกบริษัทหนึ่ง แล้วมีการโจมตีบริษัทอื่นให้คนในบริษัทนี้ฟัง เขาอาจจะตบมือชอบใจ แต่ทันทีที่ออกไปเป็นเทปหลุดไป คิดว่าอีกบริษัทเขาจะโกรธไหม

เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องรู้ว่าบริบทสังคม มันไม่ใช่สังคมที่ทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกันหมด ความคิดเห็นก็มีหลากหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือจะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด อย่างผมเองเวลาให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ ออกรายการโทรทัศน์ มีคนโทรมาที่บ้านบอกว่าผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ ผมก็บอกไปว่าผมไม่ได้ให้คุณเห็นด้วยกับผม แต่ผมตอบตามความเห็นของผม ช่วงหลังใครโทรมาผมก็บอกเลยว่าผมไม่ทะเลาะกับคนที่ไม่เห็นหน้านะ แล้วบอกว่าคุณไม่เห็นด้วยกับผม ผมก็ไม่ได้โกรธคุณ เเล้วคุณจะมาโกรธผมทำไม

เคยมีกรณีคล้ายกันนี้กับนักพูดคนอื่นหรือเปล่า?

มีครับ เช่น อ.ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ที่พูดเรื่องระเบิดน้ำมันหมู ตอนนั้นท่านเป็นนักการเมือง ท่านก็อาจจะพูดด้วยอารมณ์ขันหรืออาจจะพูดจริงก็ได้ แล้วพอพูดออกไปคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับท่าน อาจจะหาช่องโหว่ของท่าน ทำให้เกิดเป็นเรื่องอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกัน

1

อาจารย์เคยมีกรณีที่ใช้คำพูดผิดจนถูกสังคมโจมตีบ้างไหม?

เคยครับ ตอนเลือกตั้งปี 2522 ปรากฏว่า พรรคประชากรไทยชนะขาดลอยในกรุงเทพฯ ได้ 29 ที่นั่ง จาก 32 ที่นั่ง หนังสือพิมพ์โทรมาขอสัมภาษณ์ผม ซึ่งขณะนั้นเป็นคณบดีที่มหาวิทยาลัยรามคำเเหง เขาถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมคนถึงเทคะเเนนเสียงแบบล้นเลย ผมก็ตอบไปตามความรู้สึกว่า

“เท่าที่ผมสังเกตคนส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นคนชั้นต่ำ พรรคประชากรไทยเป็นขวัญใจของคนชั้นต่ำ” หนังสือพิมพ์ลงไปตามที่พูด ไม่ได้บิดเบือนเลย อีกวันผมโดนถล่มเละเพราะผมพูดผิด ตอนนั้นผมไปนึกถึงคำว่า ‘โลเวอร์คลาส’ (lower class) ซึ่งคำนี้ในภาษาอังกฤษมันแปลได้กว้างขวาง มันหมายถึงคนระดับรากหญ้า คนระดับพ่อค้าแม่ค้า เเต่พอพูดว่า คนชั้นต่ำ ในภาษาไทยมันเป็นคำที่ดูไม่ดี

ตอนนั้นคุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคโกรธมาก ผมเก็บหนังสือที่ท่านบันทึกตอนอายุครบ 60 ปีไว้ มีเรื่องคณบดีคณะรัฐศาสตร์รามคำแหง กล่าวว่า คนชั้นต่ำเลือกพรรคประชากรไทย เเล้วก็จำได้ว่ามีคนโทรมา ผมก็อธิบายว่าหมายถึงคนกลุ่มนี้นะ เเต่ก็มีคนบอกว่า ผมเป็นพ่อค้า แต่ผมไม่ใช่คนชั้นต่ำ ว่าผมเป็นคนจน ผมไม่ว่าเลยสักคำ นี่โชคยังดีที่ยุคนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตนะ

มองว่าอินเตอร์เน็ตมีผล?

อินเตอร์เน็ตมันเร็ว เเล้วมันปฏิเสธยาก เพราะมันเห็นอย่างวันนี้ข้อความในมือถือหลายสิบครั้งเป็นเรื่อง เป็นคลิปของคุณเบส ที่ถูกส่งต่อมาเหมือนกลัวเราไม่เชื่อ ส่งมาบอกว่าเขาพูดเเบบนี้ เเล้วมันยังมีการโจมตีการขุดคุ้ย ซึ่งผมอยากให้มองว่าเขาไม่ได้คิดเเบบนั้น เเต่เขาพลาดในการพูด อย่าไปคิดว่าเขาคิดรังเกียจ เขาอาจจะฝังใจกับคนบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด

ประเด็นที่โจมตีเรื่องค่าตอบเเทนจากหน่วยงานรัฐชั่วโมงละ 30,000 ล่ะ?

มันก็ราวๆ นั้น ค่าตอบเเทนของรัฐบาลราคาชั่วโมงละ 1,600 บาท สมัยผมรับราชการได้ครึ่งเดียวคือ 800 บาท แต่นักพูดอาชีพบางครั้งให้เขา 1,600 เขาไม่ไป อาจจะเรียกเพิ่ม ทีนี้ถ้าหน่วยงานนั้นๆ อยากจะให้มาพูดให้ได้ก็อาจะต้องหาเงินส่วนอื่นมาชดเชย เช่น ขอให้อธิบดีช่วยออกส่วนเกิน ขอเรี่ยไรจากคนเข้าฟังอบรมเพิ่ม หรือทำเป็นเบิกเบี้ยเลี้ยงต่างๆ เป็นเงินตอบเเทนให้กับนักพูด บางครั้งอาจจะเป็นเงินพิเศษจากการพลิกแพลงส่วนอื่น เช่นสมมุติว่าค่าอาหารหัวละ 30 บาทก็อาจจะปรับลดเหลือ 25 บาท

ผมมองว่าเอกสารที่บอกว่าพูดให้กองทัพได้เงินชั่วโมงละ 30,000 บาทก็น่าจะจริง แต่ต้องพลิกเเพลงเอา ถ้าเบิกตามระเบียบไม่ได้ กรณีแบบนี้มีการทำ หลายคนก็เคยได้ ตัวผมเองก็เคยได้เกินกว่าที่ราชการกำหนดไว้เเบบนี้เหมือนกัน อย่างมีหน่วยงานเชิญให้ไปพูดที่เชียงใหม่ 1,600 บาท จะพอได้อย่างไร ค่าเดินทางอะไรอีก เขาก็บอกไม่เป็นไรเเล้วหามาให้ เเล้วมีให้ผมเซ็นรับเป็นส่วนของเบี้ยเลี้ยงรายวัน ค่าอาหาร ค่าที่พักที่สามารถเบิกตามสิทธิมาชดเชย

ในฐานะนักพูดมองการเปลี่ยนแปลงของวงการนี้จากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไร?

สมัยก่อนการพูดเป็นเรื่องของเกียรติ เป็นการชื่นชมว่าคนนี้เก่งเรื่องพูด คนนี้มีความสามารถในการพูดดี ก็จะมีคนเชิญไปพูด เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ต่างๆ เเต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชีพเเละไม่ได้เงินค่าตอบเเทน จะได้รับเป็นของที่ระลึก เป็นเนกไทบ้าง ปากกาบ้าง ที่ถือเป็นนักพูดรุ่นเเรกๆ ที่คนให้ความสนใจเเละผมติดตาม ตั้งเเต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็จะมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศ.คุณหญิงเต็มศิริ บุณยสิงห์, คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร, พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นต้น

ต่อมาการพูดเริ่มกลายเป็นอาชีพนักพูด อ.ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เป็นผู้บุกเบิกให้นักพูดได้รับเงินค่าตอบเเทน ประกอบกับตอนนั้นประมาณปี 2526 มีรายการโทรทัศน์ “ทีวีวาที” ของ กรรณิการ์ ธรรมเกษร ทำให้คนที่ไปพูดมีโอกาสที่ได้รับความสนใจจากบุคคลในวงกว้าง ทำให้การพูดเริ่มบูมมากขึ้น

จากนั้น อ.ทินวัฒน์ ริเริ่มเรื่องทอล์กโชว์ หรือเดี่ยวไมโครโฟน แล้วมีคนมานั่งฟังเป็นคนเเรก มีเวทีใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรม ตอนจัดครั้งแรกคนฮือฮากันมาก ผมเองเป็นนักพูดรุ่นหลังที่มีโอกาสจัดทอล์กโชว์ ซึ่งการขึ้นเวทีใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรม ผมรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนการแสดงเลย ขณะที่เราพูดมาแล้วหลายปี พอเราขึ้นเวทีนั้นครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน

เเล้วการพูดก็มีการพัฒนาต่อเนื่อง เมื่อก่อนนักพูดไม่ต้องมีอะไรเลย เอาปากไปอย่างเดียว ความสำเร็จหาเอาข้างหน้า บางคนก็ล้อเลียนว่า “เอาปากไปอย่างเดียว (ตีน) หาเอาข้างหน้า” เเต่ตอนนี้ผู้พูดจะต้องมีวิธีการมากขึ้น ต้องมีอุปกรณ์ มีเพลงประกอบ

3

นักพูดยุคปัจจุบันควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

ต้องระวังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ การพูดจะต้องมีจริยธรรม ไม่พูดโกหก เเต่พูดเพราะเห็นด้วยกับเรื่องนั้นจริงๆ ผมเคยไปพูดให้ดาราฟังว่าเวลาที่มีคนจ้างให้ไปช่วยหาเสียง คิดว่าเราซื่อสัตย์ เราศรัทธาต่อคนที่จ้างเราหรือเปล่า ถ้าไม่ศรัทธาเราอย่าไปฝืนไม่อย่างนั้นจะแปลว่าเราเห็นเเก่เงิน

ตัวผมเองก็ไม่ได้รับทุกเรื่องเพราะบางเรื่องผมไม่เห็นด้วย เวลามีคนติดต่อผมบอกหัวข้อมา จะมีความรู้สึกบางอย่าง บอกเราว่าเรื่องนี้พูดได้ เรื่องนี้เราพูดไม่ได้นะ บางเรื่องผมก็จะไม่พูดเลย คือเรื่องขายสินค้า เพราะเราไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ด้านนี้มา ถ้าจะบอกว่าตัวนี้ดี แต่ไม่เคยใช้เลย เเบบนี้เป็นมือปืนเเล้ว ไม่ใช่นักพูด

คิดว่ากรณีของ เบส อรพิมพ์ ให้บทเรียนอะไรบ้าง?

ผู้พูดต้องระวังเรื่องการพูด โดยเฉพาะการพูดเเบบเหมารวม ถ้าพูดเหมารวมในทางที่ดี ไม่มีปัญหา เช่น คนภาคนั้นภาคนี้จริงใจ ถึงดูหน้าตาอาจจะเอาจริงเอาจัง แต่จริงๆ เป็นลูกผู้ชาย เจ็บร้อนเเทนเพื่อน ถ้าพูดตามลักษณะนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าพูดว่าคนภาคนั้นภาคนี้เป็นคนคบไม่ได้ เท่ากับเหมารวม

ดังนั้น อย่าไปพูดแบบเหมารวมทั้งหมด เเล้วถ้าไม่จำเป็นอย่าพูดเรื่องศาสนา การเมือง หรือความเชื่อ

“สุขุม นวลสกุล” กับเรื่องราว

กว่าจะเป็น “นักพูด”

“ผมเริ่มใช้ทักษะการพูดมาตั้งเเต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นประธานเชียร์ของคณะ ทั้งร่วมทำกิจกรรมโต้วาที พอเรียนจบก็มาเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้การพูดโดยตรง”

รศ.สุขุม นวลสกุล เล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่เขาได้ก้าวย่างเข้าสู่การเป็น “นักพูด”

จากอาจารย์สายการเมือง เริ่มเป็นที่รู้จักหลังออกรายการ “ทีวีวาที” ซึ่งเป็นรายการประเภททอล์กโชว์โต้วาที หลังจากนั้นได้รับเชิญไปพูดในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่สายที่เรียนมา เช่น เรื่องทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จ โดยในยุคที่การพูดเฟื่องฟูนั้น เขาได้รับเชิญให้ไปพูดเเทบทุกวัน

แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า นักพูดท่านนี้เคยผ่านการเรียนด้านการพูดโดยตรงจากต่างประเทศมาเเล้ว

“หลังจบปริญญาตรี ผมมีโอกาสได้เรียนการพูดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะภาษาผมไม่ค่อยดี การจะเรียนปริญญาโทที่นั่นต้องนำเสนอหน้าชั้นได้ ผมเลยได้เรียนการพูดคอร์สหนึ่ง ก็ได้รู้หลักการพูดอยู่พอสมควร ซึ่งได้นำมาใช้จนถึงทุกวันนี้”

สุขุม ยังเปิดเผยเทคนิคเฉพาะตัวว่า “ผมเป็นนักพูดให้ความบันเทิง ในเนื้อหาที่เป็นสาระบันเทิง พูดให้คนมีกำลังใจ ดังนั้นผมจะเลือกพูดเรื่องที่จับต้องได้ พูดพร้อมยกตัวอย่างให้นึกภาพออก ส่วนใหญ่จะมาจากประสบการณ์ตรง”

นอกจากนี้ทุกครั้งพอได้รับโจทย์ที่จะพูดมาเเล้ว สุขุมจะเตรียมตัวไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ หากนึกเรื่องที่ควรจะพูดได้ก็จะจดทิ้งไว้ ใกล้เวลาที่ต้องขึ้นเวที จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียง เพื่อจัดลำดับเรื่องที่จะพูดก่อนหลัง

“เนื้อหาของการพูดก็จะมีหลักอยู่ ข้อแรกที่ผมคิด คือพูดแล้วทำให้คนปรบมือได้ หัวเราะได้ เขาเรียกว่า เปิดใจคนฟัง หลักการคือให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลายเวลาฟัง ทำให้เขารู้สึกอิน มีความรู้สึกร่วม ผมและนักพูดหลายคนยึดหลักนี้นะ เเต่บางคนอาจจะพูดเพื่อให้คนมีความประทับใจ ให้มีอารมณ์ร่วมแบบน้ำตาไหล ก็เป็นนักพูดอีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน”

แล้วถ้าพูดไปเเล้วคนฟังไม่มีความรู้สึกร่วมล่ะ?

เป็นคำถามที่สุขุมใช้เวลาครุ่นคิดเพียงครู่เดียว ก่อนจะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาถ่ายทอดการเเก้ปัญหานี้ว่า

“ถ้าเขาไม่อิน ต้องพยายามเปลี่ยนเเนว เปลี่ยนเรื่อง เป็นการเเก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วแต่ประสบการณ์ของนักพูดเเต่ละคน บางครั้งเตรียมเรื่องไปอย่างดี เเต่ถึงหน้างานเเล้วต้องเปลี่ยนเรื่องก็มี” สุขุมเผยปัญหาของนักพูด

พร้อมยกตัวอย่างว่า “ครั้งหนึ่งได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์อย่างฉุกละหุกให้ไปพูดเรื่องความสำเร็จของชีวิตให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเวลา 20.00 น. สิ่งที่ผมคิดเเว่บขึ้นมาคือเด็กพวกนี้กำลังเรียนจบ เราต้องไปพูดเรื่องความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องบอกให้เขารู้ว่าเรียนจบปริญญาไม่ใช่ความสำเร็จนะ คุณยังต้องเจออีกเยอะ แต่พอไปถึงงาน ผู้ฟังกลายเป็นเด็กปี 1 ถ้าพูดว่าปริญญาไม่มีความหมาย เจ้าของงานเขาคงไม่จ่ายเงิน (หัวเราะ) จริงไหม เลยต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องเข้ามหาวิทยาลัยเรียนไม่จบไม่ได้นะ ความสำเร็จเบื้องต้นของคนเรียนหนังสือคือใบปริญญา ต้องเปลี่ยนเรื่องแบบพลิกไปเลย”

อีกเเง่มุมกว่าจะเป็น “นักพูด” ของ สุขุม นวลสกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image