Thailand 4.0 และการประดิษฐ์ความหวัง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทีวีช่องหนึ่งรายงานข่าวการประชุมที่หอการค้าไทยจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ 4.0 แล้วก็บอกว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางคนยอมรับว่า เมื่อเราเคลื่อนเข้าสู่ 4.0 ก็จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องจักรอัตโนมัติ (เช่นหุ่นยนต์) จะเข้ามาทำงานแทน คนที่ไม่อยากตกงานต้องรู้จักปรับตัว เพื่อไปทำงานใน 4.0 ประชุมเสร็จก็ทำรายงานสมุดปกขาวเสนอแก่รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ (ในงานนั้นหรือหลังจากนั้น ผมก็ไม่แน่ใจ หากส่งได้ทันทีที่เสร็จประชุม ทำไมถึงทำได้เร็วนัก หรือทำมาก่อนแล้ว ถ้าอย่างนั้นจะประชุมกันทำไมหว่า)

(ผมต้องเตือนไว้ด้วยว่า นี่เป็นรายงานข่าวทางทีวี จะตรงกับการประชุมจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักข่าวและ บก.ข่าวนะครับ)

ผมได้ยินเขาพูดกันเรื่อง 4.0 อยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกครับว่า 4.0 มันเป็นอย่างไร จึงสนใจฟังข่าวนี้ แล้วสรุปว่าถ้ามันง่ายอย่างรายงานข่าว 4.0 คือ automation (หรือกระบวนการอัตโนมัติ) แค่นั้นเอง ผมไม่ทราบว่าฝรั่งที่ไหนเป็นต้นคิดเรื่อง 4.0 ฟังดูเข้าท่าดีในยุคคอมพิวเตอร์ แต่เพราะไปใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ จึงอาจทำให้ความหมายแคบลงก็ได้ กลายเป็นเรื่องแค่กระบวนการอัตโนมัติ

และที่ว่าให้ผู้คนไปปรับตัวเพื่อจะได้ไม่ตกงาน คือไปเรียนคอมพิวเตอร์กระนั้นหรือ ผมเห็นโปรแกรมเมอร์เวลานี้ตกงาน หรือแย่งงานกันจนราคาค่าจ้างต่ำลงอย่างน่าใจหาย

Advertisement

อันที่จริงกระบวนการอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนนั้นใช้กันแพร่หลายในเมืองไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในด้านการตลาด และการระเบียนสินค้า กับการบัญชี เมื่อเอาเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนคน ก็ทำให้ไม่ต้องการทักษะของคนมากนัก จึงจ้างแรงงานไร้ทักษะหรือทักษะต่ำได้ในราคาถูก และเพราะค่าจ้างถูกก็ขยายกิจการได้ทั่วทุกหัวระแหง เช่นร้านสะดวกซื้อที่ปราศจากกระบวนการอัตโนมัติ คงเปิดได้ปีหนึ่งไม่กี่ร้านเท่านั้น แต่เพราะบัญชี, การระเบียนสินค้า, และการขาย อาจทำได้โดยกระบวนการอัตโนมัติ จะเปิดปีละกี่ร้านก็ไม่มีปัญหาเรื่องกำลังคน

แต่ในการผลิต กระบวนการอัตโนมัติถูกใช้น้อยลงในเมืองไทย โรงงานทอผ้าบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์กำกับเครื่องจักร ทอลวดลายของเนื้อผ้า หรือเล่นสีได้ แม้กระนั้นผ้าไทยก็ยังไม่อาจแข่งกับผ้าอิตาลีได้ ใช่ไหมครับ เพราะการดีไซน์, เล่นสี, ทำลาย, เทคนิคการทอ, ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ สู้เขาไม่ได้ และที่สู้เขาไม่ได้ก็เพราะความรู้ด้านศิลปะ (ที่ถูกใจตลาดบน) และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านวัสดุศาสตร์ (ซึ่งต้องตั้งอยู่บนความรู้ด้านเคมี, ฟิสิกส์, ชีววิทยา ฯลฯ ที่แข็งแกร่งของสังคมนะครับ ไม่ใช่ของบุคคล) ของเรายังห่างเขาอีกหลายขุม

เอ ถ้ากระนั้น 4.0 ก็ไม่ใช่แค่เรื่อง automation หรือกระบวนการอัตโนมัติเท่านั้นล่ะสิครับ

Advertisement

ผมคิดว่านายทุนไทยด้านอุตสาหกรรมได้ลงทุนไปกับกระบวนการอัตโนมัติแล้ว มากเท่าที่ควรจะเพียงพอแก่เขา ไม่มีใครในโลกนี้จะลงทุนกับกระบวนการผลิตที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่เพิ่มกำไร (หรืออาจลดกำไรไปจนถึงขาดทุน) อย่างแน่นอน โดยภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (ก้าวใหญ่ด้านการปรับปรุงเทคโนโลยีเกิดในทศวรรษ 1980-1990 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อการส่งออกของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว)

ก็ตลาดของคุณมีอยู่อย่างที่มีอยู่ จะขยับเทคโนโลยีไปให้เกินตลาดทำไม เหตุใดโรงงานทอผ้าไทยจึงคิดจะไปแย่งตลาดผ้าอิตาลี ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าจะทำกำไรได้ ในเมื่อความพร้อมด้านอื่นๆ ของไทยดังที่กล่าวข้างต้นก็ไม่มี

แม้จะได้ยินคนพูดถึง 4.0 อยู่บ่อยๆ แต่ผมไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้มากไปกว่าเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งผมคิดว่าเป็นผลบั้นปลายสุดของการขยับไปสู่ 4.0 ด้วยซ้ำ ถ้าอย่างอื่นพร้อม ผมเชื่อว่ามันขยับของมันเอง เพราะนายทุนอุตสาหกรรมย่อมเล็งเห็นกำไรก้อนโตใน 4.0 อย่างที่ปัจจุบัน ไม่มีโรงพิมพ์แห่งใดยัง “ฉับแกละ” อยู่นั่นแหละครับ

ผมอยากพูดถึงส่วนอื่นที่ยังไม่พร้อมบางอย่าง ซึ่งมีความสำคัญกว่าเครื่องจักร

แน่นอนการผลิตในระบบ 4.0 ทำให้เราต้องมีแรงงานที่มีฝีมือกว่าปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนใช้สมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยตนเองเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการศึกษาทุกระดับ คือสร้างความสามารถในการเรียนรู้เอง ทำได้อย่างนั้นก็จับโกหกของครูและตำราได้เอง

ตรงกันข้ามกับที่นักธุรกิจไปกรอกหูนายกฯ แล้วนายกฯนำมาพร่ำบ่นกับประชาชน การศึกษาที่ดีไม่ใช่การฝึกทักษะเฉพาะสำหรับไว้ให้นักธุรกิจนำไปใช้งาน โลกของ 4.0 น่าจะทำให้ความรู้ทุกอย่างล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทักษะทุกชนิดถูกใช้ประโยชน์ได้สั้นลง ซึ่งนักธุรกิจจะปลดคนงานที่หมดประโยชน์ลงทันที แล้วจ้างคนงานใหม่ที่มีทักษะอันเหมาะสมทันสมัยกว่า ฉะนั้น การศึกษามวลชนต้องไม่หวังเพียงสร้างทักษะไปป้อนงานใดทั้งสิ้น แต่ต้องสร้างความสามารถในการเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด ลงทุนฝึกแรงงานนิดเดียว เขาก็สามารถ “ปรับตัว” ได้ และทำงานในสิ่งแวดล้อมใหม่ เครื่องมือใหม่ และความสัมพันธ์ใหม่ได้

นักธุรกิจและนักการศึกษาไทย แม้ที่ไม่ได้มาจากเขาอัลไต ก็ไม่สู้จะเข้าใจเรื่องนี้นัก มักเสนอให้โรงเรียน-มหาวิทยาลัยฝึกแรงงานป้อนทุนมานานแล้ว ประหนึ่งเป็นปัญญาญาณอันลึกซึ้งที่ตนค้นพบ (จากการฝึกคนรับใช้ในบ้าน)

เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของเศรษฐกิจ 4.0 น่าจะเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มีกฎ, ระเบียบ, หรือคำสั่งใดๆ ที่ช่วยให้อุตสาหกรรมหนึ่งได้เปรียบอุตสาหกรรมอื่นในตลาดภายใน ในขณะที่ในตลาดข้างนอก รัฐควรอุดหนุนหรือชักจูงให้อุตสาหกรรมไทยลงทุนในส่วนที่อ่อนแอ อย่างทั่วหน้าด้วย การแข่งขันที่เป็นธรรม จะทำให้เงื่อนไขอื่นๆ ของ 4.0 ตามมาเป็นพรวน หากกระบวนการอัตโนมัติทำให้ได้กำไรเหนือคู่แข่งจริง ก็จะมีการลงทุนไปกับกระบวนการนี้เอง หากจ้างคนมีหัวสมองมาทำงานแล้วได้กำไรเพิ่ม ก็พร้อมจะจ่ายเงินราคาแพงให้แก่คนนั้น จึงจะค่อยๆ ดึงดูดให้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตที่ใช้สมองมากขึ้น ฯลฯ

แต่รัฐบาลไทยต้องการเห็นการแข่งขันที่เป็นธรรมจริงหรือ? หากมาจากการเลือกตั้ง พรรคก็มีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่อุดหนุนเงินจำนวนมหาศาลอยู่เบื้องหลัง หรือร่วมลงขันเพื่อมารับตำแหน่งทางการเมืองเลย จะปฏิบัติต่อธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเจ้าสัวจำนวนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลังเสมอ ยืนมาตั้งแต่ยังไม่ยึดอำนาจ หรือรีบมายืนเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็ตาม จะหวังให้รัฐบาลรัฐประหารสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน

เป็นอย่างนี้มานาน จนนักธุรกิจไทยนั้นแข่งขันเก่งอยู่เรื่องเดียว คือแข่งหา connection หรือเส้น แล้วจะขยับไป 4.0 ได้หรือ?

มีกับดักทั้งสองข้างครับ แต่ทางออกนั้นมีอยู่ คือคิดดูให้ดีว่า กับดักข้างไหนที่เราจะแหกออกได้ง่ายกว่า ไม่เสียเลือดเนื้อ และบ้านเมืองไม่พังมากนัก

ยังมีบทบาทด้านอื่นๆ ของรัฐในอันที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่ 4.0 มากกว่าการตอกย้ำทางสื่อ เช่น ธุรกิจหัตถอุตสาหกรรมใดที่พยายามจะเข้าไปเอาส่วนแบ่งในตลาดที่สูงขึ้น ก็ควรได้รับการอุดหนุนจากรัฐด้วยประการต่างๆ ให้มาก เพราะนั่นแปลว่าธุรกิจหัตถอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามาบ้างแล้ว

ตลาดเดิมที่เคยขายอยู่ก็ต้องขยายให้ใหญ่ขึ้น เพราะหากขายด้วยปริมาณเท่าเดิม ความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตก็ไม่จำเป็น เทคโนโลยีในที่นี้ก็ไม่จำกัดเฉพาะเครื่องจักรนะครับ การพัฒนาฝีมือแรงงานก็เป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง แค่คุณทำให้แรงงานที่คุมเครื่องจักรทอผ้า สามารถคุมได้หลายเครื่องมากขึ้นในเวลาเดียวกันเท่าแรงงานทอผ้าญี่ปุ่น คุณก็ไม่ต้องย้ายโรงงานไปพม่าแล้ว ยังอยู่ที่อ้อมน้อยต่อไปได้ (อย่าลืมจ่ายค่าแรงให้เขาเพิ่มขึ้นจนคุ้มกับประสิทธิภาพงานที่เพิ่มขึ้นด้วย)

บทบาทของรัฐในการก้าวขึ้นสู่เศรษฐกิจ 4.0 เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ สร้างเงื่อนไขประเภทต่างๆ ที่ทำให้การขยับไปสู่ 4.0 ได้ผลตอบแทนคุ้มกว่ายืนอยู่ที่เก่า ในขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนด้วยวิถีทางต่างๆ เพื่อให้การขยับขึ้นเป็นสิ่งที่พึงทำแก่ทุกคน

ต้องย้ำในตอนท้ายเพื่อให้เข้าใจว่า เศรษฐกิจ 4.0 ไม่ได้เป็นเรื่องของการผลิตในอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จริงแล้วเป็นเงื่อนไขใหม่แก่คนไทยทุกคน เอาง่ายๆ แค่คนเก็บขยะสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น เพราะมีการแยกขยะอย่างเคร่งครัด มีการกระจายโรงรับซื้อไปกว้างขวาง จนคนเก็บขยะสามารถขายขยะได้ทุกวัน บ้านเรือนของเขาก็จะเป็นที่เก็บขยะน้อยลง กว้างขวางเหมาะแก่การใช้ชีวิตมากขึ้น โรงงานรีไซเคิลสามารถป้อนวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมได้สม่ำเสมอและแน่นอน ฯลฯ นี่ก็ 4.0 นะครับ ไม่ใช่เรื่องของรัฐและเจ้าสัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน

ผมไม่แน่ใจว่า 4.0 ของ คสช.เกิดจากจินตนาการที่กว้างขวางอย่างนี้หรือไม่ แต่หากคิดแคบๆ เพียงเรื่องของการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างเดียว ก็เป็นเพียงการสร้างความหวังทางการเมืองเท่านั้น

ผมสังเกตว่าในระยะหลังๆ มานี้ คสช.หมั่นสร้างความหวังใหม่ให้แก่สังคมบ่อย และออกจะเป็นความหวังที่ไม่อิงกับความจริงสักเท่าไรด้วย เช่น หัวหน้า คสช.บอกว่าจะทำให้คนในชนบทมีรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท ภายใน 20 ปี ซึ่งก็คือรายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพฯปัจจุบันนั่นเอง คนกรุงเทพฯมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนชนบทประมาณ 3 เท่าในเวลานี้ แต่ คสช.จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายไม่ได้บอกเอาไว้ชัดเจน มาตรการด้านการเกษตรที่ คสช.เสนอแนะ หรือบังคับนั้น ดูเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า เช่นลดต้นทุนการผลิตข้าวด้วยนาแปลงใหญ่ สมมุติว่าทำสำเร็จจริง ก็ไม่อาจเพิ่มรายได้ชาวนาขึ้นถึง 3 เท่าได้ อันที่จริงการปลูกข้าวไม่ใช่แหล่งรายได้ (เป็นตัวเงิน) ที่ใหญ่นักของชาวนาไทย

ไม่นานมานี้ ผมยังได้ยินรองนายกฯด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ออกมาพูดว่า ในอนาคตไทยจะเป็นเสือใหญ่ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแทนสิงคโปร์ ผมก็ไม่ทราบว่าท่านมองเห็นสัญญาณอะไรตรงไหนที่จะทำให้พูดอย่างนั้นได้

มนุษย์เรานั้นทนลำบากทางเศรษฐกิจได้สาหัสสากรรจ์กว่าที่เราคิดมากทีเดียว ตราบเท่าที่เขายังมีความหวังว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น รัฐบาลใดๆ ในโลกก็ต้องหล่อเลี้ยงความหวังของประชาชนไว้ทั้งนั้น ยิ่งประชาชนตกอยู่ในฐานะยากลำบากมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องหล่อเลี้ยงความหวังให้มากขึ้นเท่านั้น

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้คนในประเทศไทยเวลานี้มีแค่ไหน คงจะเห็นได้จากปริมาณของความหวังนานาชนิดที่ คสช.เฝ้าปั๊มออกมาในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image