“ยูโทเปีย แพลนิเทีย” แหล่งน้ำมหึมาบนดาวอังคาร

ภาพ-NASA-JPL-Caltech-Univ. of Arizona

ทีมนักวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ตรวจสอบพบแหล่งน้ำในสภาพเป็นชั้นน้ำแข็งแฝงอยู่ใต้ดินบางๆ บริเวณพื้นราบตอนกลางทางเหนือของดาวอังคาร เชื่อว่ามีมวลน้ำมหึมาขนาดพอๆ กับทะเลสาบสุพีเรีย ทะเลสาบใหญ่ที่สุดในกลุ่มทะเลสาบเกรทเลคส์ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา และเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นแหล่งน้ำยังชีพสำหรับมนุษย์อวกาศในการสำรวจดาวอังคารในอนาคต

ชั้นน้ำแข็งใต้ดินดังกล่าวมีพื้นที่ใหญ่กว่าพื้นที่ทั้งหมดของรัฐนิวเม็กซิโก (เนื้อที่ 315,194 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด (513,120 ตารางกิโลเมตร) ปกคลุมด้วยผิวดินบางๆ ระหว่าง 1-10 เมตร

ยูโทเปีย แพลนิเทีย

แจ๊ก โฮลท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่แหล่งน้ำใต้ดินแหล่งนี้จะใหญ่ที่สุดและมีน้ำมากที่สุดบนดาวอังคาร และเนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณพื้นผิวดาวอังคารที่เป็นที่ราบเรียบ ซึ่งจะทำให้การนำยานอวกาศลงจอดทำได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ มวลน้ำในแหล่งนี้จึงมีคุณประโยชน์มากกว่าแหล่งอื่นๆ อีกด้วย

Advertisement

ทีมวิจัยดังกล่าวซึ่งนำโดยศาสตราจารย์แคสซี สตูร์แมน จากสถาบันธรณีฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส อาศัยข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ของยานมาร์ส รีคอนเนสเซนซ์ ออร์บิเตอร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาที่โคจรอยู่โดยรอบดาวอังคาร และใช้อุปกรณ์เรดาร์สำรวจใต้ชั้นดินที่เรียกว่า “แชลโลว์ เรดาร์” หรือ “ชาเเรด” บนยานสำรวจในวงโคจรดังกล่าว ซึ่งโคจรผ่านยูโทเปีย แพลนิเทีย 600 ครั้งมาตรวจสอบวิเคราะห์

การวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ “ยูโทเปีย แพลนิเทีย” เป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะยุบตัวเป็นลอนคลื่นคล้ายคลึงกับภูมิทัศน์บริเวณแคนาเดียน อาร์กติก ทางตอนเหนือสุดของแคนาดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปกคลุมอยู่เหนือแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน

เมื่อตรวจสอบลึกลงไปจากพื้นผิวในบริเวณยูโทเปีย แพลนิเทีย ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีองค์ประกอบของน้ำในสภาพที่เป็นน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมากระหว่างแนวละติจูดที่ 39 และ 49 องศาเหนือ ชั้นน้ำแข็งดังกล่าวมีความหนาบางแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ความหนา 80 เมตร ไปจนถึงหนาที่สุดถึง 170 เมตร โดยมีสัดส่วนที่เป็นน้ำในสภาพน้ำแข็งอยู่ระหว่าง 50 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นหินและฝุ่นผง

Advertisement

เมื่อนำน้ำแข็งดังกล่าวมาคำนวณเป็นมวลน้ำ ทีมวิจัยพบว่าจะได้มวลน้ำมากถึง 12,090 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือได้ปริมาณน้ำในลักษณะของเหลวมากพอๆ กับน้ำในทะเลสาบสุพีเรีย ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มทะเลสาบเกรท เลคส์ บริเวณชายแดนตอนเหนือของสหรัฐอเมริกากับแคนาดา

“ชาเเรด” มีความสามารถในการตรวจสอบและจำแนกระหว่างชั้นของน้ำที่เป็นของเหลวและที่จับตัวเป็นน้ำแข็ง ข้อมูลที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าน้ำทั้งหมดในพื้นที่ยูโทเปีย แพลนิเทีย อยู่ในสภาพเป็นน้ำแข็ง ซึ่งไม่เอื้อต่อการค้นหาหลักฐานที่แสดงถึงการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เนื่องจากบนพื้นโลกนั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงใกล้ชิดกับน้ำในสภาพของเหลวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเชื่อว่าในอดีตที่ผ่านมาน้ำบางส่วนในพื้นที่ยูโทเปีย แพลนิเทียนี้น่าจะเคยคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้ในช่วงเวลาที่ขั้วของดาวอังคารเอียงทำมุมที่แตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ปัจจุบันดาวอังคารเอียงทำมุมราว 25 องศา แต่แกนของดาวอังคารเคยเอียงทำมุมหลายระดับ และเคยเอียงมากถึง 50 องศาในช่วงกว่า 120,000 ปีที่ผ่านมา

ในสภาพการเอียงมากๆ ดังกล่าวนั้น ทำให้พื้นที่บริเวณยูโทเปีย แพลนิเทียร้อนกว่าที่เป็นอยู่ และทำให้น้ำหลอมละลายได้

ทีมวิจัยพบว่าแหล่งน้ำใต้ดินที่ยูโทเปีย แพลนิเทีย ก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อมีหิมะตกลงมาปกคลุมพื้นที่ดังกล่าวแทนที่จะเป็นบริเวณขั้วเหนือของดาวอังคารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะรู้ได้แน่ชัดก็ต่อเมื่อมีการศึกษาวิจัยน้ำแข็งในบริเวณยูโทเปีย แพลนิเทียให้มากกว่านี้

เนื่องจากในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดพื้นที่บางแห่งบนดาวอังคารจึงมีชั้นน้ำแข็ง แต่ในอีกหลายพื้นที่กลับไม่มีชั้นน้ำแข็ง

จนกว่ามนุษย์อวกาศจะเดินทางถึงและเก็บตัวอย่างน้ำแข็งเหล่านี้มาตรวจสอบและใช้ประโยชน์แล้วเท่านั้น ความลับนี้จึงจะกระจ่างได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image