เปิดงานวิจัยพฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่น ในยุคที่เด็กหญิงอยากรู้อยากลอง

แฟ้มภาพ

เพื่อให้เข้าใจวัยรุ่นทำไมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งแต่ติดเหล้า เมายา สูบบุหรี่ ตลอดจนคดีอาชญากรรมจากวัยรุ่นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างถูกวิธี แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด (ภวส.) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเปิดผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

งานวิจัยระบุถึงการดื่มสุราเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่สุด รองลงมาคือสูบบุหรี่ การพนัน ติดเกม นอกจากนี้ยังชี้ถึงเด็กผู้หญิงที่ช่วงหลังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หันมาดื่มสุรามากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น สวนทางกับเด็กผู้ชายที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ลดลง และได้สำรวจเยาวชนนอกระบบการศึกษา พบสาเหตุที่ทำให้ต้องออกเรียนกลางคันมากที่สุดคือติดเพื่อนติดแฟน รองลงมาคือขาดความอบอุ่นจากครอบครัว มีปัญหาการเงิน เรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น และมีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นเหตุให้ถูกขับออกจากโรงเรียน

VoiceManager.lnk

ผศ.สุชาดา ภัยหลีกลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานศึกษาระบุว่ากลุ่มเด็กผู้หญิงมีพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมการดื่มหนัก ดื่มบ่อย ดื่มจนเมาเยอะขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนหญิงสายสามัญที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ต่างจากนักเรียนหญิงอาชีวศึกษาตอนต้น ทั้งที่ในส่วนนักเรียนชายมีพฤติกรรมอย่างนี้ลดลง เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ที่นักเรียนหญิง ม.ต้นเพิ่มขึ้น นักเรียนชายลดลง ทั้งนี้ น่าสนใจอีกว่า เด็กผู้หญิงยังมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มในเรื่องการใช้กัญชาและใบกระท่อม รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การใช้สุราหรือสารเสพติดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ที่เด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้นชัดเจน

Advertisement

“ถ้าถามว่าทำไมเด็กผู้หญิงถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้นนั้น แม้ข้อมูลวิจัยไม่ได้ชี้ชัด แต่ก็สามารถวิเคราะห์ในภาพรวมได้ว่า เพราะช่วงหลังผู้หญิงตกเป็นเป้าหมายของการโฆษณาต่างๆ อย่างโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ช่วงหลังทำการตลาดกับผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงกล้าคิด กล้าลอง กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งแนะนำพ่อ-แม่ผู้ปกครองให้ลองเปิดใจ เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ว่าดื่มและเมาแล้วเป็นอย่างไร ดื่มที่บ้านหรือให้อยู่ในสายตาดีกว่าให้เด็กไปลองดื่มกับเพื่อน ซึ่งอาจพากันไปนอกลู่นอกทางและมาปกปิดภายหลัง อันนี้น่าเป็นห่วงกว่า” ผศ.สุชาดากล่าว

งานวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงด้านยาเสพติดกับเยาวชนในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ซึ่งก่อตั้งเพื่อสู้กับภัยคุกคามด้านยาเสพติด ค้าอาวุธเถื่อน และอาชญากรรม แต่ก็ไม่วายมีปัญหายาเสพติดอยู่ดี

ผศ.สุชาดา ภัยหลีกลี้
ผศ.สุชาดา ภัยหลีกลี้

ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา นักวิจัยจากภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในพื้นที่ อพป. ถ้าเป็นในภาคเหนือ เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงแหล่งสารเสพติดมากที่สุด เพราะในหมู่บ้านเป็นพื้นที่ลำเลียงหรือจุดพักผ่านยาเสพติด เด็กกลุ่มนี้จึงเห็นยาเสพติดเป็นปกติ ส่วนจะติดหรือไม่ก็ขึ้นอีกเหตุผล ส่วนภาคอีสานจะเป็นลักษณะแรงงานต่างด้าวขนเข้ามาเมื่อแม่น้ำโขงลด ภาคกลางโดยเฉพาะที่ จ.สระแก้ว ตราด และจันทบุรี ได้รับผลกระทบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน แต่เอายาเสพติดเข้ามาด้วย ซึ่งเด็กๆ จะเลียนแบบและทดลองใช้สารเสพติด ส่วนกลุ่มภาคใต้ จะมีวัฒนธรรมการดื่มน้ำกระท่อม ยิ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย จะมีเทคนิคการใส่หลอดสารตะกั่ว หลอดไฟ ยาแก้ไอเพิ่มเข้าไปด้วย

Advertisement

“ที่น่าสังเกตจากงานวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจะมีเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดอยู่แล้วชักจูงได้ง่าย เพราะควบคุมตัวเองได้น้อย ไม่รู้โทษของสารเสพติด หากออกเรียนกลางคันยิ่งเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเขา นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น ไปสู่วงจรปัญหาอาชญากรรมไม่รู้จบ ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนจะแก้ปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้วยการผลักออก” ดร.วิไลลักษณ์กล่าว

ดร.วิไลลักษณ์ ลังก

คณะผู้วิจัยยังน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่ภาคเหนือมาแก้ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงด้วย “ความรัก ความรู้ และความช่วยเหลือ” คือทำด้วยความรักและปรารถนาดี ใช้องค์ความรู้ลดปัจจัยเสี่ยงสร้างภูมิคุ้มกัน และร่วมมือทั้งตัวเยาวชน ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และภาครัฐ

สำคัญคือ เมื่อก้าวพลาดไปแล้ว ต้องให้โอกาส กำลังใจ เพื่อกลับตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image