กทม.เล็งยกเลิกด่วน‘บีอาร์ที’ เหตุขาดทุนปีละ 200 ล. แถมช้ากว่ารถเมล์

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด กทม.ครั้งที่ 12/2559 ว่าขณะนี้ได้ให้คณะทำงานไปศึกษาโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ที่บริหารโครงการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รัฐวิสาหกิจในสังกัด กทม.ทั้งระบบการทำงานและรายได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ารถบีอาร์ทีขาดทุนถึงปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินมหาศาล

“หากยกเลิกโครงการดังกล่าว กทม.สามารถนำเงินก้อนนั้นมาทำประโยชน์ในพื้นที่หรือโครงการอื่นๆ ของ กทม.ได้ ทั้งนี้ กำลังให้คณะทำงานศึกษาถึงส่วนได้ส่วนเสีย รายได้ หรือการฟ้องร้องต่างๆ ในกรณีที่ กทม.จำเป็นต้องยกเลิกโครงการว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และต้องศึกษาในหลากหลายมิติ โดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาศึกษาสักพักหนึ่ง” พล.ต.ท.อำนวยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มยกเลิกการเดินรถบีอาร์ทีมากน้อยเพียงใด พล.ต.ท.อำนวยกล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวอยากยกเลิก เพราะว่า กทม.ต้องขาดทุนในแต่ละปีจำนวนมากถึง 200 ล้านบาท ที่สำคัญประโยชน์ที่ประชาชนได้รับก็ไม่ได้มากมาย เพราะยังถือว่าวิ่งช้ากว่ารถเมล์ทั่วไปอีก ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียเพื่อนำมาสรุปในที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ว่าจะเอาหรือไม่รถเอาโครงการบีอาร์ที

เมื่อถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ สภากรุงเทพมหานครได้เสนอให้ปรับแผนเพื่อขยายเส้นทางเดินรถเพิ่มเติม ในส่วนนี้ กทม.จะดำเนินการอย่างไร พล.ต.ท.อำนวยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่สภา กทม.ได้เสนอความคิดเห็นไว้ ซึ่งทางฝ่ายผู้บริหารก็รับฟัง แต่ไม่จำเป็นที่ต้องทำตามที่สภา กทม.เสนอทุกเรื่องก็ได้ เพราะหากเห็นแนวทางที่ดีกว่า เช่น ขาดทุนมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว วิเคราะห์ต่อไปว่าต้องขาดทุนอีก ก็มีความเห็นว่าควรยกเลิก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการบีอาร์ที สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ เป็นโครงการนำร่องในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ให้บริการเดินรถในช่องทางพิเศษบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนพระรามที่ 3 สะพานพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 12 สถานี ล่าสุด สภา กทม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา เพื่อศึกษาและทบทวนการดำเนินการโครงการบีอาร์ที เบื้องต้นได้มีการศึกษาในระยะสั้นสรุปว่า ไม่สมควรที่จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากเส้นทางที่ให้บริการไม่ตอบโจทย์ของคนกรุงเทพฯ อีกทั้งมีการเก็บค่าโดยสารที่ต่ำเกินไปจนส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการบีอาร์ที เมื่อหักรายรับยังขาดทุนมากถึงปีละ 200 ล้านบาท นับตั้งแต่ที่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 ปี และมีการลงทุนมากถึง 2,009.7 ล้านบาท อีกทั้งสัญญาโครงการจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 เมษายน 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image