‘คอร์โมแรนท์’ อากาศยานหุ่นยนต์กู้ภัย

บริษัท เออร์บัน แอโรนอติคส์ บริษัทเทคโนโลยีการบินจากอิสราเอล ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินครั้งแรกของอากาศยานหุ่นยนต์อัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อ “คอร์โมแรนท์” เพื่อใช้ในภารกิจค้นหาและกู้ภัยในสนามรบหรือพื้นที่ทุรกันดารโดยเฉพาะ

“คอร์โมแรนท์” นอกจากจะเป็นอากาศยานที่ปราศจากนักบินแล้ว ยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมีผู้บังคับจากระยะไกล ตัวเครื่องขับเคลื่อนด้วยใบพัดแบบปิดที่อยู่ภายในท่อหรือ “ดัคต์แฟน” แทนที่จะเป็นโรเตอร์หรือปีกหมุนแบบเดียวกับที่เฮลิคอปเตอร์ใช้ “ดัคต์แฟน” ชุดแรกทำหน้าที่ยกหรือลดระดับตัวเครื่องขึ้นลง และมีอีกชุดที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวเครื่องไปด้านหน้า ทำให้ “คอร์โมแรนท์” สามารถขึ้นและลงในแนวดิ่งได้แบบเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยรันเวย์เหมือนเครื่องบินมีปีกทั่วไป นอกจากนั้น การใช้ดัคต์แฟนยังช่วยให้คอร์โมแรนท์สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จำกัด และในภูมิประเทศทุรกันดารได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ราบโล่งเหมือนลานจอดเฮลิคอปเตอร์

การออกแบบและพัฒนาคอร์โมแรนท์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อากาศยานชนิดนี้ในภารกิจยากลำบาก ที่มีเงื่อนไขจำกัดมากมาย อาทิ ภารกิจค้นหาและกู้ภัยในสนามรบ ซึ่งการใช้เฮลิคอปเตอร์อาจเสี่ยงต่อการถูกข้าศึกโจมตี และไม่มีพื้นที่สำหรับร่อนลงเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตัวเครื่องจะถูกพัฒนาให้สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์ หรือบรรทุกวัสดุอุปกรณ์ อาทิ เวชภัณฑ์ไปส่งยังจุดหมายได้อย่างแม่นยำ

“คอร์โมแรนท์” ของเออร์บัน แอโรนอติคส์ แตกต่างจากโดรนตรงที่ตัวเครื่องสามารถบินได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยเลเซอร์สำหรับวัดระดับความสูง หรืออัลติมิเตอร์ ควบคู่ไปกับการใช้เรดาร์และเซ็นเซอร์ต่างๆ ระบบขับเคลื่อนของคอร์โมแรนท์อัจฉริยะมากพอที่จะปรับข้อผิดพลาดของตัวมันได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น เมื่อต้องลงจอด แต่ตำแหน่งไม่ถูกต้อง ก็จะหยุดและปรับตำแหน่งของตัวเครื่องให้ถูกต้องก่อนลงจอดใหม่อีกครั้ง เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนั้นแล้วคอร์โมแรนท์ยังมีระบบการตัดสินใจด้วยตัวเองติดตั้งไว้ด้วย ระบบดังกล่าวสามารถตัดสินใจเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากไม่มีข้อมูลจากเซ็นเซอร์ป้อนเข้าสู่เครื่องอย่างที่ควรจะเป็น เจ้าหน้าที่ของบริษัทเปิดเผยว่า ในกรณีดังกล่าว “สมอง” ของอากาศยานอัตโนมัตินี้จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้คือ เดินทางกลับฐาน ลงจอด หรือบินรอจนกว่าจะได้รับข้อมูลหรือคำสั่งเพิ่มเติม หรือไม่ก็เลือกหาเส้นทางการเดินทางสู่เป้าหมายใหม่ เป็นต้น

“คอร์โมแรนท์” บินทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และมีกำหนดจะทดสอบต่อเนื่องจนครบกระบวนการทั้งหมดที่ต้องทดสอบภายในเดือนธันวาคมนี้ ทางเออร์บัน แอโรนอติคส์ ระบุว่าหลังจากนั้นจะนำเอาข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปปรับปรุง ตกแต่งส่วนต่างๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น

ก่อนที่จะนำไปทดสอบในภูมิประเทศที่ทุรกันดารและมีอุปสรรคต่างๆ เพื่อดูสมรรถนะที่แท้จริง ก่อนปรับปรุงความเร็วและความคล่องตัวให้ดีขึ้นต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image