อดีตที่ปรึกษา ‘นายกฯปู’ ยัน ‘จำนำข้าว’ กระตุ้นศก.-ศาลตั้งองค์คณะละเมิดอำนาจ เรียก’หม่อมเต่านา’แจง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 7 คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 49 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

วันนี้ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานขึ้นไต่สวน 2 ปาก มีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

โดยนายพันศักดิ์เบิกความตอบคำถามอัยการสรุปว่า ไม่ทราบเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าว และไม่ทราบถึงการซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง หลังจากนั้นนายพันศักดิ์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหว มีแรงกระเพื่อม ไม่ว่าเงินที่นำมาใช้นั้นจะเป็นในส่วนใด ผลก็คือก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภค ส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้รักษาระดับการจ้างงานคงอยู่ การดำเนินโครงการสาธารณะเปรียบเหมือนการนำเงินของประชาชนเอาไปให้ประชาชน โดยผลสุดท้ายเงินก็จะย้อนกลับสู่รัฐในรูปของภาษี

นายพันศักดิ์เบิกความต่อว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการนี้มีเหตุผล จะคงไว้ซึ่งความสงบของบ้านเมืองและความน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีการระบุรายได้ย้อนกลับมาเท่าใด แต่ความมั่นคงทางบัญชีและความสงบของบ้านเมืองจะส่งผลกลับมาที่ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในบริบทโลกที่ผันผวนในขณะนั้น ประเทศไทยได้พึ่งพิงการส่งออกกว่าร้อยละ 70 สิ่งสำคัญคือต้องทำให้อัตราการเติบโตภายในประเทศที่เหลือมีความนิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การอัดฉีดหรือกู้เงินเพื่อสร้างเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ โครงการจำนำข้าวเป็นการนำเงินเข้าสู่ในระบบและหิ้วระบบไว้ไม่ให้ล้ม

Advertisement

ส่วนที่ว่าโครงการจำนำข้าวจะเป็นภาระต่อประเทศหรือไม่นั้น นายพันศักดิ์กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นภาระที่ควรจะมี และรัฐบาลควรจะบริหารภาระเพื่อประชาชน

ต่อมาทนายจำเลยนำนายเรืองไกรขึ้นไต่สวนพยาน ทางพนักงานอัยการโจทก์ไม่ติดใจสอบถามพยานจำเลยปากนี้ นายเรืองไกรจึงได้เบิกความตอบทนายจำเลยถึงประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2558 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีการระบุถึง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน นบข. สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาส่งฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นความยุติธรรม

นายเรืองไกรเบิกความว่า ได้ข้อมูลมาจากการค้นหาผ่านเว็บไซต์กูเกิล มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงขออนุญาตอ่านเอกสารฉบับเต็มดังกล่าวเพื่อเบิกความในประเด็นได้อย่างถูกต้อง โดยองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำเอกสารเกี่ยวกับการประชุม นบข.ดังกล่าวให้พยานจำเลยอ่าน และอนุญาตให้ทำคำเบิกความมายื่นในภายหลังได้ พร้อมกำชับให้ทนายจำเลยบริหารจัดการพยานเพื่อนำมาเบิกความต่อศาลได้ทันกำหนด วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ตามระบบราชการศาลไม่อาจเลื่อนการพิจารณาออกไปไกลกว่านี้ได้อีก

Advertisement

ภายหลังเบิกความเสร็จ ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม

ขณะที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งในคำร้องที่พนักงานอัยการ โจทก์ยื่นคำร้องกรณีถูกคุกคาม โดยองค์คณะได้มีคำสั่งให้ตั้งสำนวนไต่สวนละเมิดอำนาจศาล ให้มีองค์คณะ 3 คนเป็นผู้ไต่สวน พร้อมทั้งออกหมายเรียก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล และผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งราย ตนจำชื่อ-สกุลไม่ได้ เพื่อมาไต่สวนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image