“บิ๊กฉัตร”เผยลดพื้นที่ทำนายังไม่ได้ผลเกษตรกรเปลี่ยนปลูกพืชอื่นแทนยังน้อย-ปี’60เดินหน้าสานต่อ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2559 เรื่อง “การลดพื้นที่ทำนา: ผลกระทบและทางออก” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ในปี 2558 – 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงฯได้บูรณาการทุกหน่วยงานในสังกัดจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวครบวงจร มีการกำหนดแผนการผลิตและการตลาดโดยการกำหนดอุปสงค์ -อุปทาน การผลิต การเก็บเกี่ยว หลังเก็บเกี่ยว การตลาดภายในประเทศ และการตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จำนวน 5.7 แสนไร่ ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ เกษตรกรยังไม่กล้าปรับเปลี่ยน กระทรวงฯก็จะสานต่อโครงการดังกล่าวในปีการผลิต 2560 /61 ต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการลดพื้นที่การปลูกข้าว รอบ 2 และรอบ 3 อาจจะไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทางกระทรวงก็จะพยายามเร่งสร้างความเข้าใจต่อไป เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนในฤดูการผลิตหน้า

“กระทรวงฯยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าว ปี 2560 – 6564 ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนาและองค์กรชาวนา 2.การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวและปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว 4.การยกระดับคุณภาพข้าวและมาตรฐานสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ 6.การพัฒนาศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว และ 7.การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากรวบรวมข้อมูลจากสำมะโนประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำมะโนเกษตรกร ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า เกษตรกรกว่า 80% มีการปลูกพืชชนิดเดียวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากเกษตรกรปลูกพืชชนิดเดียวมากขึ้น จะทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน ช่วยให้เกษตรกรสามารถต้นทุนในการผลิตได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงจากภาวะราคาและดินฟ้าอากาศ อย่างไรก็ตามจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับตัวบ้างแล้ว โดยเริ่มหันมาปลูกพืชที่มีความหลากหลายมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำ แต่กลุ่มที่ปรับตัวเหล่านี้ พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงด้านราคา ลดการพึ่งพารายได้จากข้าวชนิดเดียวหาแหล่งรายได้เสริม และ ลดผลกระทบภัยแล้ง

“จากกรณีศึกษาเกษตรกรจากอ.ดอนตูม จ.นครปฐม จำนวน 245 ครัวเรือน พบว่า เกษตรกรที่หันมาปลูกพืชหลายชนิดจะมีรายสูงกว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยเกษตรกรที่ปลูกพืชหลายชนิด จะมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 249,849 บาท/ครัวเรือน/ปี ส่วนเกษตรที่ปลูกข้าวอย่างเดียว จะมีรายได้สุทธิเฉลี่ยเพียง 194,401 บาท/ครัวเรือน/ปี” นายนิพนธ์ กล่าว

Advertisement

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายข้าวครบวงจรของรัฐบาล ที่ควบคุมการผลิตข้าวทั้งปีไม่เกิน 27.17 ล้านตัน ลดพื้นที่ทำนาจากปีละ 69 ล้านไร่ เหลือ 55 ล้านไร่ นั้น ส่วนตัวมองว่า นโยบายดังกล่าวเพิ่งลงมือปฏิบัติได้ไม่ถึง 1 ปี จึงยังไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ได้ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีทั้งชาวนาที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่แน่ใจ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในทิศทางและผลที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มชาวนาในอนาคต และชาวนายังไม่เห็นความชัดเจนในแนวปฏิบัติของนโยบาย ทั้งนี้นโยบายที่ภาครัฐได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา มีจุดอ่อน คือ มาตรการส่วนใหญ่ออกแบบจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ภูมิภาค ผู้นำเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้งนโยบายที่ออกแบบมา ยังเป็นมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ ทำให้อาจไม่เหมาะสมกับบางพื้นที่ ส่วนการวัดผลก็เน้นที่กระบวนการทำงานและไม่เน้นผลประโยชน์ที่ได้รับ ขาดการพิจารณาความเสี่ยงของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ดีกว่าเกษตรกรและไม่สามารถพยากรณ์ตลาด การให้สินเชื่อเกือบปลอดดอกเบี้ยจูงใจให้คนเข้าร่วม ก่อปัญหาดึงดูดคนที่ไม่ตั้งใจปรับตัว ไม่มีการคัดเลือกที่เข้มงวด ขาดมาตรการเฝ้าติดตามว่าเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุนลดพื้นที่นาไปแล้ว กลับมาทำนาใหม่เมื่อราคาข้าวสูงขึ้น โดยไม่มีบทลงโทษ และยังมีการดำเนินนโยบายระยะสั้นที่ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลในระยะยาว อาทิ การให้เงินอุดหนุนทำนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image