สนทนากับคนทำหนังชั้นครูจากฟิลิปปินส์ ประวัติศาสตร์ บาดแผล การต่อสู้ และ “ดูแตร์เต”

สนทนากับคนทำหนังชั้นครูจากฟิลิปปินส์ ประวัติศาสตร์ บาดแผล การต่อสู้ และ "ดูแตร์เต"

สนทนากับคนทำหนังชั้นครูจากฟิลิปปินส์ ประวัติศาสตร์ บาดแผล การต่อสู้ และ “ดูแตร์เต”

(ติดตามชมรายการมติชน วีกเอ็นด์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00-22.00 น. ทางวอยซ์ทีวี ช่อง 21)

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา “ลาฟ ดิแอซ” คนทำหนังจากประเทศฟิลิปปินส์ ได้นำภาพยนตร์ความยาว 8 ชั่วโมง 5 นาที เรื่อง “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ปีนี้ นับเป็นปีทองของลาฟ ผู้กำกับภาพยนตร์วัยใกล้หกสิบ เมื่อเขาสามารถคว้าสองรางวัลสำคัญจากสองเทศกาลหนังระดับ “เมเจอร์” ของโลกตะวันตก

Advertisement

เรื่องแรก คือ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ที่ได้รับรางวัลอัลเฟรด บาวเออร์ อวอร์ด จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

เรื่องที่สอง คือ “The Woman Who Left” ที่ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ อันเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเวนิส ประเทศอิตาลี

ทีมข่าวมติชนทีวี มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “ลาฟ ดิแอซ” ที่กรุงโตเกียว เพื่อพูดคุยถึงหนังยาวกว่า 8 ชั่วโมง ที่ได้รับรางวัลจากเบอร์ลิน โดยเฉพาะ

Advertisement

และเพราะคนทำหนังที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครู” รุ่นปัจจุบันของทวีปเอเชีย มักอธิบายให้สื่อนานาชาติรับรู้อยู่เสมอ ว่าหนังที่มีความยาวเกินมาตรฐานปกติของเขา ไม่จัดเป็น “สโลว์ ซีเนม่า” แถมยังตั้งคำถามกลับไปว่าทำไมจึงต้องนิยามภาพยนตร์จากความยาวของมันด้วย?

คำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวจึงอาจไม่จำเป็นในบทสนทนานี้

แต่ลาฟยังพูดถึงประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ที่ชวนขบคิด ไม่ว่าจะเป็น “ประวัติศาสตร์” “การต่อสู้” “ความหมายแท้จริงของการปฏิวัติ” รวมถึงประธานาธิบดี “โรดริโก ดูแตร์เต”

คำตอบของเขาจะเข้มข้นแค่ไหน เชิญอ่าน

-หลังจากหนังหลายเรื่องของคุณได้รับรางวัลใหญ่ๆ ในเทศกาลภาพยนตร์สำคัญระดับนานานาชาติ ชีวิตในการทำหนังของคุณเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม?

ไม่เปลี่ยนเลย พวกเราไม่ได้ทำหนังเพื่อหวังรางวัลเหล่านั้น แต่แน่นอนว่ารางวัลมันช่วยเหลือเราในบางด้าน เช่น ช่วยให้หนังมีช่องทางในการเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

-ผลตอบรับจากคนดูหนังชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

มันก็เติบโตขึ้น แต่ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยอยู่ อย่างไรก็ตาม นี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ โดยที่เราต้องไม่ไปเร่งรัดคนดู ที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมหนังฮอลลีวูดมาเป็นร้อยปี อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมภาพยนตร์กระแสหลักของฟิลิปปินส์มาเป็นร้อยปี ซึ่งอุตสาหกรรมหนังฟิลิปปินส์ก็ก็อปปี้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาอีกทีอยู่เสมอมา อย่างในปัจจุบัน กระแสหนังรอม-คอม (โรแมนติก คอมเมดี้) ก็ครอบงำตลาด หรือเมื่อก่อนก็เคยมียุครุ่งเรืองของหนังแอ๊คชั่น ดังนั้น นี่จึงเป็นการต่อสู้ในระยะยาว และเราก็ต้องเคลื่อนไหวผ่านการทำหนังต่อไปเรื่อยๆ

-หนังเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่าน “เรื่องเล่า” หลากหลายชั้นมากๆ จากประวัติศาสตร์ สู่นวนิยาย บทกวี หรือเพลง เรื่องเล่าทั้งหมดเหล่านั้นมันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร?

หนังพูดถึงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ปฏิวัติฟิลิปปินส์ ค.ศ.1897 เพลงในหนังก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ และกลายเป็นบทเพลงสรรเสริญการปฏิวัติในเวลาต่อมา ส่วนตัวละครนักปฏิวัติในหนังก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายสองเรื่องของ “โฮเซ รีซัล” นอกจากนี้ ยังมีตำนานปรัมปราว่าด้วยอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยดังกล่าวเช่นกัน

-เรื่องเล่าเหล่านั้นมันหนุนเสริมหรือขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง?

ถ้าคุณศึกษาถึงธรรมชาติของวิชาประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องผนวกรวมองค์ประกอบเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน คุณไม่ได้กำลังนำเสนอแค่ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ที่มากกว่านั้น คือ บางครั้ง คุณควรวิพากษ์ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นภาพกว้างของยุคสมัยดังกล่าว

ถ้าคุณทำแบบนั้น ประวัติศาสตร์ก็จะกลายเป็นปรัชญา หรือการมีมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อยุคสมัยที่ผ่านพ้น

คุณต้องไม่โฟกัสไปที่ภาพน่าตื่นตาตื่นใจหรือตัวเหตุการณ์ แต่คุณต้องโฟกัสไปที่ตัวบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ โฟกัสไปยังสรรพสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจยุคสมัยดังกล่าวมากขึ้น นี่แหละคือประเด็นสำคัญ

มันคือการศึกษายุคสมัยทางประวัติศาสตร์ในเชิงวิพากษ์ ซึ่งจะส่งผลให้คุณสามารถค้นพบหลายๆ คำถามที่ผุดขึ้นมาจากยุคสมัยนั้นๆ ไม่ใช่ผุดขึ้นมาจากตัวเรื่องเล่า, ตัวละคร หรือเหตุการณ์

-ขอถามถึง “ป่า” ซึ่งนับเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งของหนัง อยากทราบว่า “ป่า” มีความหมายลึกซึ้งอย่างไรบ้าง?

“ป่า” คือ มาตุภูมิ เป็นพื้นที่แห่งการแสวงหาจิตวิญญาณ เป็นพื้นที่แห่งการ “หลงทาง” และค้นหา “ความหมาย” บางอย่างในชีวิต หรืออาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนที่เดินทางเข้าไปในนั้น ได้สัมผัสถึง “ความแปลกแยก”

-ผมรู้สึกประทับใจตัวละคร Tikbalang (อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้า) สามตนภายในหนังมาก คุณช่วยอธิบายความหมายของพวกเขาที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมฟิลิปปินส์หน่อยได้ไหม?

Tikbalang เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เป็นส่วนหนึ่งในตำนานปรัมปราของเรา จนปัจจุบัน คนจำนวนมากก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ Tikbalang กันอยู่

ตัวละครในตำนานเหล่านี้ยังมีความสัมพันธ์กับกระบวนการสร้าง “มายาคติ” คุณสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่จริง สร้างการมีมุมมองเฉพาะต่อสิ่งต่างๆ หรือกระทั่งทฤษฎี แล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็น “สัจจะ”

กลับมาที่ปัจจุบัน กับการสร้าง “มายาคติ” ผ่านการเมืองระบบตัวแทนในประเทศของเรา ทำไมคน…อย่าง “ดูแตร์เต” ถึงกลายมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ก็เพราะมีการสร้างมายาคติ เขาเป็นนักปลุกระดมฝูงชน เขาทำงานกับประชาชน โดยสร้างความคิดนามธรรมบางอย่างขึ้นมา แล้วประชาชนก็เชื่อเขา

นี่คือการมองเห็นโลกผ่านมายาคติและตำนานปรัมปราที่ถูกสร้างขึ้น คุณสามารถนำมุมมองแบบนั้นมาใช้เล่าเรื่องราวในปัจจุบันได้ เพราะเรื่องแบบบี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นความเชื่อหนึ่งที่ฝังลึกในจิตใจของพวกเรา มันเป็นวงจรอุบาทว์ ของคนที่พยายามขยายอิทธิพลเข้าไปควบคุมมวลชน

นักปลุกระดมฝูงชนทำงานตรงจุดนี้ แล้วเขาก็ได้ครอบครองอำนาจจากการหลอกลวงผู้คน

-ขอถามถึงบทบาทของตัวละครผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ ผมสังเกตว่าตัวละครผู้หญิงส่วนใหญ่ในเรื่องมักจะต้องแบกรับความโศกเศร้า ต้องเผชิญหน้ากับภาวะสูญเสียสามีหรือครอบครัว คำถามคือตัวละครผู้หญิงสามารถมีภาระหน้าที่อื่นๆ ได้อีกไหม ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ?

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงมีศักยภาพในการแบกรับบาดแผลของการต่อสู้และการไถ่บาปทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอมา

มันเป็นการดีที่จะ “ใช้” ภาพลักษณ์ของผู้หญิง โดยเฉพาะในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ หากคุณต้องทำงานในประเด็นว่าด้วยบาดแผลทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้อันยาวนาน

เกือบสี่ร้อยปีในการต่อสู้กับสเปน เกือบร้อยปีที่เราถูกปกครองโดยอเมริกา รวมทั้งยุคมืดของการประกาศใช้กฎอัยการศึก การเข้ามาข่มขืนผู้หญิงท้องถิ่นของทหารญี่ปุ่น นี่คือบาดแผลติดตัวเรา นี่คือสิ่งที่เราต้องจ่ายเพื่อการไถ่บาป

ดังนั้น ถ้าเราจะใส่ภาพลักษณ์ของผู้หญิงฟิลิปปินส์ลงไปในหนัง พวกเธอก็มักต้องแบกรับบาดแผลเหล่านี้ เพราะมันเป็นการอุปมาเปรียบเทียบถึงการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี

-ในท้องเรื่องของหนังเรื่องนี้ จุดประสงค์ของการปฏิวัติหรือความหมายแท้จริงของเสรีภาพ คือ การปลดแอกตนเองออกจากเจ้าอาณานิคมสเปน ถ้าปัจจุบันเรายังต้องการการปฏิวัติอยู่ อยากทราบว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของมัน?

เรื่องราวในหนังมันเป็นแค่พื้นผิว แต่ในความเป็นจริง พวกเรายังต้องทำงานให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทุกๆ ชาติ ก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ตอนนี้ พวกเรามีเสรีภาพกันจริงๆ ไหมล่ะ? นี่คือคำถาม

ปัจจุบันนี้ เราย้อนกลับไปมีประธานาธิบดีที่เป็นนักปลุกระดม นี่คือสิ่งที่ผมถ่ายทอดไว้ในหนัง เป็นฉากผู้คนเดินหลงวนไปมารอบต้นไม้ นั่นคือวิธีเลือกผู้นำของพวกเขา (ประชาชน) คุณคิดว่าตอนนี้มันมีเสรีภาพจริงไหมล่ะ?

ประชาชนเลือกผู้นำคนนี้ เพราะเชื่อว่าตนเองจะได้เป็นส่วนหนึ่งของชาติ พวกเขาเคยถูกกีดกันออกไปเป็นคนชายขอบ แต่ “ดูแตร์เต” เป็นนักปลุกระดมที่เดินไปบอกคนเหล่านั้นว่า ถ้าคุณเลือกผม คุณจะได้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ นี่คือวิธีปลุกระดม

ดังนั้น ประเด็นการปลดแอกตนเองหรือการได้มาซึ่งเสรีภาพ มันจึงกว้างขวางมาก

ภาพแทนของ “สามัญชน” ในสถานการณ์ปฏิวัติ

โจเอล ซาราโช นักแสดงชาวฟิลิปปินส์
โจเอล ซาราโช นักแสดงชาวฟิลิปปินส์

“โจเอล ซาราโช” นักแสดงชื่อดังของฟิลิปปินส์ ผู้รับบทเป็นตัวละครชื่อ “แมง คาร์โย” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นพร้อม “ลาฟ ดิแอซ”

โดยเขาได้อธิบายถึงบทบาทของตัวละครรายดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“แมง คาร์โย” คือตัวละครที่เป็นภาพแทนของคนธรรมดาสามัญ ซึ่งต้องการเข้าร่วมเป็นหนึ่งของการปฏิวัติ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น เพราะเขามีอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ เขายังเป็นภาพแทนของคนชายขอบ ผู้เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะได้เข้าร่วมในขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เขาก็ยังคงต้องการอุทิศเสียสละตนแด่การปฏิวัติ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมภารกิจค้นหาร่างของ “อันเดรส โบนิฟาซิโอ” (บิดาแห่งการปฏิวัติฟิลิปปินส์) ในป่า

ระหว่างเดินทางในป่า เขาพบว่าอาการเจ็บป่วยของตนเองสามารถถูกรักษาให้หายได้ด้วยเวทมนตร์ของตัวละครจากตำนานปรัมปราอย่างพวก Tikbalag โดยไม่ได้ตระหนักว่า “ความเชื่อ” ดังกล่าวไม่ใช่ “ความจริง” นั่นเพราะเขาเพียงแค่ต้องการจะหายขาดจากความป่วยไข้ที่รุมเร้าร่างกายหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงค่อยๆ เดินเลี้ยวออกจาก “ถนนสายปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม” ไปสู่ “ถนนสายความเชื่อ” เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง

นี่อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมการปฏิวัติของเราจึงแตกสลายเป็นส่วนเสี้ยวเล็กน้อย ทำไมการปฏิวัติจึงล้มเหลวลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image