18ปีแห่งความภูมิใจ นายทหารแผนที่ ผู้ถวายงาน’ในหลวง ร.9′

“ในการอ่านแผนที่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศบริเวณที่พิจารณา ได้ดีกว่าการมองจากเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์เสียอีก ทรงเปรียบเทียบความสูงของที่หนึ่งกับอีกที่หนึ่งได้ด้วย อย่างตําบลที่เหมาะสมจะสร้างเขื่อนเก็บน้ํา แม้จะมีบริเวณทางน้ำไหลผ่านช่องเขาแคบภายในเป็นบริเวณกว้าง หรือลักษณะเป็นถุงมีช่องแคบเป็นปากถุง แต่ข้อพิจารณานี้ยังไม่เพียงพอ พระองค์ทรงพิจารณาถึงพื้นที่รับน้ำฝนจากสันปันน้ำ เหนือพื้นที่จะสร้างเขื่อนว่าบริเวณกว้างแค่ไหน อัตราเฉลี่ยของฝนประจําปีบริเวณนั้นเป็นเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้พระองค์จะทรงเตรียมไว้พร้อม ก่อนจะเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรแต่ละแห่ง และด้วยการศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดนี้ พระองค์ทรงตรวจพบข้อมูลคลาดเคลื่อนในแผนที่บ่อยๆ เช่น การเขียนทางน้ำที่แยกตัวกันด้วยสันเขา แต่ตรงข้ามกันพอดี เจ้าหน้าที่จึงเขียนทางน้ำเชื่อมกัน ทําให้ข้อมูลบอกว่าน้ำไหลผ่านสันเขา ความคลาดเคลื่อนที่ทรงตรวจพบนี้ จะมีรับสั่งให้ผมหรือนายทหารแผนที่คนอื่นที่ตามเสด็จฯ ได้ทราบเพื่อนําไปรายงานผู้บังคับบัญชาพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป”

คําบอกเล่าของ พลตรีโสมนัส เอี่ยมสรรพางค์ อดีตหัวหน้าแผนกโครงการ กองแผนและโครงการ กองบัญชาการกรมแผนที่ทหาร  ถึงพระอัจฉริยภาพด้านแผนที่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังเคยได้ติดตามเสด็จฯ เพื่อถวายงานด้านแผนที่ตั้งแต่ พ.ศ.2521 -2539 รวมเป็นระยะเวลา 18 ปี

อดีตนายทหารแผนที่ในวัย 82 ปี เป็นนายทหารแผนที่ตามเสด็จคนแรกๆ ได้รับมอบหมายให้ติดตามถวายงานด้านแผนที่ ทุกครั้งที่เสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังพระตําหนักต่างๆ ทั่วประเทศ จะเป็นส่วนล่วงหน้าไปสํารวจสถานที่ร่วมกับทีมสมุหราชองครักษ์ ในการดูพิกัดสถานที่ที่จะเสด็จฯหรือมีพระราชประสงค์จะทรงทราบ และติดตามคอยบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อน

งานแผนที่เป็นเรื่องสําคัญในการทรงงาน เปรียบกับระบบนําทางไปยังพื้นที่เป้าหมาย ทําให้พลตรีโสมนัสฯมีโอกาสได้ร่วมไปกับรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งหลายหน ได้เห็นพระอัจฉริยภาพและพระราชจริยวัตรอย่างใกล้ชิด โดยขอนําความภาคภูมิใจและประทับใจสูงสุดในชีวิต มาบอกเล่าในโอกาสรําลึกถึงพระองค์

Advertisement

พลตรีโสมนัสฯ เล่าว่า แผนที่ที่พระองค์ทรงใช้ในการทรงงานเป็นประจําคือ แผนที่ชุด L7017 มาตราส่วน 1ต่อ 50,000 เป็นมาตราส่วนใหญ่มีรายละเอียดมากพอสมควร และเป็นเพียงชนิดเดียวที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยระวางหนึ่งมีความกว้างยาวประมาณ 55×55 ซม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 756 ตร.กม. แต่ที่เห็นเป็นแผนที่แผ่นใหญ่ ก็เพราะทรงต่อแผนที่ระวางติดต่อเข้ากันเป็นชุดๆ ละ 9 แผ่น ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงพิจารณาให้ได้กว้างขวางและมีข้อมูลมากที่สุด โดยการต่อแผนที่ใช้ถึง 9 แผ่นนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีเพียงพระองค์เดียวในโลก ต่อแผนที่นําออกไปใช้นอกสํานักงานได้กว้างใหญ่ขนาดนี้ แต่เวลาต่อแผนที่ก็โปรดที่จะต่อด้วยพระองค์เอง เพื่อจะทรงสังเกตว่าแต่ละระวางมีข้อมูลอะไรบ้าง ขณะเดียวกันจะทรงลงพระราชหัตถเลขาในแผนที่ เป็นพวกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หลังจากทรงงานหรือเวลามีโครงการอะไร

“เวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร พระองค์จะทรงซักถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ที่ทํามาหากิน เพื่อตรวจสอบหาข้อมูลต่างๆ โดยจะทรงใช้ข้อมูลในแผนที่ได้เตรียมไว้เป็นหัวข้อสนทนา เช่น หมู่บ้านนี้มีโรงเรียนอยู่บนเนินทางทิศใต้ของหมู่บ้านใช่ไหมทําให้ราษฎรแปลกใจว่าพระองค์ทรงทราบได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยเสด็จฯ มาหมู่บ้านนี้เลย แต่สิ่งที่ทรงซักถาม ก็เพื่อหาข้อมูลช่วยเหลือราษฎร เช่น รับสั่งถามว่าน้ำที่ได้ทํานามาจากห้วยไหน ไหลตลอดปีหรือไม่ หน้าน้ำมีฝนไหลมากหรือไม่ ทรงซักถามไปถึงชื่อห้วยแต่ละสาขา จํานวนน้ำแต่ละห้วยในหน้าฝน ข้อมูลดังกล่าวจะทรงซักถามหลายๆคน เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูล บางครั้งจะทรงเอากระดาษออกมาวาดรูปประกอบ และหากทรงพบราษฎรคนไหนที่มีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ดี จะทรงนั่งลงกับพื้นซักถามเลยทีเดียว”

“แม้การซักถามสนทนากับราษฎร จะเป็นเรื่องลําบากบ้างในการทําความเข้าใจ แต่ก็ทรงอดกลั้นอดทนต่อการซักถามข้อมูลเหล่านี้ และทรงพอใจในการเข้าถึงราษฎร ให้โอกาสราษฎรได้ใกล้ชิดพระองค์ ขณะที่ข้อมูลที่ทรงได้ จะนํามาประมวลเป็นข้อพิจารณา พระราชทานพระราชดําริให้ความช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ต่อไป”

Advertisement

 

1

capture-20161122-160107

capture-20161122-160128

capture-20161122-160242

capture-20161122-160505

 

พลตรีโสมนัสฯ เล่าอีกว่า การได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เสมือนหนึ่งได้มีโอกาสติดตามปราชญ์ผู้ปราดเปรื่อง ทําให้ได้รับความรู้กว้างขวางขึ้น และพระองค์โปรดจะพระราชทานสั่งสอนความรู้ แก่ผู้ติดตามเมื่อทรงมีโอกาส อย่างในคราวเสด็จพระราชดําเนินที่อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ไปทอดพระเนตรเขื่อนเก็บกักน้ำแห่งหนึ่ง สร้างเขื่อนทําเลดีมาก คือเป็นช่องเขาแคบ สองข้างเป็นลาดเขาชัน บริเวณเก็บน้ำกว้าง มีพื้นที่รับน้ำมาก “ครั้งนั้นผมพูดเปรยขึ้นว่า ถ้าสร้างเขื่อนสูงอีกสัก 10 เมตร คงจะเก็บน้ำได้อีกเยอะ ปรากฏว่าพระองค์ทรงได้ยินเพราะประทับยืนไม่ไกลนัก จึงทรงหันพระพักตร์มารับสั่งว่า

“ถ้าสร้างเขื่อนสูงขึ้นอย่างที่โสมนัสว่า จะได้น้ำมากจริง แต่ค่าก่อสร้างจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้าน แต่เขื่อนที่สร้างนี้ค่าใช้จ่าย 10 ล้าน เลี้ยงพื้นที่ได้ 200 ไร่ ถ้าสร้างสูงอีก 20 เมตร ก็จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้อีกเพียง 50 ไร่ เพราะขยายพื้นที่ไม่ได้ ไม่คุ้มที่จะลงทุน”

ผมรับใส่เกล้าด้วยความซาบซึ้ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรอบคอบเพียงไร โครงการพระราชดําริของพระองค์แต่ละโครงการ ทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลได้ผลเสีย การคุ้มค่าของการลงทุน รวมถึงผลกระทบอย่างดียิ่ง

แม้จะทรงงานหนักและใช้พระวิริยะอุตสาหะมาก ในความพยายามช่วยเหลือพสกนิกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในการทรงงานก็ใช่ว่าจะเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา พลตรีโสมนัสฯ เล่าว่า พระองค์ทรงมีพระอารมณ์ขัน และยังทําให้ผู้ถวายงานได้ยิ้มแย้มแจ่มใสด้วย อย่างเวลาคลี่แผนที่ก็รับสั่งว่า ‘สลัดโสร่ง’ รวมถึงพระราชทานสั่งสอนกับผู้ถวายงานไม่ให้ทํางานด้วยความเคร่งเครียด แต่ต้องรู้จักสนุกกับการทํางาน และมีความสุขกับการทํางาน อย่างครั้งหนึ่งตรัสกับนายทหารแผนที่ตามเสด็จที่มาใหม่อาวุโสน้อยว่า “ทํางานใจเย็นๆ หน้าเครียดแล้ว”

“แต่เวลาถวายงานผิดพลาดก็จะถูกพระองค์ทรงตําหนิ แต่ก็ทรงตําหนินิดเดียว ไม่นานก็จะทรงมีคําปลอบใจ อย่างครั้งหนึ่งเสด็จฯแปรพระราชฐานพระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์ รับสั่งจะทอดพระเนตรหมู่บ้านและภูมิประเทศในบริเวณพรุโต๊ะแดง ทรงลงพระราชหัตถเลขาแสดงบริเวณที่มีพระราชประสงค์ลงในแผนที่ที่ถ่ายเอกสารมา พอถึงเวลาเสด็จฯ จริง นักบินยืมแผนที่ผมไป จึงไม่มีแผนที่ให้ตรวจสอบ พอเครื่องลงก็รีบวิ่งไปเอาแผนที่และเข้าเฝ้าฯ พระองค์รับสั่งว่า เขาไม่ได้บินแนวที่ฉันกําหนด อย่างนี้โสมนัสก็เป็นโทมนัสแล้ว แต่ก็ดีเหมือนกัน ฉันได้ดูบริเวณที่ผ่าน ไม่ได้เห็นมาก่อน”

ผมมารู้ภายหลังว่าเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้บินขึ้นแล้วตรงไปยังจุดอ้างอิง แต่บินออกทะเลไปก่อนแล้วเลี้ยวเข้าหาจุดอ้างอิง แนวบินจึงเป๋ไปจากที่ได้ยินรับสั่ง ยังมีอีกเหตุการณ์ เสด็จฯไปเยี่ยมวัดอนาลโยฯที่จ.พะเยา ทรงเข้าใจว่าพิกัดคลาดเคลื่อนและรับสั่งว่า “ผิดไป 5 กิโลเมตร แต่วันนี้พามาถูก พอแก้ตัวได้” เหตุการณ์ครั้งหลังผมได้ตรวจสอบจนมั่นใจและกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามั่นใจ” ปรากฏว่าพระองค์รับสั่งว่า “ฉันก็ยังดูไม่ดี”

ตลอดเวลา 18 ปีที่ พลตรีโสมนัสฯ ถวายงาน พระราชจริยวัตรที่ประทับตราตรึงในหัวใจของเขามีอยู่มากมาย เริ่มต้นที่เวลาเสด็จฯ ทรงงานในพื้นที่ห่างไกล จะไม่โปรดให้ตัดถางทางจนโล่ง หากรถยนต์พระที่นั่งเข้าไปในพื้นที่เปูาหมายไม่ได้ จะทรงพระดําเนินด้วยพระองค์เองเข้าไปในหมู่บ้าน บางครั้งต้องพระดําเนินข้ามหมู่บ้าน โดยมีข้าราชบริพารเดินตาม เวลาทรงซักถามข้อมูลจากราษฎร จะไม่โปรดให้ข้าราชการฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือใครมาตอบแทนราษฎร หรือมาขัดจังหวะ

นอกจากนี้ เขายังประทับใจในพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายและพอเพียงครั้งหนึ่ง พลตรีโสมนัสฯ รับดินสอที่หักของพระองค์มาเหลา ด้วยมีดเหน็บสายโยงบ่าจากคืบเหลือเพียง 3 ซม.ด้วยความประหม่าและมีดใหญ่เกินไป

“ตอนส่งถวายคืน ทอดพระเนตรนิ่งประเดี๋ยว แต่ไม่รับสั่งอะไร”

และก็มีอีกเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยกับพระองค์ “มีครั้งหนึ่งที่นั่งไปในรถยนต์พระที่นั่ง อากาศภายนอกร้อนมาก พอขึ้นรถก็เย็นเฉียบ วันนั้นมี 3-4 งานที่ต้องเสด็จฯ พอถึงงานสุดท้ายฝนก็เทกระหน่ำ กลับถึงบ้านเป็นไข้อยู่ 2 วัน พอฟื้นก็เห็นข่าวทีวีออกแถลงการณ์พระอาการประชวรของพระองค์ ก็พยายามไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยอภิบาลพระองค์ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว”

พลตรีโสมนัสฯกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าจะมีใครถามว่าผมมีอะไรภูมิใจมากที่สุด จะตอบได้ทันทีเลยว่า การได้มีโอกาสถวายงานพระองค์เป็นความภูมิใจที่สุด และนับเป็นบุญวาสนาอันสูงส่ง หลายคนอาจเข้าใจว่าผมติดตามไปถวายคําแนะนําเรื่องแผนที่ ความจริงไม่ถูกต้อง พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการอ่านการใช้แผนที่ กระผมแน่ใจว่าหาคนเปรียบได้ยาก”

 

พล.ต.โสมนัส เอี่ยมสรรพางค์ (3)
พลตรีโสมนัส เอี่ยมสรรพางค์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image