คนไทยขาด ‘วิตามินบี 1’ จริงหรือ?

เป็นประเด็นทันทีสำหรับอันตรายจากการขาดวิตามินบี 1 เมื่อ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงอันตรายที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดอัมพาต แขนขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ โดยระหว่าง พ.ศ.2557-2558 พบปัญหาใน 3 จังหวัด โดยเฉพาะ จ.บึงกาฬ พบผู้ต้องขังที่ขาดวิตามินบี 1 ประมาณ 80 คน และเสียชีวิตถึง 3 คน โดยในกลุ่ม 80 คนนั้นได้มีการรักษาจนขณะนี้อาการดีขึ้น

กรณีดังกล่าว เริ่มแรกยังไม่แน่ชัด แต่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เนื่องจากแรกเริ่มเข้าใจว่าอาจเป็นโรคระบาด ซึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ได้ลงพื้นที่ไปด้วย จากการวิเคราะห์พบว่ามีภาวะขาดวิตามินบี 1 ซึ่งทำให้โน้มนำไปสู่ภาวะติดเชื้อและหัวใจวายจนเสียชีวิตในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบในจังหวัดอื่นๆ อีก โดยวันที่ 3 ธันวาคม 2558 พบเสียชีวิต 3 คน และช่วงต้นปี 2559 ที่ จ.ระนอง พบเป็นลูกเรือประมง ซึ่งเสียชีวิตอีก 6 คน ในกลุ่มนี้มี 6 คนอาการหนัก แต่เมื่อได้รับการรักษาด้วยการให้วิตามินบี 1 ก็รอดชีวิตมาได้

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง แต่ยังมีกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะขาดวิตามินบี 1 อีก ทั้งกรณีเด็กใน จ.เลย ซึ่งพบว่ามีภาวะขาดบี 1 จากเลือดเป็นกรด และยังมีที่ จ.สมุทรสาคร แต่ไม่มีการรายงานไว้ ซึ่งสถานการณ์นี้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยิ่งคนในพื้นที่เมือง เข้าถึงแหล่งอาหาร พวกเนื้อสัตว์ หรือมีทางเลือกในการรับประทานข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสีต่างๆ มองว่าไม่ขาดวิตามินบี 1 แน่ๆ แต่ใครจะรู้ เพราะหลายกรณีก็ดูเป็นคนแข็งแรง แต่เมื่อมีอาการก็ทำให้ล้มไปได้เลย

Advertisement

โดยส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ ซึ่งอาการจะแบ่งออกเป็น 1.กลุ่มขาดวิตามินบี 1 ชนิดแห้ง จะทำให้เกิดอาการชาของทั้งมือและขา มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ 2.กลุ่มขาดวิตามินบี 1 ชนิดเปียก จะมีผลต่อระบบหัวใจ ทำให้บวม มีภาวะใจสั่น เหนื่อยง่าย โดยปกติจะหายได้เองหากได้รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เข้าไปทัน แต่ในหลายรายก็ไม่ทัน ทำให้กลุ่มขาดวิตามินบี 1 ชนิดแห้งเป็นอัมพาต เหมือนกรณีที่ จ.บึงกาฬ และในกลุ่มขาดวิตามินบี 1 ชนิดเปียก รุนแรงถึงขั้นน้ำท่วมปอด หัวใจวาย เสียชีวิต นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มที่มีผลต่อระบบสมอง หากรอดมาได้ก็จะมีผลต่ออัลไซเมอร์

เกิดข้อสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ขาดวิตามินบี 1 ศ.นพ.ธีระวัฒน์บอกว่า ไม่มีทางรู้ได้ขนาดนั้น เพราะหากจะรู้ได้ จะต้องมีการตรวจระดับห้องปฏิบัติการในราคาคนละ 2,000 บาท ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็บ่งชี้ได้แล้วว่าคนไทยมีปัญหาวิตามินบี 1 เมื่อรู้แล้วก็น่าจะหาทางป้องกันไม่ดีกว่าหรือ โดยวิตามินบี 1 ราคาไม่แพง ภาครัฐควรมีการแจกฟรีให้คนไทยด้วยซ้ำไป ดีกว่าจะต้องมาเสียค่ารักษาพยาบาล และเสียบุคลากร กำลังของชาติที่เสี่ยงอัมพาตและเสียชีวิต

“ผมมองว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในแง่ผลักดันให้มีการแจกฟรีของวิตามินบี 1 โดยเสนอต่อกรมบัญชีกลางถึงความสำคัญดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันแม้วิตามินบี 1 จะถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่จะใช้ได้เฉพาะคนไข้ที่นอนโรงพยาบาล แต่ผมหมายถึงคนไข้นอก รวมทั้งประชาชนทุกคนควรได้รับวิตามินบี 1 ฟรี เพราะแม้จะบอกว่าวิตามินบี 1 มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ แต่ด้วยบริบทของคนไทย เมื่อบอกไปจะมีสักกี่คนที่จะซื้อ ในแง่ของการรณรงค์ให้ใส่ใจเรื่องวิตามินบี 1 ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ภาครัฐแจกบี 1 ให้ก็ควรทำด้วยไม่ใช่หรือ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

Advertisement

สำหรับปริมาณที่ควรรับประทานของวิตามินบี 1 นั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์เสริมว่า ต้องกินประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะพร่องบี 1 ขณะเดียวกันยังเป็นการสะสมไว้ในคลังของร่างกาย เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา หากร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 1 เพิ่มเติม ของเดิมจะอยู่ในร่างกายได้เพียง 30 วัน

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่การออกมาพูดลักษณะนี้อาจส่งผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตวิตามิน ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า จากข้อกังวลนี้ จึงเสนอให้ อย.ขับเคลื่อนเรื่องนี้ และเสนอให้แจกฟรีดีที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. ในฐานะโฆษก สธ. ให้ข้อมูลว่า ในประชาชนทั่วไปสามารถรับวิตามินบี 1 ได้จากอาหารที่รับประทาน ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ แต่กรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อาจไม่ได้รับสารอาหารเหล่านี้ เช่น ลูกเรือประมง เนื่องจากต้องออกเดินเรือไประยะเวลานานเป็นปี ทำให้ไม่มีอาหารสด พวกเนื้อสัตว์ ข้าวไม่ขัดสี ขณะเดียวกันยังต้องทำงานบนเรืออีก จึงทำให้มีภาวะขาดวิตามินบี 1 ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สธ.ได้กำชับไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในแต่ละจังหวัด แนะนำผู้ประกอบการประมง เตรียมความพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยให้จัดเตรียมอาหารทดแทนวิตามินบี 1 เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่างๆ นำขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนเรือ

“สำหรับประชาชนทั่วไป ได้กำชับ สสจ.และบุคลากรในโรงพยาบาล ช่วยกันรณรงค์ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของวิตามินบี 1 เพราะเราสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินบี 1 มีหลายสาเหตุ พบได้ในผู้ที่ออกกำลังมาก หรือกินอาหารที่ทำลายวิตามินบี 1 เช่น อาหารดิบ ภาวะติดเชื้อ หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างที่สูญเสียวิตามินบี 1 เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง ไตวายที่ต้องล้างไต ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ต้องได้รับการเสริมวิตามินบี 1 ซึ่งในบัญชียาหลักมีทั้งชนิดรับประทานขนาด 10-100 มิลลิกรัม ชนิดฉีด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวเสริมว่า วิตามินบี 1 อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมานานแล้ว มีทั้งในระดับ 10-100 มิลลิกรัม

ส่วนที่เสนอให้แจกฟรีนั้น ต้องอยู่ที่การพิจารณาของแต่ละกองทุนสุขภาพ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image