30 ปี ภูเก็ต คิงส์คัพ “รีกัตต้าแห่งความจงรักภักดี”

ชิงชัยในทะเล

หากกล่าวถึงการแข่งขันเรือใบซึ่งจัดขึ้นในน่านน้ำไทยแล้วนอกเหนือจากการแข่งขันเรือใบรายการหัวหินรีกัตต้าชิงหางเสือ “เรือใบเวคา” ซึ่งเป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้ในการข้ามอ่าวไทยเมื่อ 50 ปีก่อน และพระราชทานหางเสือเรือใบเวคาให้เป็นรางวัลนิรันดรแก่ผู้ชนะเลิศแล้ว

แน่นอนว่าการแข่งขันเรือใบรายการ “ภูเก็ต คิงส์คัพ” ย่อมเป็นอีกรายการหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่ปรารถนาของนักแล่นใบนานาชาติที่จะเข้าร่วมเพื่อชิงชัย “ถ้วยพระราชทาน” จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปครอบครอง นอกจากนี้ภูเก็ต คิงส์คัพรีกัตต้ายังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบระดับนานาชาติชั้นนำที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในแต่ละปีสามารถดึงดูดนักกีฬาเรือใบทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 1,000 คน ซึ่งนำเรือใบมากกว่า 200 ลำ มาร่วมการแข่งขันเหนือท้องทะเลอันดามันอันสวยงามของเกาะภูเก็ต

3

โดยเฉพาะในปีนี้การแข่งขันเรือใบรายการ “ภูเก็ต คิงส์คัพ” ระหว่างวันที่ 3-10 ธันวาคม นับเป็นวาระครบรอบ 30 ปี ของการร่วมแรงร่วมใจในการจัดการแข่งขัน โดยกองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต โรงแรมกะตะบีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ในเครือกะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ประเทศไทย ซึ่งเอื้อเฟื้อสถานที่และสนับสนุนการจัดการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีแรกของ “ภูเก็ต คิงส์คัพ” เป็นต้นมา รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และทรูโฟว์ยู เป็นต้น

Advertisement

สำหรับภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตต้า ในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสดุดีพระอัจฉริยภาพและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อวงการเรือใบ และยังถือเป็นการแสดงความจงรักภักดีและเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 โดยในพิธีเปิดการแข่งขันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เหล่านักกีฬาเรือใบ เข้าร่วมงาน และคณะผู้จัดงานได้ร่วมยืนสงบนิ่งโดยพร้อมเพรียงกันเป็นเวลา 89 วินาที เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในวันที่ 9 ธันวาคม ทีมเรือใบทั้งชาวไทยและต่างชาติซึ่งเข้าร่วมในการแข่งขันรวม 171 ลำ พร้อมนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 1,500 คน จากกว่า 30 ประเทศ ได้ร่วมพิธีสวนสนามทางทะเล โดยมีเรือตรวจการณ์ปืนของกองทัพเรือเข้าร่วม เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 อีกด้วย

พิธีสวนสนามเรือใบ
พิธีสวนสนามเรือใบ

ทางด้าน พลเรือเอกธานี ผุดผาด เลขาธิการสมาคมกีฬาแข่งเรือใบ กล่าวว่า “การส่งนักกีฬาทุกประเภทเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของพลเรือเอกไกรสร จันทร์สุวานิชย์ นายกสมาคม ซึ่งต้องการให้การเตรียมทีมเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปีหน้ามีความพร้อมสูงสุดอย่างเป็นระบบ จึงได้เลือกทะเลภูเก็ตเป็นทั้งสนามแข่งและฝึกซ้อมไปพร้อมกัน เนื่องจากมีสภาพคลื่นลมใกล้เคียงกับสนามแข่งขันในซีเกมส์มากที่สุด เหนืออื่นใดคือเป็นการน้อมรำลึกและสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเผยแพร่กีฬาเรือใบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจของสมาคมฯด้วย”

ส่วน นายเควิน วิทคราฟท์ ประธานสโมสรเรือใบราชวรุณฯ ซึ่งลงแข่งขันในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า

“รายการแข่งขันเรือใบใหญ่แบ่งเป็น 12 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0, ไออาร์ซี 1, ไออาร์ซี 2, พรีเมียร์, ไฟร์ฟลาย 850, พัลซ์ 600, ปลาทูวันดีไซน์, มัลติฮัลล์เรซิ่ง, มัลติฮัลล์ครูซิ่ง, โอเพ่น ชาร์เตอร์, แบร์โบ๊ตชาร์เตอร์ และครูซิ่ง

“ส่วนรายการเรือใบเล็ก แบ่งเป็น 6 รุ่น ได้แก่ ออพติมิสต์, เลเซอร์ 4.7, เลเซอร์เรเดียล, เลเซอร์สแตนดาร์ด, 420 และ 470 ในปีนี้ทีมนักกีฬาเรือใบของสมาคมกีฬาแข่งเรือใบและนักกีฬาทีมชุดซีเกมส์จำนวนมากร่วมลงแข่งขัน อาทิ กีรติ บัวลง และ กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาเยาวชนฝีมือเยี่ยมอีกหลายคนที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยมอย่าง นาวี ธรรมสุนทร และ ณัฐ บุตรมารศรี ในรุ่น 470 เป็นต้น”

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ ในการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ๊ 9 และมัลติฮัลล์ ทีมเรือไทยสามารถคว้าชัยชนะได้ถึง 3 รุ่น ซึ่งได้แก่ รุ่นไออาร์ซี 0 : เรือทีเอชเอ 72 โดยกัปตันเควิน วิทคราฟท์ นายกสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ, รุ่นพรีเมียร์ : เรือไพน์แปซิฟิก กัปตัน อิทธินัย ยิ่งศิริ ซึ่งคว้าแชมป์ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าในปีนี้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน และสุดท้ายคือรุ่นปลาทูวันดีไซน์ : เรือราชนาวี 1 โดย พันจ่าเอกวิวัฒน์ พูนพัฒน์ แชมป์ในรุ่นโมเดิร์นคลาสสิกเมื่อปีที่แล้วและเปลี่ยนมาคว้าแชมป์รุ่นปลาทูวันดีไซน์ในปีนี้

ทั้งนี้ ในพิธีปิดการแข่งขัน พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ชนะในรายการต่างๆ ซึ่งนักกีฬาแต่ละประเภทล้วนมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน อาทิ พันจ่าเอกวิวัฒน์ พูนพัฒน์ ในรุ่นปลาทูวันดีไซน์กล่าวว่า “ชัยชนะที่ได้รับมา ผมคิดว่าไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าโอกาสที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน เพราะเสมือนเราได้ร่วมสืบสานกีฬาที่พระองค์ทรงโปรดและทรงต้องการให้คนไทยนิยมกีฬาประเภทนี้”

1
นักกีฬาทีมชาติชุดซีเกมส์ที่เข้าร่วมการแข่งขัน

เช่นเดียวกับ อิทธินัย ยิ่งศิริ กัปตันเรือไพน์แปซิฟิก แชมป์รุ่นพรีเมียร์ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า 4 ปีซ้อน กล่าวว่า “ทีมไพน์แปซิฟิกตั้งใจร่วมลงแข่งขันทุกปีเพื่อเป็นการเชิดชูพระอัจฉริยภาพและน้อมเกล้าฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงริเริ่มและทำให้กีฬาเรือใบเป็นที่รู้จักในเมืองไทยตราบจนทุกวันนี้ การได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานที่มีพระปรมาภิไธย “ภปร.” ในปีนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติของทีมไพน์แปซิฟิกอย่างที่สุด”

ส่วน กีรติ บัวลง นักกีฬาเรือใบที่เข้าร่วมในโอลิมปิกและทีมชาติชุดซีเกมส์ในปีหน้า ซึ่งคว้าชัยในรุ่นเลเซอร์สแตนดาร์ด กล่าวว่า “ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาร่วมลงแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพครั้งนี้และได้รับถ้วยพระราชทาน ถือเป็นเกียรติสูงสุดของนักกีฬาเรือใบ ผมอยากจะชวนเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ให้มาเล่นกีฬาเรือใบเพื่อฝึกทั้งความมีวินัยในการฝึกซ้อม ทักษะต่างๆ รวมทั้งการต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เราควบคุมไม่ได้”

ภูเก็ต คิงส์คัพ ครั้งที่ 30 ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ เป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งของการหลอมรวมใจนักแล่นใบทั้งไทยและเทศเป็นดวงเดียวในการถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในกีฬาเรือใบ ซึ่งจะสถิตอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของพสกนิกร โดยเฉพาะนักกีฬาเรือใบ… ชั่วนิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image