สิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ ใกล้ปล่องทะเลลึก

ปูมีขนหรือปูเยติหรือฮอฟฟ์แคร็บ พบที่ปล่องใต้ทะเลลึกหลงชี่ (ภาพ-David Shale)

ปล่องใต้ทะเลลึก หรือ “ดีพ ซี เวนท์” คือบริเวณรอยแยกใต้ท้องมหาสมุทร ซึ่งเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก มีอยู่หลายจุดในพื้นมหาสมุทรทั่วโลก หลายจุดมีการสำรวจกันแล้วและมักพบสิ่งมีชีวิตแปลกๆ เป็นจำนวนมาก แต่ปล่องใต้ทะเลลึก “หลงชี่” ซึ่งเป็นภาษาจีนกลางที่หมายถึง “ลมหายใจมังกร” ที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวน้ำทะเล 2.8 กิโลเมตร อยู่ห่างจากชายฝั่งเกาะมาดากัสการ์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 2,000 กิโลเมตร ในมหาสมุทรอินเดีย ยังไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังกันมาก่อน จนกระทั่งทีมสำรวจโดยใช้ ยานสำรวจบังคับจากระยะไกล (อาร์โอวี) นำโดย จอน โคพลีย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ กับเรือสำรวจ อาร์อาร์เอส เจมส์คุก เดินทางไปสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากถ่ายภาพแล้วยังเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าวมาวิเคราะห์

ผลการสำรวจวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในจุลสารวิชาการ ไซน์ทิฟิก รีพอร์ตส์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

 หอยทากทะเลเกสโทรโปดาสายพันธุ์ใหม่ที่หลงชี่
หอยทากทะเลเกสโทรโปดาสายพันธุ์ใหม่ที่หลงชี่

ทีมสำรวจใช้อาร์โอวีลงไปสำรวจและเก็บตัวอย่างจากบริเวณใกล้กับปากปล่องใต้ทะเลลึกชนิดที่เรียกว่า “แบล็คสโมคเกอร์ เวนท์” ซึ่งจะพ่นเอาสารหลอมเหลวสีคล้ำเต็มไปด้วยไอร์ออนซัลไฟด์ ออกมา

หนอนทะเลมีขน สเกล เวิร์ม พบที่ปล่องใต้ทะเลลึกหลงชี่
หนอนทะเลมีขน สเกล เวิร์ม พบที่ปล่องใต้ทะเลลึกหลงชี่

ที่อุณหภูมิราว 300 องศาเซลเชียส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลายขนาด บางปล่องสูงเท่ากับอาคารหลายชั้นก็มี รวมทั้งปากปล่องซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “เจบเบอรีวอคกี” ที่มีความสูงจากพื้นทะเลถึง 6 เมตร และปากปล่องอีกชนิดที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าและพ่นเอาสารสีขาวใสออกมาซึ่งเรียกว่า “ดิฟฟิวส์ โฟลว์ เวนท์” อีกด้วย

Advertisement
เพรียงเดินจัดอยู่ในวงศ์ Neolepas พบที่หลงชี่เช่นเดียวกัน
เพรียงเดินจัดอยู่ในวงศ์ Neolepas พบที่หลงชี่เช่นเดียวกัน

สิ่งมีชีวิตที่ทีมสำรวจตรวจสอบพบมีทั้งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่รูปร่างแปลกตา ในเวลาเดียวกันก็พบสัตว์จำพวกทากทะเล ที่มักพบทั่วไปในบริเวณปากปล่องใต้สมุทรเช่นนี้อีกด้วย

สัตว์ที่พบว่ามีจำนวนมากที่สุดคือ ทากทะเลลึก (ชื่อวิทยาศาสตร์ ไจแกนโทเพลตา เอจิส Gigantopelta aegis) และสัตว์ในกลุ่มหอยมัสเซิลที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “บาไธโมดิโอลัส มาริซินดิคัส” (Bathymodiolus marisindicus) ทั้งยังพบหนอนทะเลมีขนหรือโพลีคีตา อีก 8 สายพันธุ์ โดย 2 ชนิดในจำนวนนี้ เป็นสเกลเวิร์มที่พบในอีสต์สโคเชียริดจ์ ซึ่งห่างออกไป 6,000 กิโลเมตร

ในส่วนของสัตว์ที่พบว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนก็คือ ปูที่บริเวณหน้าท้องเต็มไปด้วยขน หรือ “ฮอฟฟ์แคร็บ” หรือ “ปูเยติ” ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันกับปูเยติที่เคยพบในปล่องใต้ทะเลแอนตาร์กติกแต่เป็นคนละสายพันธุ์ และไม่มีพบที่ไหนอีกเลย, ทากทะเลลึก จี. เอจิส ก็เช่นเดียวกัน, นอกจากนั้นมีหนอนทะเลมีขนในวงศ์ Peinaleopolynoe, หนอนทะเลมีขนในวงศ์ Ophryotrocha, ทากทะเลในวงศ์ Phymorhynchus, และทากทะเลในวงศ์ Lepetodrilus

Advertisement

จอน โคพลีย์ ระบุว่า การค้นพบสัตว์สายพันธุ์เดียวกันกับที่อื่นๆ แสดงให้เห็นว่า การกระจายตัวของสัตว์ใต้ทะเลลึกที่ใช้ชีวิตอยู่ตามปากปล่องทำนองนี้นั้นมีมากกว่าที่คิดกันไว้แต่เดิม ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้แน่ใจได้ว่าสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ค้นพบที่หลงชี่ ก็อาจใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณอื่นๆ แถบตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดียเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า การกระจายตัวหรือการโยกย้ายจากที่หนึ่งไปยังปากปล่องอีกที่หนึ่งนั้น เป็นไปได้อย่างไรและเป็นไปเพื่ออะไรเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image