“ไทย” ทุบสถิติอุบัติเหตุจักรยานยนต์ รพ.กรุงเทพ แนะวิธีลดความสูญเสีย

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม โรงพยาบาลกรุงเทพ จัดงาน “Trauma Day: ให้ความรู้ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในผู้ป่วยวิกฤตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน” พร้อมแนะวิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความสูญเสียได้

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่ารายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนโลก ประจำปี 2015 (Global Status Report on Road Safety 2015) โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ในปี 2013 ที่ 24,237 คน นอกจากประเทศไทยจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร สูงเป็นอันดับที่สองของโลกแล้ว ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอันตรายสูงที่สุดในโลกสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยมีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนอยู่ที่ 26.3 คน โดยประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน เป็นอันดับที่ 2 ที่ 18.5 ในขณะที่อันดับที่ 2, 3 และ 4 ในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ประเทศมาเลเซีย 14.9 กัมพูชาเป็น 12.3 และลาว 9.6 ตามลำดับ

S__18382853

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกรุงเทพ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยแต่ละเคส จะมีความซับซ้อนของการบาดเจ็บใน หลายอวัยวะ ต้องใช้ทีมแพทย์สหสาขาในการรักษา การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่ว่าจะเกิดจาก จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ การช่วยเหลือความแตกต่างกัน ในเบื้องต้นผู้พบเห็นควรประเมินความปลอดภัยของ สถานที่เกิดเหตุว่าอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำได้หรือไม่ และสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บมีความรุนแรงเพียงใด เพราะหากอาการรุนแรงมาก การเข้าไปช่วยเหลือ หรือเข้าไปเคลื่อนย้ายร่างกายผู้บาดเจ็บในทันทีอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยหรือโรงพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด

Advertisement

พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต้องประเมินสถานการณ์ ร่วมกับประเมินการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวางแผนการเคลื่อนย้ายและดูแลได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานการดูแลผู้บาดเจ็บ Prehospital Trauma Life Support(PHTLS) ก่อนนำส่งยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างรวดเร็ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการ โดยศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ (Bangkok Trauma Center) เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบก และทางอากาศ พร้อมรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์โทร 1724 หรือ 1719

สิ่งสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บคือ ความปลอดภัย รถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจึงมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วยอุปกรณ์ตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง อาทิ เครื่องติดตามสัญญาณชีพ และเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องควบคุมการให้ยา และสารน้ำ, เครื่องดูดเสมหะสำหรับดูแลผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ป่วยในระหว่างการเคลื่อนย้ายจนถึงโรงพยาบาล

นพ.ยอดรัก ประเสริฐ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุแล้วได้รับบาดเจ็บทางสมอง เช่น หกล้มหรือตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน การขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ในกรณีที่ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ผู้ที่พบเจอจะต้องสังเกตดูว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ และยังสามารถตอบโต้พูดคุยได้เป็นปกติหรือไม่ โดยปกติอาการบาดเจ็บที่มีต่อสมองอาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด หรือมักเกิดปัญหาขึ้นภายใน 24 ถึง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ อาการที่เกิดขึ้นภายหลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว ก็อาจเกิดขึ้นได้แต่พบได้น้อย ส่วนมากพบในผู้สูงอายุ อาการที่สามารถพบได้หลังเกิดอุบัติเหตุคือ ผู้ป่วยอาจหมดสติทันที หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ระดับความรู้สึกตัวน้อยลง ซึมหรือหลับมาก ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง และเมื่อพบอาการเหล่านี้ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการบาดเจ็บและรักษาได้อย่างทันท่วงที

Advertisement

S__18382854_1

“อาการผิดปกติของผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะที่ควรมาพบแพทย์โดยด่วนได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติหลังเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ ผู้ป่วยที่มีอาการชัก เกร็ง หรือ กระตุก หรือผู้ป่วยมีอาการเพ้อ โวยวาย หรือกระสับกระส่าย ผู้ป่วยมีอาการซึม หรือระดับความรู้ตัวลดลง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง กินยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือมีแรงไม่เท่ากัน มีน้ำใสๆ หรือเลือดไหลออกจากจมูกหรือหู มีอาการตาลาย มองภาพไม่ชัด ฯลฯ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image