อังกฤษกำลังจะมี ทารก’พ่อแม่3คน’!

นพ.จอห์น จาง กับเด็กทารกรายแรกของโลกที่เกิดจากดีเอ็นเอของพ่อแม่ 3 คนที่เม็กซิโก (ภาพ-New Hope Fertility Center)

มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่ภายในปี 2017 ที่จะถึงนี้ประเทศอังกฤษจะมีเด็กทารกที่กำเนิดจากบิดา-มารดา รวม 3 คน ตามกรรมวิธีทางการแพทย์ระดับเซลล์ที่เรียกว่า “ไมโทคอนเดรีย รีเพลซเมนต์ เธราพี” หรือวิธีการรักษาโรคด้วยวิธีการทดแทนไมโทคอนเดรีย ซึ่งนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เอ็มอาร์ที” ที่ยังจัดอยู่ในระยะของการ “ทดลอง” รักษาโรคไมโทคอนเดรียอยู่เท่านั้น

ความเป็นไปได้ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่องค์การคัพภวิทยาและการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ (เอชเอฟอีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกรณีดังกล่าวเปิดไฟเขียวให้บรรดาคลินิกที่กำลังทดลองการรักษาด้วยแนวทางนี้ยื่นคำร้องขอรับอนุญาตดำเนินการได้ โดยทางเอชเอฟอีเอแถลงดังกล่าวหลังการประชุมล่าสุดเพื่อทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความปลอดภัยของกระบวนการรักษาเอ็มอาร์ทีแล้ว

ในทันทีที่มีประกาศดังกล่าว ทีมแพทย์จากเมืองนิวคาสเซิลยืนยันทันทีว่าจะเตรียมเคสของตนเองเพื่อยื่นขอคำรับรองจากทางเอชเอฟอีเอภายใน 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับอีกหลายสถาบันทางการแพทย์ที่เตรียมการขออนุมัติในทันที ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะทำให้ทารกพ่อ-แม่ 3 คนลืมตาออกมาดูโลกได้ก่อนสิ้นปี 2017 แน่นอน

“เอ็มอาร์ที” เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสตรีที่มีลักษณะทางพันธุกรรมผิดปกติ เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ของไมโทคอนเดรียภายในดีเอ็นเอ ซึ่งจะส่งต่อสู่ลูกหลานต่อไปในอนาคต ทุกวันนี้มีทารกแรกเกิด 1 รายในทุกๆ 10,000 ราย ได้รับผลกระทบจากโรคไมโทคอนเดรียนี้ เด็กที่ป่วยเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากภาวะกลายพันธุ์ส่งผลให้สมอง, หัวใจ, กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อที่ต้องการพลังงานไม่ทำงาน

Advertisement

“ไมโทคอนเดรีย” เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายในเซลล์ของมนุษย์ มีขนาดเล็กจิ๋ว ลักษณะคล้ายไส้กรอก ทำหน้าที่เป็นเหมือนแบตเตอรี่จ่ายพลังงานให้กับเนื้อเยื่อต่างๆ ในแต่ละเซลล์สามารถมีไมโทคอนเดรียได้หลายร้อยชิ้น โดยลักษณะทางพันธุกรรมของไมโทคอนเดรียจะสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้โดยผู้เป็นมารดาเท่านั้น

“เอ็มอาร์ที” เป็นกระบวนการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไมโทคอนเดรียถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป โดยการนำเอาไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์จากผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ไมโทคอนเครียที่กลายพันธุ์หรือบกพร่องในไข่ของผู้เป็นมารดา กระบวนการเริ่มต้นด้วยการนำไข่ของมารดาที่ได้รับการผสมกับเชื้อของผู้เป็นบิดาแล้วออกมา ดึงเอานิวเคลียสของไข่ออกมาเก็บไว้ จากนั้นนำไข่ของผู้บริจาคซึ่งไม่มีความบกพร่องของไมโทคอนเดรียมาผสมกับเชื้อของผู้เป็นบิดา จากนั้นนำออกมาเพื่อดึงเอานิวเคลียสของไข่ออกมาทำลายทิ้ง ขั้นตอนสุดท้ายเป็นกระบวนการนำเอานิวเคลียสจากไข่ของผู้เป็นมารดาไปใส่แทนที่นิวเคลียสของไข่ผู้บริจาค

ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการเอ็มอาร์ทีนี้จะได้ทารกที่มีโครโมโซม (ที่มีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเออยู่ภายใน) ซึ่งถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อและแม่ครบถ้วนทั้ง 46 คู่ ดีเอ็นเอทั้ง 46 คู่นี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดบุคลิกลักษณะทั้งหมดของทารกผู้นั้น แต่ปลอดภัยเพราะได้รับไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์จากผู้บริจาค บวกกับดีเอ็นเอเพิ่มจากผู้บริจาค (ซึ่งเป็นดีเอ็นเอที่พบอยู่ภายในไมโทคอนเดรีย) เท่ากับเป็นเด็กที่มีดีเอ็นเอจากพ่อแม่ 3 คนนั่นเอง ทั้งนี้ตามกฎหมายของอังกฤษ ผู้บริจาคไม่มีสิทธิความเป็นมารดาเหนือทารกที่เกิดขึ้น

ในขณะที่เอ็มอาร์ทีเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสตรีที่เป็นโรคไมโทคอนเดรียและต้องการมีลูก แต่ก็มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า ดีเอ็นเอที่กลายพันธุ์และยังคงหลงเหลืออยู่ในตัวอ่อนที่ผ่านการรักษาภายใต้กระบวนการนี้อาจกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่และเป็นไปได้ที่จะทำให้กระบวนการทั้งหมดล้มเหลวโดยสิ้นเชิงได้

ถ้าหากมีผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้กระบวนการนี้จริงในเร็วๆ นี้ ทารกที่เกิดมาจากกระบวนการเอ็มอาร์ทีจะเป็นทารกคนแรกที่มีดีเอ็นเอจากพ่อแม่ 3 คนในประเทศอังกฤษ แต่ไม่ใช่รายแรกของโลก

ทารกเอ็มอาร์ทีรายแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ โดยการแถลงของทีมแพทย์อเมริกัน ซึ่งไปดำเนินกระบวนการทั้งหมดในประเทศเม็กซิโกที่ไม่มีกฎหมายเรื่องนี้อยู่ จากการตรวจสอบดีเอ็นเอของเด็กทารกรายแรกที่เกิดจากกระบวนการเอ็มอาร์ทีดังกล่าวนี้ พบว่าจำนวนดีเอ็นเอกลายพันธุ์ลดลงจนถึงระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดโรคได้

แต่ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบเป็นระยะจนกว่าจะโตจึงจะสามารถแน่ใจได้เต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image