“ดร.รัศมี” เผยข้อมูลมนุษย์โบราณในไทยป่วย “ฟันผุ-ฟันสึก” เพียบ ชี้กินอาหารเป็นเส้นใย

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช (ภาพจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ปรากฏในบทความโดย รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ตีพิมพ์ในหนังสือ “พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี : ความจริงและภาพแทน” จัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

บทความดังกล่าว มีชื่อว่า “ผู้หญิง จากหลักฐานทางโบราณคดี” เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า หลักฐานที่บ่งบอกสุขภาพของผู้หญิงส่วนใหญ่มาจากหลุมฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจำนวนมากในไทย ยกตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในสมัยสำริดและเหล็ก อายุ 1,500-3,000 ปีมาแล้ว เป็นสังคมที่ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง มีการทำการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ พบโครงกระดูกมนุษย์ 120 โครง มีผลการวิเคราะห์โครงกระดูกอย่างละเอียด พบว่ามีประชากรผู้หญิง 21 คน ผู้ชาย 27 คน เด็กและทารก 53 คน และไม่สามารถระบุเพศได้อีก 19 คน

สำหรับผู้หญิงมีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว จำนวน 7 คน กลางคน 6 คน สูงอายุ 7 คน และไม่สามารถระบุอายุได้ 1 คน ทำให้ทราบว่าผู้หญิงที่แหล่งโบราณคดีโนนอุโลกมีค่าอายุยืนยาวราว 40 ปี

โรคภัยไข้เจ็บ มีตัวอย่างของวัณโรค พบลักษณะผิดปกติของโครงกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจจะเป็นฝีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ทั่วไปหรืออาจจะเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ หรือโรคที่พบทั่วไปที่เกี่ยวกับโรคฟันผุ และโรคในช่องปาก ได้แก่ ฟันผุ ฟันติดเชื้อ ฟันหลอ เหงือกร่น และฟันสึกอย่างมาก แสดงให้เห็นว่ากินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้ยใย ทำให้ฟันสึกกร่อน ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากการศึกษาโดยแนนซี เทเลส ชาน ฮาลโคลว และแคเธอริน โดเมทท์ เมื่อ พ.ศ.2552

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image