เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือน กสิกรฯคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ

แฟ้มภาพ

“เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง โดยแรงขายของต่างชาติหลังเงินบาทอ่อนค่า”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือนที่ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายสุทธิในหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯยังคงมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐในปีหน้า อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากที่นักลงทุนบางส่วนมีการขายทำกำไรเงินดอลลาร์ฯออกมาก่อนช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลในช่วงปลายปี

สำหรับในวันศุกร์ (23 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (16 ธ.ค.)

เงินบาท

Advertisement

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.80-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ อาทิ ดัชนีราคาบ้านเดือน ต.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ดี การซื้อขายในตลาดอาจเริ่มเบาบางลงก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดสิ้นปี โดยตลาดการเงินสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันคริสต์มาส

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง โดยแรงขายของต่างชาติหลังเงินบาทอ่อนค่า โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,509.98 จุด ลดลง 0.82% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง 30.18% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 34,112.76 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 599.03 จุด ลดลง 0.83% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงในตุรกีและเยอรมนี ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับฟื้นตัวขึ้นในวันศุกร์ โดยมีแรงซื้อ LTF และ RMF กลับมา หลังราคาหุ้นปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า

Advertisement

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,530 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่และแรงซื้อ LTF และ RMF ในช่วงท้ายปี ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image