สื่อนอกเผยสาวมะกันนักค้าโบราณวัตถุจนมุม ถูกสหรัฐรวบตัว-โยงโพธิสัตว์ นักวิชาการจี้ รบ.เร่งทวงคืน

พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)


นักวิชาการสบโอกาสแจ้งกรมศิลป์-รัฐบาลช่วยไล่ทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี ปราสาทเขาปลายบัดคืนจากสหรัฐ ภายหลังนักค้าของเก่าต่างชาติถูก ตร.มะกันจับตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ตลอดการทำกิจกรรมเพื่อทวงคืนสมบัติชาตินั้น นักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้กรมศิลปากรเพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนวคิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่พักและร้านค้า ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานถึงการจับกุม น.ส.แนนซี วีเนอร์ นักค้าของเก่าผู้มีส่วนในขบวนการค้าโบราณวัตถุรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวทวงคืนพระโพธิสัตว์จากปราสาทเขาปลายบัด กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าวกับแหล่งข่าวที่สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง คดีดังกล่าวมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นคดีตัวอย่างที่สามารถเชื่อมโยงมาถึงการทวงคืนโพธิสัตว์ของไทย ที่ผ่านมาตนและคณะทำงานกลุ่ม “สำนึก 300 องค์” รวมตัวกันเพื่อผลักดันการทวงคืน ได้มีการติดต่อกับนายเจสัน เฟลช์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านตลาดมืดของโบราณวัตถุ โดยนายเจสันให้ความเห็นว่าหากรัฐบาลไทยเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินการจะช่วยได้มาก

“กลุ่มสำนึก 300 องค์ มีการติดต่อกับทางนักข่าวที่อเมริกาตลอด เขาต้องการแค่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศไทยติดต่อเขาในฐานะตัวแทนของประเทศไทยเท่านั้น แล้วเขาจะตามสืบจับขบวนการค้าพวกนี้เอง เรื่องนี้ผมได้มอบหลักฐานแก่กรมศิลปากรแล้ว กรมศิลปากรน่าจะศึกษาข้อมูลให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ ในส่วนของภาครัฐ ทางทีมงานได้ส่งมอบรายงานให้ท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับทราบแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า” นายทนงศักดิ์กล่าว

Advertisement

ด้านนิวยอร์กไทม์สและวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า น.ส.แนนซี วีเนอร์ นักค้าโบราณวัตถุและผลงานศิลปะชื่อดังที่สุดคนหนึ่งในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ข้อหาสมคบคิดเพื่อให้ได้ครอบครองโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขโมยมาจากต่างประเทศและปลอมแปลงเอกสารเพื่ออำพรางประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มาของวัตถุนั้นๆ รวมเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

การจับกุม น.ส.วีเนอร์เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนเรื่องการลักลอบค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในระดับนานาชาติเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ในชื่อ “ปฏิบัติการเทวรูปแฝงเร้น” (โอเปอเรชั่น ฮิดเดน ไอดอล)

ในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลอาญาเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก พนักงานอัยการและสำนักงานอัยการเขตแมนฮัตตันระบุว่า น.ส.วีเนอร์และผู้ร่วมสมคบคิดส่วนหนึ่งลักลอบนำโบราณวัตถุผิดกฎหมายเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นอย่างน้อย อัยการระบุว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวปรากฏขึ้นมาหลังจากช่วงเวลาหลายเดือนของการพูดคุยสอบถามผู้ให้ข้อมูลหลายรายในทางลับ การตรวจสอบอีเมล์และเอกสารอื่นๆ ที่ยึดมาได้หลายพันฉบับจากการบุกเข้าตรวจค้นหอแสดงผลงานศิลปะของ น.ส.วีเนอร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และช่วงเวลาหลายปีในการสืบสวนเรื่องเครือข่ายขบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ

Advertisement

คดีนี้มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบและประเมินสถานะของทรัพย์สินของบริษัทประมูลก่อนหน้าที่จะรับเป็นผู้จัดการประมูลขายวัตถุต่างๆ ในคำฟ้องที่สำนักงานอัยการแมนฮัตตันร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจากสำนักงานสืบสวนสอบสวนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิตั้งแต่ปี 2542-2559 ระบุว่า น.ส.วีเนอร์รับซื้อและจัดทำเอกสารปลอมสำหรับวัตถุที่เธอรู้ว่าถูกลักลอบนำมาจากแหล่งโบราณคดี วัด หรือสถานที่ชนบทห่างไกลอื่นๆ ในเอเชียอย่างผิดกฎหมาย หลังจากนั้นนำมาทำความสะอาดและขายวัตถุนั้นต่อให้กับสำนักประมูล ผู้ซื้อที่เป็นนักสะสมเอกชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในระดับนานาชาติ

นักสะสมบางส่วนยังเผยอีกว่า โบราณวัตถุหลายชิ้นเคยซื้อขายกันด้วยวิธีการยื่นหมูยื่นแมวโดยไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ดังนั้นการใช้กฎหมายที่เข้มงวดมาควบคุมดูแลเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการนักสะสมของเก่า

“จำเลยใช้กระบวนการฟอกทำความสะอาดที่รวมถึงการใช้บริการซ่อมแซมเพื่อปกปิดซ่อนเร้นร่องรอยความเสียหายของโบราณวัตถุที่มาจากการขุดค้นอย่างผิดกฎหมาย การซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของในการประมูลเพื่อสร้างประวัติสถานะความเป็นเจ้าของแบบหลอกๆ และสร้างเอกสารหลักฐานแหล่งที่มาปลอมที่มีการลงวันที่ย้อนหลังไว้ก่อนที่อนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ.1970 ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หรือที่รู้จักกันในชื่ออนุสัญญายูนิดรัว มีผลบังคับใช้” คำฟ้องระบุ

คดีของ น.ส.วีเนอร์ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงประเด็นเรื่องความพยายามตรวจสอบปราบปรามการลักลอบขโมยโบราณวัตถุมาขายในตลาดศิลปะระดับนานาชาติที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการควบคุมที่ดีพอ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักประมูลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษากฎหมายให้มีกระบวนการตรวจสอบไปถึงแหล่งที่มาหรือต้นกำเนิดของโบราณวัตถุที่พวกเขารับประมูลให้ดีขึ้น

ยกตัวอย่างในกรณีหนึ่งที่ น.ส.วีเนอร์ร่วมกับผู้ค้าอีกรายซื้อเทวรูปพระศิวะบาปวนยุคศตวรรษที่ 11 จากกัมพูชามาในราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 ล้านบาท) เมื่อปี 2551 เทวรูปดังกล่าวเป็นพระศิวะในท่ายืนถูกส่งไปฝากขายที่สำนักประมูลซอเธอบีส์ในนครนิวยอร์ก เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นรอยแตกหลายแห่งมีร่องรอยการถูกทาสีทับบ่งชี้ได้ว่าเป็นกระบวนการซ่อมแซมเพื่อปกปิดความเสียหายจากการขโมยมา แต่ น.ส.วีเนอร์บอกกับทางซอเธอบีส์ว่าซื้อเทวรูปนี้มาจากนักค้าโบราณวัตถุเมื่อปี 2511 และไม่มีหลักฐานเอกสาร ต่อมาซอเธอบีส์ได้ขายเทวรูปพระศิวะออกไปเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ในราคา 578,500 ดอลลาร์ (20.80 ล้านบาท) ด้านโฆษกของซอเธอบีส์ระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลในการสอบสวนเรื่องนี้

ข่าวระบุว่า น.ส.วีเนอร์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ในเรื่องการสมคบคิดและครอบครองทรัพย์สมบัติที่ถูกขโมยมา และได้รับการประกันตัวออกไปด้วยเงินจำนวน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 900,000 บาท)

ทั้งนี้ น.ส.วีเนอร์และดอริส แม่ของเธอที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2554 ถือเป็นนักค้าโบราณวัตถุและผลงานศิลปะชื่อดังในนิวยอร์กมานาน ทั้ง 2 ได้รับการยกย่องในฐานะผู้เริ่มต้นบุกเบิกตลาดงานศิลปะจากอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกค้าของทั้งคู่มีตั้งแต่แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกา อิกอร์ สตราวินสกี คีตกวีชื่อดังชาวรัสเซีย และมหาเศรษฐีจอห์น ดี ร็อกกีเฟลเลอร์ที่ 3 นอกจากนี้ลูกค้าของแม่ลูกตระกูลวีเนอร์ยังมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในสหรัฐและทั่วโลก แต่ในปัจจุบันยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐที่ต้องสงสัยว่าจะซื้อโบราณวัตถุผิดกฎหมายจากตระกูลวีเนอร์

ข่าวระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2558 น.ส.วีเนอร์ต้องคืนเงิน 1.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (38.88 ล้านบาท) ให้กับหอศิลปะแห่งชาติออสเตรเลียสำหรับพระพุทธรูปสมัยกุษาณะที่เธอขายให้ไปเมื่อปี 2550 หลังจากทางการอินเดียระบุว่าเป็นโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไป

พนักงานอัยการยังระบุในคำฟ้องว่า หลังจากดอริสแม่ของเธอเสียชีวิต น.ส.วีเนอร์ได้รับมรดกเป็นโบราณวัตถุผิดกฎหมายจำนวนมากอยู่ในห้องจัดแสดงงานศิลปะ เธอได้จัดทำเอกสารการเป็นเจ้าของและแหล่งที่มาของวัตถุดังกล่าวขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และได้ฝากให้สำนักประมูลคริสตีส์ขายเป็นจำนวน 380 ชุดด้วยกัน ทั้งหมดได้รับการประมูลซื้อไปในเดือนมีนาคม 2555 รวมเป็นมูลค่า 12.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (460.8 ล้านบาท)

รายงานข่าวยังระบุว่า วัตถุบางชิ้นที่ น.ส.วีเนอร์ครอบครองอยู่เป็นโบราณวัตถุของอินเดียที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในสหรัฐโดยนายสุภัช คาปูร์ นายหน้าค้างานศิลปะที่มีชื่อเสียงในย่านแมนฮัตตัน ปัจจุบันถูกดำเนินคดีอยู่ในอินเดีย นายคาปูร์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในนิวยอร์กเรื่องการครอบครองวัตถุที่ถูกขโมยมา 2,622 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 107.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,873.6 ล้านบาท)

เว็บไซต์เชสซิงอโฟรไดตีที่ติดตามเรื่องนี้ รายงานว่า เครือข่ายการลักลอบค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกับ น.ส.วีเนอร์มีโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปจากอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย กัมพูชา รวมถึงไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image