วงเสวนาชำแหละ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ หลายฝ่ายกังวลคำนิยามคลุมเครือ อำนาจกลุ่มคนใช้ดุลพินิจมากเกิน

ธรรมศาสตร์จัดเสวนาชำแหละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลายฝ่ายกังวลคำนิยามยังคลุมเครือ ให้อำนาจกลุ่มคนใช้ดุลพินิจมากเกินไป หมิ่นเหม่ปิดกั้นเสรีภาพความคิดเห็นและสิทธิส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา “ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2559” โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อี๊งภากรณ์

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องเป็นไปตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน ในตัวกฎหมายที่ออกมาโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเห็นว่ามีข้อความว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งเป็นการใช้คำกว้างขวาง ตีความได้หลากหลาย อะไรบ้างขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ที่จะไม่กระทบต่อชีวิตทั่วไปของประชาชน มีสิ่งน่ากังวลกับ พ.ร.บ.นี้ คือ การใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องจำเป็นต้องรับฟังอย่างกว้างขวาง และต้องไม่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจโดยลำพังของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีคำถามว่า รัฐจะใช้กฎหมายนี้รักษาสมดุล ระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยฯ กับสิทธิการแสดงความคิดเห็น สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้อย่างไร ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการใช้ดุลพินิจนั้นอะไรหรือผิดถูก และเป็นการใช้ดุลยพินิจเพื่อเป็นการปกป้องประชาชน ไม่ใช่เพียงปกป้องอำนาจรัฐอย่างเดียว

นางอังคณา กล่าวว่า กรรมการสิทธิ์ฯ เคยมีข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพ์ แก่สนช. เน้นย้ำและเทียบเคียงกับอนุสัญญาระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน วันนี้มีคนแฮ็กข้อมูลเข้าไปทำให้เว็บไซต์ภาครัฐล่มหลายเว็บ ก็อาจจะมาจากการแสดงความไม่พอใจกับ พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับแก้ไข การจะไล่จับว่าใครเป็นใครนั้น อาจจะต้องหันมาที่บังคับใช้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น การจะจับใครด้วยข้อหาอะไร ญาติมีสิทธิรู้ที่อยู่ของผู้ถูกจับ เป็นเรื่องพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

Advertisement

“วันนี้นักปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากขึ้น เรายังไม่มีกฎหมายหยุดการข่มขู่ ให้นักสิทธิทำงานปกป้องสิทธิชุมชนได้เต็มที่ รัฐต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย การใช้เสรีภาพต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิกันและกัน หลายครั้งรัฐมองประชาชนเป็ยพวกต่อต้านสร้างความวุ่นวาย ควรหันหน้ามาคุยกันและเรียนรู้เคารพสิทธิกันและกัน ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายภายในประเทศ แต่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตามในเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพการแสดงความเห็นประชาชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาธิไตย การมีรัฐบาลทหารไม่ได้หมายว่าเรามีประชาธิปไตยไม่ได้ ประชาชนต้องสามารถใช้กฎหมายตรวจสอบรัฐได้เช่นเดียวกับที่รัฐตรวจสอบประชาชน”

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่าน สนช. มีทั้งที่ดีขึ้น แย่ลง และมีความเป็นลิเก ซึ่งคือไม่เขียนกฎหมายหรือเขียนก็ไม่ต่างกัน แต่บอกไม่ได้ว่าดีกับแย่อะไรมากกว่ากัน กล่าวคือ มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 14 วงเล็บหนึ่ง ระบุว่า โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เขียนกฎหมายแบบนี้ทำให้มีความชัดเจนขึ้น ที่แยกจากกฎหมายหมิ่นประมาท เพราะเดิมมีการฟ้องร้องคดีรวมกันทั้งหมิ่นประมาทและกฎหมายคอมพิวเตอร์

“โดยรวมถือว่าใช้ได้ แต่ที่แย่มากคือในกฎหมายมีคำว่า “บิดเบือน” ถูกนำไปตีความกลายเป็นองค์ประกอบในการจะปิดปากวิพาก์วิจารณ์ และที่เป็นลิเก คือที่ระบุว่า อันมิใช่ประมวลความผิดตามกฎหมายอาญา คือให้ความหมายว่า ความผิดมาตรานี้ไม่ใช่ความผิดอีกมาตราหนึ่ง เป็นการเขียนที่ไม่มีประโยชน์เพราะไม่ต่างกัน” นายยิ่งชีพกล่าวและว่า สาเหตุที่คัดค้านกฎหมายนี้มาตลอดเพราะจะแก้ทั้งทีทำไมไม่ให้จบปัญหา แก้ครึ่งๆกลาง ส่วนตัวมองว่าหากจะทำอย่างนี้ไม่แก้ดีกว่า อาจจะแก้ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในภายหลังก็ได้

Advertisement

นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมายมอง พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับนี้ด้วยความเข้าใจเจตนาดี ทำเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะ มาตรา 14 เป็นปัญหามาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พอแก้ไขออกมาก็มีคำถามว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ มีหลายคนพูดว่ากฎหมายนี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลอินเตอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาคือการสร้างสมดุล ตั้งกรรมการ 9 คนช่วยดูแล สุดท้ายก็เอาการสร้างสมดุลไปอยู่ในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะหยุดยั้งมาตรการจำกัดสิทธิได้อยู่ดี สิ่งที่ควรทำ คือลดการใช้คำในกฎหมายที่กำกวม กฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน คือ จะต้องกระทำตามกฎหมาย เป็นไปด้วยเหตุผลชอบธรรม และมีความสมดุล “เข้าใจเจตนาดีของผู้ออกกฎหมาย แต่การเปิดช่องให้กำกับมากเกินไป ทำให้การใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่มากเกินไป จะส่งผลให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต และขัดขวางการเติบโตของวิจารณญาณของคนในสังคม แทนที่จะให้เกิดการถกเถียง”

นางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวว่า ประเทศไทยนำเทรนด์ในภูมิภาค นับเวลาที่ออกกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เริ่มตั้งแต่ปี 2550 ขณะประเทศอื่นๆ เพิ่งจะออกมา 4-5 ปีให้หลัง ซึ่งไทยเคยมีสถานะเสรีภาพการแสดงความเห็น แต่พอมีกฎหมายนี้ออกมากดทับ คนจะเห็นว่าไทยขยับจากประเทศเสรี เป็นเสรีบางส่วน และกำลังกลายเป็นไม่มีเสรี ขณะที่พม่าจากที่ติดลบสถานะเสรี การแสดงความเห็นกลับดีขึ้นตามลำดับ

“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ออกมาเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีข้อความระบุว่า การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ พบว่าลาว เวียดนาม ก็มีที่ห้ามพูดถึงข้อมูลเท็จ แต่หลายเรื่องจะพิสูนจ์ได้อย่างไรว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ในระดับภูมิภาคคนใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น จะเห็นว่ารัฐแต่ละรัฐหันมาตรวจตราโลกออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ หลายประเทศมีกลไกปิดข้อมูลและตรวจตราการสื่อสารในโลกออนไลน์เกิดขึ้น คนตรากฎหมายอาจมองว่าไม่กระทบเสรีภาพสื่อเท่าไรนัก แต่ในระดับภูมิภาคจะเอาใช้ปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐได้ ซึ่งไทยก็น่าจะหลีกเลี่ยงจุดนี้ไม่ได้ “เมื่อรัฐพยายามจะบล็อกความเห็นของประชาชน อยากให้สื่ออยู่เคียงข้างประชาชนมากกว่านี้”

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen) กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีเรื่องน่ากังวลหลายมาตรา เช่น มาตรา 15 ระบุว่าผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 นอกจากนี้ในมาตรา 14 ยังมีข้อน่ากังวลว่าผู้ให้บริการจะมั่นใจว่าเรื่องร้องเรียนเข้ามาจะเป็นจริงหรือถูกต้องหรือไม่ เมื่อมีคำในกฎหมายที่กว้างและคลุมเครือ

นางสาวสฤณี กล่าวว่า มาตรา 20 ก็น่ากังวล ต้องตามดูกฎกระทรวงที่ให้กระทรวงดิจิทัลฯมีศูนย์กลางการทำงานหรือประสานงาน หรือระงับการทำให้แพร่หลายและลบ หรือเชื่อมกับผู้ให้บริการได้ ตรงนี้ไม่ใช่แค่ประสานงาน มีกลุ่มเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเองได้ไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่กระทบข้อมูลส่วนอื่นผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการหลายคนเฝ้าจับตามองและควรมีส่วนร่วมกับการร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้

“ยังเวลาประมาณ 120 วัน ร่างประกาศกระทรวงต่างๆ จะออกมา หลัง พ.ร.บ.คอมพ์ ผ่าน สนช. อยากให้ติดตาม รัฐบอกยินดีเปิดประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ประเด็นหนึ่งต้องจับตามองจริงๆ และสำคัญมาก คือ ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใน 1-2 เดือนจะมีกฎหมายเข้า สนช. กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสุดท้ายต้องตั้งคำาถามว่า ต้องการให้สังคมออนไลน์เป็นแบบไหน และสังคมออนไลน์จะสร้างสังคมเป็นแบบไหน หากต้องการให้สังคมเปิดกว้าง ไม่มีทางเป็นได้ที่จะยกให้กลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ตัดสิน”

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สิ่งน่ากังวล คือไม่มีอายุความ เจอเมื่อไรฟ้องเมื่อนั้น สื่อกระแสหลักในปัจจุบันก็มีเว็บไซต์ ส่วนการเพิ่มคำว่า “บิดเบือน” ในกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าใช้ทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนมาตรา 20 ตัวใหม่นอกจากมีคณะกรรมการกลั่นกรอง มีวิธีปฏิบัติพิจารณาคดีอาญา ทำให้มีหลายชั้นกว่าจะปิดคดีได้ ต่างจากเดิมที่มีขั้นตอนน้อยกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image