ห้า “แนวรบ” ของ คสช.! สงครามของรัฐบาลทหาร 2559

“ก็เพราะข้าพเจ้าจะไม่ยอมเป็นทาส ข้าพเจ้าจึงไม่ยอมเป็นนาย และนี่แหละคือประชาธิปไตยในความคิดของข้าพเจ้า”

อับราฮัม ลินคอล์น

หากดูจากแนวโน้มทางการเมืองของปี 2559 ที่เริ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในปีที่เริ่มขึ้นนี้น่าจะทวีความเข้มข้นมากกว่าปี 2558 ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน จนปี 2559 อาจจะกลายเป็น “ปีวานรอาละวาด” ได้ไม่ยากนัก (ดูบทความของผู้เขียนใน มติชนสุดสัปดาห์, 15-21 มกราคม 2559)

และพร้อมกันนี้ก็อาจส่งผลให้มนต์ขลังของทหารกลายเป็นเวลาที่ “มนตราเสนา” เสื่อมคลายลงได้ไม่ยากนัก (ดูบทความของผู้เขียนใน มติชนสุดสัปดาห์, 22-28 มกราคม 2559)

Advertisement

จนอาจจะต้องกล่าวว่าปี 2559 เป็นช่วงระยะเวลาที่ “Critical” และจะต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ในสภาพเช่นนี้ การต่อสู้ทางการเมืองของ คสช. และรัฐบาลทหารในปี 2559 จึงมีทั้งแรงต้านและแรงหนุนในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจสถานะดังกล่าว ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบฝ่ายที่มีความเห็นแย้งเป็นดัง “แนวรบ” ของรัฐบาลทหาร ที่จะต้องต่อสู้กันใน “สงครามการเมือง” กันต่อไป

5 แนวรบรัฐบาลทหาร

หากทดลองสำรวจแล้ว เราอาจจะพอประมาณสถานการณ์ได้ว่า รัฐบาลทหารจะเผชิญกับแรงต้าน ใน 5 ทิศทางหลัก

ได้แก่

1)

แนวรบทางการเมือง

นับตั้งแต่ความสำเร็จของการรัฐประหารของ คสช. ในเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาสามารถใช้พลังอำนาจทางทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนด้วยความง่ายดาย

แม้จะมีการคาดการณ์ว่ารัฐประหารอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่และเสี่ยงต่อการนำพาประเทศไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้นำกองทัพกลับสามารถเข้าควบคุมระบบการเมืองได้อย่างง่ายดาย จนเกิดความประมาทว่าการควบคุมระบบการเมืองของประเทศเป็นเรื่องง่าย

ดังคำกล่าวของผู้นำทหารที่ว่าการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องยากอะไร

แต่หลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ปฏิกิริยาของประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีความเห็นในการสนับสนุนรัฐประหาร ได้ค่อยๆ ก่อตัวและแสดงออกถึงการคัดค้านในรูปแบบต่างๆ

และจนแม้ปัจจุบันอาการของการต่อต้านรัฐประหารก็ยังไม่ยุติแต่อย่างใด แม้จะมีความพยายามในการควบคุมการแสดงออกด้วยการเรียกไป “ปรับทัศนคติ” เพื่อหวังว่าฝ่ายที่เห็นต่างจะเกิดความกลัว และหยุดการแสดงออกในการต่อต้านรัฐบาลทหาร

การต่อสู้เช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “แนวรบทางการเมือง” ระหว่าง คสช. กับฝ่ายที่เห็นต่าง และการต่อสู้ในแนวรบเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น

แนวรบการเมืองในปี 2559 จะรวมศูนย์อย่างมากอยู่กับปัญหารัฐธรรมนูญ เพราะค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่า รัฐธรรมนูญในฐานะกรอบกติกาใหญ่ทางการเมืองของประเทศกำลังถูกร่างให้รองรับต่อการดำรงอยู่ของอำนาจทหารหลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น และทั้งยังจะดำรงอยู่ต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญกำลังถูกร่างเพื่อให้ระบบการเลือกตั้งในอนาคตเป็นกระบวนการที่ไม่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชน

หากแต่เป็นกระบวนการเพื่อการควบคุมระบบการเลือกตั้ง

หรือที่เรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า รัฐธรรมนูญถูกร่างเพื่อการจัดตั้ง “ระบบไฮบริด” (Hybrid Politics)

เพื่อเป็นหลักประกันอำนาจของทหารและชนชั้นนำในการคานกับการขยายตัวอำนาจของประชาชนในกระบวนการทางการเมือง

2)

แนวรบทางเศรษฐกิจ

เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ไม่ได้สดใสอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังไว้แต่อย่างใด

ใครที่เคยมีความคิดเชิงทฤษฎีว่า รัฐประหารจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นเช่นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการลงทุน อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์จริงดูจะเป็นไปในทางตรงข้าม

ดังจะเห็นได้จากรูปธรรมว่า หลังจากการรัฐประหารแล้ว เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ตกต่ำลง

แม้ในด้านหนึ่งผู้นำทหารอาจจะพอชี้นิ้วกล่าวโทษว่า เศรษฐกิจไทยตกเพราะเศรษฐกิจโลกก็ตามที

ในเบื้องต้น การกล่าวโทษกับเศรษฐกิจโลกอาจจะพอฟังขึ้นอยู่บ้าง แต่ยิ่งนานวัน เมื่ออำนาจอยู่ในมือของรัฐบาลทหารอย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้นนั้น การจะโทษแต่ปัจจัยภายนอกอาจจะไม่ช่วยมากเท่าใดนัก

ซึ่งว่าที่จริงแล้วดูเหมือนผู้นำรัฐบาลทหารเองก็ดูจะตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ผู้นำรัฐประหารหรือบรรดาผู้สนับสนุนจะออกมาโฆษณา

การปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลบ่งบอกถึงปัญหา “สงครามเศรษฐกิจ” ที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะมองจากภาคเกษตร ภาคส่งออก และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แม้จะมีตัวเลขของนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาปลอบใจกับปัญหาของภาคท่องเที่ยวได้บ้าง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากับสถานการณ์ของราคาสินค้าเกษตรคู่ขนานกับปัญหาภัยแล้ง ที่ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งบ่งบอกถึงความแห้งแล้งอย่างรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคชนบทของไทย จนบางทีปีนี้อาจจะเป็นปีแห่งความผันผวนของภาคเกษตรเป็นอย่างยิ่ง และเห็นได้ชัดว่า สภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบกับชีวิตของผู้คนในสังคมไทยเป็นวงกว้าง

จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า “แนวรบทางเศรษฐกิจ” ในปี 2559 จะเป็นสงครามที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของภัยแล้ง ก็จะยิ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่และสถานะของคนส่วนใหญ่ในสังคม จนน่ากังวลถึงการขยายตัวของความยากจนในชนบท

ถ้าเป็นเช่นนี้สงครามเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารจะต้องต่อสู้ในปี 2559 ด้วยนั้น อาจจะใหญ่และรุนแรงกว่าที่ผู้นำทหารคิด

3)

แนวรบต่างประเทศ

แนวรบในต่างประเทศดูจะเป็นการต่อสู้ที่รัฐบาลทหารเตรียมตัวไว้น้อยมาก อาจจะเพราะที่ผ่านๆ มานั้น รัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไม่เคยต้องถูกแทรกแซงอย่างจริงจัง กล่าวคือ รัฐบาลไทยไม่เคยต้องถูก “แซงก์ชั่น” ในแบบที่รัฐบาลทหารที่เมียนมาหรือรัฐบาลทหารที่บูกินาฟาร์โซเผชิญ

ดังนั้น รัฐบาลทหารไทยในสภาพเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องกังวลผลกระทบของปัจจัยระหว่างประเทศที่จะเป็นแรงกดดันต่อการยึดอำนาจเท่าใดนัก จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า รัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไม่เคยต้องเผชิญกับการต่อต้านและ/หรือแรงกดดันอย่างจริงจังจากตัวแสดงและปัจจัยระหว่างประเทศ

แม้เราจะกล่าวในทางทฤษฎีว่า ประชาคมระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์มีความคิดชัดเจนในการสนับสนุน “กระแสประชาธิปไตย”

แต่กระนั้นก็ไม่อาจคาดหวังได้โดยตรงว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐประหารจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การยึดอำนาจยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เสมอในสังคมไทย ผู้นำทหารและกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่สนับสนุนรัฐประหารไม่เคยรู้สึกต้อง “แคร์” กับปัจจัยภายนอก

นักรัฐประหารนิยมในทุกประเทศมีความเชื่อคล้ายๆ กันว่าปัจจัยภายนอกไม่มีนัยสำคัญ เพราะถ้าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง (Regime Change) ไม่กระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของรัฐมหาอำนาจแล้ว โอกาสของ “การแทรกแซงโดยตรง” เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง การแทรกแซงในลักษณะเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายโดยปราศจากเงื่อนไขสงคราม และสถานการณ์ของไทยก็ยังไม่ถึงระดับดังกล่าว

ในเงื่อนไขเช่นนี้ ระบอบการปกครองของทหารไทยดูจะพยายามเล่นกับ “เกมอำนาจ” ในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการพยายามเข้าไปหารัฐมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งที่พร้อมจะอยู่ข้างไทยโดยไม่วิจารณ์กับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น

แต่ในเกมนี้ก็มีความ “สุ่มเสี่ยง” อยู่ในตัวเอง เพราะอย่างไรเสีย ไม่ว่าจะมองในมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลไทยยังจะต้องอยู่กับประชาคมระหว่างประเทศที่ถือเอา “ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” เป็นดัชนีของ “ความน่าเชื่อถือ” เท่าๆ กับ “ความน่าคบ” ทางการเมือง

ดังนั้น ใน “แนวรบต่างประเทศ” แรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจจะยังมีอยู่ต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องประมงไทยที่ถูกสหภาพยุโรปขึ้นบัญชี หรือปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 ในบัญชีของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ซึ่งก็อาจคาดคะเนได้ว่า สงครามของรัฐบาลทหารในแนวรบด้านต่างประเทศจะยังคงหนักหน่วงต่อไปไม่แตกต่างจากเดิม หรืออาจจะหนักขึ้นเมื่อสถานการณ์การเลือกตั้งไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดเมื่อใด

4)

แนวรบในสื่อ

หนึ่งในสงครามที่รัฐบาลทหารต้องต่อสู้อย่างหนักหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารก็คือ การต่อสู้ใน “แนวรบในสื่อ” จนอาจกล่าวได้ว่า “สงครามข่าวสาร” หรือ “สงครามสื่อ” ระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจดำเนินไปอย่างเข้มข้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามรบที่เป็นโซเชียลมีเดียหรือสนามการต่อสู้ใน “สื่อใหม่” นั้น อาจจะต้องกล่าวว่าเป็นไปอย่างดุเดือด

ผู้นำทหารอาจจะพยายามใช้ความได้เปรียบในฐานะของความเป็นรัฐบาลที่เป็นผู้ควบคุมสื่อ และใช้วิธีที่ทหารถูกสอนในวิชา “สงครามจิตวิทยา” ในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นรายการต่างๆ ปรากฏผ่านโทรทัศน์ เพื่อโฆษณาถึงผลงานของรัฐบาลทหาร จนดูจะเป็น “รัฐบาลขี้โม้” ในสายตาของผู้ชมอยู่พอสมควร

เพราะปฏิบัติการจิตวิทยาเช่นนี้หากดำเนินการเกินความเหมาะสมแล้วก็อาจกลายเป็นผลลบได้ไม่ยากนัก

ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ความพยายามในการควบคุมสื่อ เช่น ข้อเสนอเรื่องซิงเกิลเกตเวย์เพื่อควบคุมระบบสื่อสารออนไลน์ หรือความพยายามในการเจรจากับตัวแทนบริษัทกูเกิลในการปิดเว็บที่รัฐบาลทหารไทยเห็นว่าไม่ถูกต้อง

แต่ในสนามรบของสื่อเช่นนี้ ก็มีหลายครั้งที่รัฐบาลทหารเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอแนวคิดแบบอนุรักษนิยมในการปิดช่องทางการสื่อสารของสื่อใหม่ ก็ยิ่งสะท้อนถึงการเป็นฝ่ายรับในสนามรบสื่อ และน่าจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 2559

5)

แนวรบด้านปัญญาชน

แม้ผู้นำทหารอาจจะสบายใจว่ามีปัญญาชน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนต่อการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงของการก่อกระแสเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนนั้น มีปัญญาชนเข้าร่วม “เป่านกหวีด” เป็นจำนวนมาก จนผู้นำทหารและนักรัฐประหารนิยมอาจจะเชื่ออย่างมั่นใจว่าปัญญาชนใน “กระแสหลัก” เป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร

ดังนั้น พวกเขาเชื่อในอีกด้านหนึ่งว่า กลุ่มปัญญาชนที่ไม่สนับสนุนการยึดอำนาจ (ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษาหรืออาจารย์) นั้นไม่มีพลัง

และกลุ่มเหล่านี้เป็นเพียงพวก “กระแสรอง” ที่แม้อาจจะเปิดการเคลื่อนไหวได้จริง แต่ก็ไม่มีแรงพอที่จะท้าทายต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารได้แต่อย่างใด

และถ้าเคลื่อนไหวก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการเพื่อ “ขู่” ให้กลัว และหวังว่าจะเป็นการปิดช่องทางการเคลื่อนไหวได้

แต่ดูเหมือนรัฐบาลทหารจะคาดผิด การเคลื่อนไหวของปัญญาชนกลุ่มต่างๆ ต้องยอมรับว่ามีพลัง และส่งผลสะเทือนต่อสถานะของรัฐบาลทหารอย่างมาก

และถ้ายิ่งใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการ ก็จะยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลในด้านสิทธิมนุษยชน ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารกับปัญญาชนที่เห็นต่าง เป็น “ความท้าทาย” อย่างยิ่ง

และยิ่งรัฐบาลตอบโต้ ก็ยิ่งบ่งบอกถึงการปิดกั้นเสรีภาพในทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ซึ่งผลที่ตามมาก็ยิ่งทำให้รัฐบาลทหารดู “คับแคบ” จนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งนานวัน “แนวรบกับปัญญาชน” ก็ยิ่งเข้มข้น จนถึงขนาดวันนี้รัฐบาลทหารต้องพยายามควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ให้ได้ ก็ยิ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่ไม่อาจควบคุมได้มากยิ่งขึ้น

จนต้องประมาณการว่าแนวรบนี้จะเป็นความท้าทายกับผู้นำทหารอย่างมากในปี 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image