ร.ร.ประชารัฐ-ร.ร.ไอซียู : สมหมาย ปาริจฉัตต์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกตัวรับตำแหน่งใหม่ มอบนโยบายให้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนไอซียู โดยสำรวจโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวน 3,000 โรงเรียนทั่วประเทศ สพฐ.ต้องวินิจฉัยว่าแต่ละแห่งต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด โรงเรียนไหนขาดอะไรก็ช่วยดูแลตามนั้น ทำให้เต็มที่ เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกต้องมีความยืดหยุ่นและไม่ใช้มาตรวัดอันเดียวกัน จะเริ่มดำเนินการทันที ปี 2560 ตั้งเป้าว่า ภายใน 1 ปีนี้ โรงเรียนไอซียูทั้ง 3,000 โรงเรียนจะต้องดีขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีก 3,000 โรงเรียนในปีถัดไป

“เป็นนโยบายที่ให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นในระดับโรงเรียน”

ครับ นโยบายใหม่ล่าสุด หลักการเพื่อแก้ปัญหาการขาดโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นที่โรงเรียนซึ่งขาดความพร้อม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีท่านเดิมที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป มอบมรดกไว้ให้สานต่อเรื่องใหญ่ๆ ไม่แพ้กัน คือ นโยบายโรงเรียนประชารัฐ หลักการเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ CONNEXT Ed (School Partner Leadership Program) สร้างผู้นำควบคู่กับการขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ

Advertisement

ภาคเอกชนขนาดใหญ่ 12 แห่งจะสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนปีละ 500,000-1,000,000 บาท ใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่งออกตัวไปได้ปีเดียว 2559 เป้าหมาย 3,342 โรง ถึงปี 2561 จะทำให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ 7,422 โรง เน้นโรงเรียนที่มีความพร้อม มีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา

กับอีกโครงการคือ แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก 15,577 โรงทั่วประเทศ โดยการยุบเลิกโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียน กับควบรวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนแม่เหล็กที่อยู่ใกล้กัน

ผมนับจำนวนโรงเรียนตามนโยบาย 3 ประการทั้งของเดิมและของใหม่ รวมกันแล้วเฉพาะปีแรกปีเดียว เกือบ 7,000 โรงเข้าไปแล้ว ทำให้เป็นกังวลเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายจากสิ่งที่ทำมาแล้ว พอคนเก่าไปของที่ทำไว้ก็ฝ่อไปตาม เช่นทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง

Advertisement

แต่ถ้าทำได้สำเร็จตามนั้นจริง ปัญหาการขาดแคลน ความเหลื่อมล้ำและโอกาส กับคุณภาพการศึกษา น่าจะลดความรุนแรงลง อีกเพียงไม่กี่ปีเห็นหน้าเห็นหลังเพราะเท่ากับแก้ปัญหาได้ถึง
ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว

แต่ประเด็นปัญหาทางการศึกษาไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเชิงปริมาณ แต่เป็นปัญหาเชิงคุณภาพ สิ่งที่ต้องพิจารณาจึงอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญควรแก้ปัญหาตรงจุดไหน ระหว่างคนกับของ อะไรควรเป็นหลัก เป็นรอง

เฉพาะโครงการโรงเรียนไอซียู ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาความขาดแคลนดูจากอะไร แนวทางการช่วยเหลือควรมุ่งเน้นไปที่จุดใดมากกว่ากัน

ในอดีตเมื่อสิบปีที่ผ่านมาราวปี 2550 สพฐ.เคยดำเนินโครงการโรงเรียนไอซียูมาแล้วครั้งหนึ่ง ทีแรกโรงเรียนไม่มีความมั่นใจที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการเพราะเท่ากับประจานความขาดแคลน ความไม่พร้อมของตนเองให้คนนอกรับรู้ ผลประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดย สมศ. คะแนนต่ำกว่า 2 จากคะแนนเต็ม 4 แทบทั้งสิ้น

แต่ต่อมากลายเป็นเรื่องดี ใครๆ ก็อยากเข้าร่วม เพราะทำให้ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือเข้าห้องสมุด เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียน และการจัดกิจกรรม สิ่งที่มีความจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่

มาเที่ยวนี้ นโยบายใหม่ นอกจากรับฟังข้อเสนอความต้องการของโรงเรียนเป็นหลักก็ตาม แต่สิ่งที่น่าพิจารณาร่วมกันเพื่อให้การพัฒนาคุณภาพเกิดผลจริงจัง เป็นชิ้นเป็นอัน เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ควรหันมามุ่งที่คนเป็นหลัก

คือ เน้นที่ปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรสนับสนุน โรงเรียนที่ขาดครู ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงตามวิชาที่ถนัด ครูอัตราจ้างทำให้เป็นครูประจำการ

แผนพัฒนาโรงเรียน แทนที่จะเน้นไปที่สิ่งก่อสร้าง มาเน้นการพัฒนาครูและบุคลากรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันดีกว่าหรือไม่ รวมถึงโรงเรียนในโครงการประชารัฐทั้งหลาย

ขณะเดียวกันลดน้ำหนักการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ พัฒนาไปได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว เพียงส่งเสริมให้มีความอิสระมากขึ้น

หันมาทุ่มเทไปที่โรงเรียนที่มีปัญหาคุณภาพและขาดโอกาส ไม่มีความพร้อม ไม่มีใครอยากเข้าเรียน ครู ผู้บริหารก็หลีกหนี เพื่อไม่ให้เป็นแค่ทางผ่านอีกต่อไป

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image