สนช.รื้อพ.ร.บ.สงฆ์ปมตั้งสังฆราชวันนี้ ดันถก 3 วาระรวด

48 องค์กรพุทธถวายฎีกาป้อง พ.ร.บ.สงฆ์ นักวิชาการชี้ก่อขัดแย้ง สนช.ยันลุยแก้ ดันถก 3 วาระรวด

‘ออมสิน’รอสนช.แก้พ.ร.บ.สงฆ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 81 คน ลงชื่อเสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ปลดล็อกการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่า ให้เป็นเรื่องของ สนช.ที่จะดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ต้องรอให้ สนช.พิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อน เท่าที่ทราบ สนช.จะพิจารณาในวันที่ 29 ธันวาคม ซึ่งตนจะเข้าไปร่วมฟังด้วย ส่วนกรณีที่พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ศพศ.) เตรียมปลุกม็อบพระเพื่อคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้น รัฐบาลไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย และไม่อยากให้ตีตนไปก่อนไข้ เพราะคงไม่มีอะไรมาก อย่าเพิ่งไปปลุกม็อบเลย คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ต้องทำให้เกิดความรักสามัคคีกัน ทุกคนรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปคุยกับมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ นายออมสินกล่าวว่า เท่าที่ติดตามจากสื่อไม่มีอะไรตื่นเต้น คงไม่ต้องพูดกัน เพราะอยู่ในขั้นตอนของ สนช. เมื่อถามว่า การเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่ มส.มีมติและเสนอผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนเก่า หากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ผ่านจะถือว่าชื่อตกไปเลยหรือไม่ นายออมสินกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องนี้มานาน

Advertisement

@ เปิดชื่อ81สนช.รุกแก้กม.สงฆ์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ จะมีระเบียบวาระเรื่องร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิก สนช. และคณะรวม 84 คน โดยการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการประชุมเพื่อแจ้งให้รัฐบาลรับทราบเพื่อให้รัฐบาลนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากเดิมที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 กำหนดให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

สำหรับรายชื่อสมาชิก สนช.ที่ร่วมกันลงชื่อประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.พิชิต 2.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ 3.นายประมุท สูตะบุตร 4.พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ 5.นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ 6.นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร 7.พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร 8.พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ 9.พล.อ.อ.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ 10.พล.อ.วินัย สร้างสุขดี 11.พล.อ.อ.ชนัท รัตนอุบล 12.พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ 13.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ 14.พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย 15.พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ 16.นายสีมา สีมานันท์ 17.นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ 18.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 19.นายกล้านรงค์ จันทิก 20.นายสมพร เทพสิทธา

21.พล.ร.อ.วีระพันธ์ สุขก้อน 22.นายสมชาย แสวงการ 23.นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด 24.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ 25.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 26.นายสมพล พันธุ์มณี 27.พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ 28.นายมณเฑียร บุญตัน 29.พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ 30.นายธานี อ่อนละเอียด 31.นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ 32.พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 33.พล.ท.อำพน ชูประทุม 34.พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขตร 35.คุณพรทิพย์ จาละ 36.พล.ต.พัลลภ เฟื่องฟู 37.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม 38.พล.ร.อ.นพดล โชคระดา 39.พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร 40.พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร

@ เผย’บิ๊กทหาร-ตร.’พรึ่บ

41.พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล 42.พล.อ.สุนทร ขำคมกุล 43.พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ 44.นางสุวิมล ภูมิสิงหราช 45.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน 46.พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง 47.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 48.นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร 49.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 50.พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข 51.พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ 52.พล.อ.ชยุติ สุวรรณมาศ 53.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 54.นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน 55.นายสนิท อักษรแก้ว 56.พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ 57.นายพรศักดิ์ เจียรณัย 58.พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์ 59.พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ 60.พล.อ.ดนัย มีชูเวท

61.พล.อ.อรุณ สมตน 62.พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 63.นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ 64.นายแถมสิน รัตนพันธุ์ 65.นายวันชัย ศารทูลทัต 66.พล.ท.สมโภชน์ วังแก้ว 67.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข 68.พล.ท. พิศณุ พุทธวงศ์ 69.นายชัชวาล อภิบาลศรี 70.นายยุทธนา ฟักผลงาม 71.พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต 72.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 73.นายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล 74.พล.อ.สุชาติ หนองบัว 75.นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ 76.นายเจน นำชัยศิริ 77.นายวรพล โสคติยานุรักษ์ 78.พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง 79.นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช 80.นางเสาวณี สุวรรณชีพ 81.พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้มีการแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ว่ามีสมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อทั้งหมด 84 คน แต่จากการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่พบว่ามีสมาชิก สนช.ลงชื่อซ้ำ และมีสมาชิกหลายคนลงชื่อไม่ทันเนื่องจากเร่งรีบในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว โดยสมาชิกที่ลงชื่อซ้ำกัน จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นาย

ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ 2.พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และ 3.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อเพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ปรากฏว่า พล.ต.อ.พิชิต ผู้เสนอแก้ไขกฎหมายไม่รับโทรศัพท์และติดต่อไม่ได้ตลอดทั้งวัน

@ ดันถกวันเดียว3วาระรวด

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ จะมีสมาชิก สนช.เตรียมเสนอให้ สนช.ดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการโดยทันที จากเดิมที่วิป สนช.มีมติว่าจะเป็นเพียงการเสนอให้รัฐบาลรับทราบและดำเนินการส่งร่าง พ.ร.บ.กลับมายัง สนช.ในนามคณะรัฐมนตรีภายหลังเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มสมาชิก สนช.ที่ร่วมกันเสนอกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และข้อบังคับการประชุม สนช.เปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.เสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ตั้งแต่ขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ได้ทันที โดยมาตรา 14 ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยสมาชิก สนช.นั้นคณะรัฐมนตรีอาจขอไปรับพิจารณาก่อน สนช.จะรับหลักการก็ได้”

แหล่งข่าวจาก สนช.กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจะมีสมาชิก สนช.เตรียมเสนอให้ สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จทั้ง 3 วาระภายในวันเดียวโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียดเพื่อเสนอกลับมายังที่ประชุม สนช.ตามขั้นตอนตามปกติ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ที่มีการเสนอนั้นมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 เพียงหนึ่งมาตราเท่านั้น

@ 48องค์กรพุทธถวายฎีกา

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล น.อ. (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ เลขาธิการพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย ในนามผู้แทนองค์กรพุทธ 48 องค์กร แถลงข่าวปกป้องพระพุทธศาสนา เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดกระบวนการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 โดยระบุว่า ตนเองและคณะ ได้ยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาผ่านราชเลขานุการในพระองค์ฯ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอพระบารมีปกเกล้าฯ แก้ไขวิกฤตพระพุทธศาสนาแล้ว พร้อมวิงวอนขอให้รัฐบาล, สนช. และหน่วยราชการทุกภาคส่วน ได้กรุณาหยุดการดำเนินการทุกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว พร้อมอาสาเป็นตัวกลางเข้าประสานผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขวิกฤตพระพุทธศาสนาของชาติ

น.อ. (พิเศษ) คัมภีร์กล่าวว่า ได้กราบบังคมทูลขอพระบารมีปกเกล้าฯ ดังนี้ 1.โปรดให้รัฐบาลหยุดใช้กฎหมายและการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 2.โปรดให้ สนช.ระงับการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 3.โปรดให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 4.โปรดให้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

น.อ. (พิเศษ) คัมภีร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเสนอรัฐบาลให้จัดสังคายนาพระพุทธศาสนา โดยกราบอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ ผู้นำพุทธบริษัทสี่ ทุกนิกายทุกความเชื่อ สร้างเอกภาพบนความแตกต่างของการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทบทวนและร่างกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และออกมาตรการป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา รวมทั้งกำหนดแนวทาง การปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์ และพระพุทธศาสนาอย่างเหมาะสม จัดตั้งศาลสงฆ์เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ ตุลาการ พุทธศาสนิกชนผู้มีความรู้และความยุติธรรมเข้าร่วมพิจารณาคดี ดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านั้น น.อ. (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ เลขาธิการพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย ในฐานะผู้เเทนกลุ่ม/สมาพันธ์/เครือข่าย/ภาคี พุทธศาสนา 48 องค์กร พร้อมผู้ติดตามเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้

@ นักวิชาการแนะใช้กม.สงฆ์ปี2484

นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม กล่าวถึงการผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 มาตารา 7 การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชว่า ตามฉบับ 2535 เป็นการใช้ระบบคิดแบบข้าราชการคือ สถาปนาพระสังฆราชตามสมณศักดิ์สูง ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชตามฉบับนี้ การเสนอแก้ไขของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับ สนองฯ จึงกลับไปเหมือน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ 2505 ในแง่ดีจะทำให้รัฐ โดยอำนาจของพระมหากษัตริย์ เข้ามาถ่วงดุลอำนาจของคณะสงฆ์ อันเป็นเคล็ดลับที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากว่า 2,000 ปี ที่อำนาจรัฐภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ในช่วงนั้นคือผู้ทำนุบำรุงพุทธศาสนามาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากพระที่สนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่จะมองว่า การแก้ไขลักษณะนี้คือการกลั่นแกล้งตัวบุคคล

“แนวทางของ สนช.จะช่วยแก้วิกฤตการตั้งสมเด็จพระสังฆราชในระยะสั้น แต่ระยะยาวปัญหาเดิมจะยังไม่จบ ถ้าจะให้ดีควรกลับไปใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2484 ที่มีการวางหลักการประชาธิปไตยเอาไว้ แบ่งโครงสร้างสงฆ์ วางหลักถ่วงดุลอำนาจไว้ชัดเจน และหากเราสังเกตจะพบว่า การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสงฆ์จะเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมักอาศัยอำนาจช่วงนี้ ใช้สภาที่มาจากการแต่งตั้งแก้กฎหมายแบบสายฟ้าแลบ ไม่ว่าจะเป็นปี 2505 หรือ 2535 ต่างจากฉบับ 2484 ที่ผลักดันโดยแนวคิดของคณะราษฎร แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯในขณะนั้นจะเป็นทหาร แต่ก็ยังมาจากการเลือกตั้งตามกติกา” นักวิชาการศาสนากล่าว

@ ชี้สะท้อนขัดแย้งธรรมยุต-มหานิกาย

ด้านนายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์ด้านศาสนา กล่าวว่า ตามที่มหาเถรสมาคม (มส.) เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 แต่ติดขัดเรื่องคดีความ จึงมองว่า สนช.เสนอแก้กฎหมายนี้ เพื่อต้องการแก้ปัญหาการตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ให้ได้ กรณีนี้ทำให้พระต้องเริ่มทบทวนตัวเองว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ทำให้มีอิสระในตัวเอง เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ตั้งแต่มีกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรก ส่งผลให้ความขัดแย้งภายใต้องค์กรสงฆ์ที่ผ่านมา ต้องไปตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยม หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือแยกศาสนาออกจากรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องสถาปนาศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ มีตัวอย่างคือประเทศอินเดีย

“ผลกระทบที่จะตามมาคือ พระส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกไม่พอใจ แต่คงจะเรียกร้องอะไรตอนนี้ไม่ได้มาก เพราะวัดพระธรรมกายและศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยก็ติดอยู่หลายคดี คงไม่มีพลังต่อรอง และด้วยลักษณะของรัฐบาล คสช.ก็มักดำเนินการโดยไม่สนใจอะไร คิดว่าคุมได้ ก็จะใช้อำนาจมากขึ้น สำหรับกรณีนี้คงมีการประเมินแล้วว่าเอาอยู่ แต่เมื่อประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่จะปรากฏขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างสายธรรมยุตกับ มหานิกายอีกครั้ง เมื่อสายมหานิกายซึ่งมีจำนวนมาก แล้วที่ผ่านมาก็มีสมเด็จพระสังฆราชน้อยกว่าธรรมยุตที่มีน้อยกว่า พอกำลังจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ต้องเจอกับการแก้กฎหมาย” นายสุรพศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image